posttoday

"ไทยแลนด์4.0" ปั๊มเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม-เทคโนโลยี

17 กรกฎาคม 2559

หัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0 คือการทำให้ไทย กลายเป็นประเทศที่สร้างนวัตกรรมได้ และสร้างสินค้าที่เป็นแบรนดิ้งของคนไทย

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจโพสต์ทูเดย์

การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากเวอร์ชั่น 3.0 เป็นเวอร์ชั่น 4.0 หรือจากประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยการผลิตเชิงอุตสาหกรรมหนักไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อหนีกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ที่ไทยติดอยู่เป็นเวลานานแล้ว คือพิมพ์เขียวที่รัฐบาลกางขึ้นบนโต๊ะและวางเป้าหมายที่จะปรับโครงสร้างประเทศให้ก้าวสู่ยุค 4.0 ภายใน 3-5 ปีนับจากนี้

หัวใจสำคัญของประเทศไทยในยุค 4.0 คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เปลี่ยนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าภาคบริการมากขึ้น

ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรขนาดใหญ่ได้จับเทรนด์ 4.0 มาแล้วก่อนหน้า หลายองค์กรอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม ที่ชัดเจนที่สุดคือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ซึ่งถือเป็นหัวขบวนของการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 โดยการให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนา ด้วยการทุ่มงบประมาณ 1% จากรายได้ 4 แสนล้านบาท หรือ 4,000 ล้านบาท เพื่องานวิจัยและพัฒนา เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรมที่เป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม (High Value Product and Service) หรือที่เรียกว่า HVA เข้ามาแทนที่การผลิตสินค้าในเชิงอุตสาหกรรม โดยสินค้าจากกลุ่มสินค้า HVA ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีสัดส่วนรายได้ในไตรมาสแรกของปี 2559 ถึง 39% ด้วยยอดขายกว่า 4 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ ก็ได้ขยายการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ของรัฐบาล ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า ในปีนี้จะใช้งบลงทุน 4,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ได้แก่ ปิโตรเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการลงทุนใหม่ทั้งหมด อาทิ โครงการลงทุนเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง ในโครงการโรงงานสาธิต Process IP ใหม่ มูลค่าการลงทุน 600-700 ล้านบาท โครงการพลังงานจากกากอุตสาหกรรม มูลค่าลงทุน 2,300 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ได้แก่ โครงการระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการคลังสินค้า รวมทั้งมีแผนจัดตั้งธุรกิจเพื่อให้บริการอัตโนมัติ เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การนำหุ่นยนต์มาช่วยตรวจสอบ และซ่อมบำรุงในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก สำหรับในอุตสาหกรรมการแพทย์ ได้แก่ โครงการผลิตยาชีววัตถุ วัคซีนชั้นสูง ในบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อผลิตยาตั้งแต่ระดับตัวยาสำคัญ อาทิ ใช้รักษาในโรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคสะเก็ดเงิน และโรคภูมิแพ้ตัวเอง เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการยกระดับจากการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมหนักไปสู่การเป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมทั้งการต่อยอดไปสู่การผลิตชั้นสูงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อคิดค้นพัฒนารถยนต์เพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาค

ที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้เข้ามาลงทุนเพื่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทย รวมทั้งความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกันรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณการลงทุน 4,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ บนพื้นที่ 1,200 ไร่ ของกรมป่าไม้ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2561

ขณะที่ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ได้ลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาไปแล้วหลากหลาย อาทิ บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค (HRAP) ได้ใช้งบประมาณมูลค่า 1,700 ล้านบาท เพื่อสร้างสนามทดสอบรถยนต์ และเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในโซนเอเชียและโอเชียเนียได้ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ใช้เงินลงทุนมูลค่า 500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสนามทดสอบรถยนต์มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในประเทศไทย บนพื้นที่ 95 ไร่ ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งนับเป็นสนามทดสอบรถยนต์แห่งแรกที่ตั้งอยู่นอกประเทศญี่ปุ่น ตามแผนงานเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย พร้อมเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของผลิตภัณฑ์มิตซูบิชิ

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ตั้งบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง ในปี 2550 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,300 ล้านบาท เพื่อให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศไทยและการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมการผลิต และการบริหารจัดการชิ้นส่วน รวมถึงการสร้างบุคลากรคนไทยที่มีคุณภาพ

บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ตั้งบริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค ศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์แห่งใหม่ในประเทศไทย บนถนนบางนา-ตราด กม.22 ใช้เงินลงทุนกว่า 1,087 ล้านบาท จะทำหน้าที่สนับสนุนฐานการผลิตของนิสสัน 7 แห่ง ใน 5 ประเทศภูมิภาคอาเซียน คือ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม รองรับการพัฒนารถยนต์ เพื่อตอบสนองตลาดในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนภาคเอกชนก็ยังมีข้อคิดเห็นในหลายๆ เรื่องต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศครั้งนี้ ซึ่ง เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานบริหารผู้ก่อตั้งซีที เอเชีย โรบอติกส์ ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ ดินสอ ออกสู่ตลาดโลก ให้ความเห็นว่า หัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0 คือการทำให้ประเทศไทย กลายเป็นประเทศที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ และสร้างสินค้าที่เป็นแบรนดิ้งของคนไทย เพื่อส่งไปขายทั่วโลก ส่วนอุตสาหกรรม 3.0 คือการดึงนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย ทำให้ที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ภาครัฐกำลังวางนโยบายสร้างคลัสเตอร์หุ่นยนต์เป็นอุตสาหกรรมใหม่และอยู่ใน 10 S-Curve ซึ่งจะต้องแตกต่างจากอุตสาหกรรม 3.0 คือไม่ได้มุ่งเน้นดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในไทย แต่รัฐควรส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและวิจัยพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) มากที่สุด เพื่อสร้างสินค้านวัตกรรม และหุ่นยนต์ใหม่ในตลาด ที่กำลังเติบโตอย่างดีและมีคู่แข่งในตลาดโลกน้อย จะเป็นหุ่นยนต์เพื่อการบริการต่างๆ

ภาครัฐควรหันมาส่งเสริมการสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการบริการ และกระตุ้นให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ออกมาสู่ประเทศ ผ่านการส่งเสริมงบลงทุนและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) การให้ทุนด้านวิจัย พร้อมกับให้สิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่าสำหรับภาคธุรกิจที่สนใจซื้อหุ่นยนต์ภาคบริการของไทย เชื่อมั่นว่า หากรัฐส่งเสริมอย่างเต็มที่ ภายใน 3 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์ภาคบริการของไทยจะเติบโตสูงมาก

สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท ดู เดย์ ดรีม ผู้ผลิตสินค้าดูแลบำรุงผิวภายใต้แบรนด์ “สเนลไวท์” กล่าวว่า บริษัทได้ปรับนโยบายเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งการมุ่งสร้างสินค้าที่มีนวัตกรรม ผ่านการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศและการร่วมมือกับเครือข่ายงานวิจัยในต่างประเทศ เพื่อสร้างสินค้าที่มีความแตกต่าง มีเทคโนโลยี และความแปลกใหม่ออกสู่ตลาด และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างยอดขายถึง 1,000 ล้านบาท ได้ภายใน 3 ปี

นอกเหนือจากการใช้งานวิจัยเพื่อสร้างสินค้านวัตกรรมใหม่แล้ว ยังได้สร้างโรงงานใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ปรับระบบการผลิตในโรงงานที่ใช้เครื่องจักรเป็นอัตโนมัติมากขึ้น คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ระบบการผลิตจะเป็นหุ่นยนต์ทั้งหมด ส่วนแรงงานที่มีอยู่ 100 คน จะทำหน้าที่ดูแลหุ่นยนต์ พร้อมกับจะเพิ่มทักษะของแรงงานให้สูงขึ้น เพื่อรองรับการปรับระบบใหม่ในครั้งนี้

นับจากนี้ภาคเอกชนจะต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ เพื่อไม่ให้ตกขบวนไทยแลนด์ 4.0