น่านเจอสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน
น่าน-น่านเจอสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน ผู้ว่าฯเตรียมประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางสารเคมี ชงใช้มาตรา44ห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่ต้นน้ำ
น่าน-น่านเจอสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน ผู้ว่าฯเตรียมประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางสารเคมี ชงใช้มาตรา44ห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่ต้นน้ำ
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 59 นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วย พลตรีชัยณรงค์ แกล้วกล้า ผู้บัญชาการมณฑลทหารที่ 38 เรียกประชุมด่วนเพื่อจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อแก้ปัญหาการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรในพื้นที่จังหวัดน่าน หลังรศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์คณะวิศวรรกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยถึงผลวิจัยออกสู่สาธารณะว่าจังหวัดน่านมีการใช้สารเคมีด้านการเกษตรมีปริมาณสูงถึงปีละ 2,400,000 กิโลกรัมต่อปี และจากสุ่มตรวจปลาในแม่น้ำ ซึ่งพบสารเคมี ไกรโฟเซต ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าชนิดดูดซึม พบมีปริมาณสูงกว่า 10,000 ไมโครกรับต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณความเข้มข้นที่เกินค่ามาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และมาตรฐานสากล ของ Codex ที่ต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัม ต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ ไกรโฟเซต,อาทราซีน,พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ปนเปื้อนในน้ำประปาหมู่บ้าน และโรงผลิตน้ำดื่มทั่วทั้งจังหวัดน่าน ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อ.คณะวิศวรรกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า จากผลวิจัยพบว่า ปัญหาสารเคมีที่ใช้ปลูกข้าวโพด กระจายเกือบทั่วทั้งจังหวัดน่าน ไม่ใช่แค่เพียงดินเท่านั้น ยังกระจายไปถึงแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนน่านและคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผลสำรวจพบว่าเกษตรกรใช้สารเคมี 2,400,000 กิโลกรัมต่อปีและพบว่า มีสารเคมีทางการเกษตร หรือ ยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆ ปนเปื้อนในเนื้อปลา และน้ำประปา น้ำดื่ม ซึ่งจากการสุ่มตรวจน้ำ 9 ตัวอย่างจาก 8 อำเภอในจังหวัดน่าน พบมีสารอาทราซีน หรือยากำจัดวัชพืช ปนเปื้อนในน้ำประปาเข้มข้น ค่าเฉลี่ย 18.78 ไมโครกรัมต่อลิตร ขณะที่ค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ในประเทศออสเตเรียคือ 0.5 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานสารเคมีชนิดนี้ในน้ำดื่ม
ด้าน นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า ได้สั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดน่าน เร่งตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาในพื้นที่จังหวัดน่าน หลังมีข้อมูลงานวิจัย จากมหาวิทยาลัยนเรศวรว่า พบสารเคมีปนเปื้อนในระบบน้ำประปาของหมู่บ้าน โดยจะขอเปรียบเทียบผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งเคยทำงานวิจัยไว้ก่อนหน้านี้อีก 4 ฉบับ และทำการทดสอบผลการตรวจคุณภาพน้ำอย่างละเอียดซ้ำอีกครั้ง ซึ่งหากพบว่ามีการปนเปื้อนจนถึงขั้นวิกฤต จะให้ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติสารเคมีตามระเบียบราชการ และจะประสานไปยังผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา
ที่ผ่านมามีการตั้งคณะทำงานบริหารจัดการปัญหาการใช้เคมีในภาคการเกษตรและเคยเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใช้มาตรา 44 ประกาศห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่ป่าต้นน้ำ แต่มีข้อจำกัดเพราะนโยบายรัฐยังเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศ จึงยังมีการนำเข้ายาฆ่าหญ้าต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้ขอความร่วมมือให้ทางคณะวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร และอีก 8 มหาวิทยาลัย ที่พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจค่าระดับความรุนแรงของสารเคมีที่พบในปลา เนื้อสัตว์ น้ำประปา และน้ำดื่ม อย่างเร่งด่วน เพื่อนำมาสู่ความร่วมมือในการแก้ปัญหา พร้อมกับขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก และรอฟังผลการวิจัยอย่างชัดเจนก่อน.