'โปเกมอนโก' พลิกโฉม ศก. ปลุกวงการเกม-เทคโนโลยีเออาร์
โปเกมอนกลับมาเป็นกระแสในวงกว้างอีกครั้ง ภายหลังบริษัท นีแอนติก สตาร์ทอัพด้านเกมจากซานฟรานซิสโก
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์
โปเกมอนกลับมาเป็นกระแสในวงกว้างอีกครั้ง ภายหลังบริษัท นีแอนติก สตาร์ทอัพด้านเกมจากซานฟรานซิสโก เปิดตัวโปเกมอนโก เกมที่ผนวกเกมฮิตของคนยุคเจนวายเข้ากับเทคโนโลยี
เออาร์ (Augmented Reality) ที่ผสานโลกความจริงเข้ากับโลกเสมือน จนกลายเป็นเกมฮิตเพียงข้ามคืน และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเกมโทรศัพท์มือถืออีกครั้งนับตั้งแต่แคนดี้ครัชที่สร้างปรากฏการณ์ความนิยมเกมมือถือในปี 2013
จอห์น ฮานเก นักเล่นเกมตัวยงและผู้ก่อตั้งนีแอนติก เป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานพัฒนากูเกิลเอิร์ธ แอพพลิเคชั่นเพื่อใช้ส่องโลกเสมือนของกูเกิล ก่อนจะตั้งบริษัทสตาร์ทอัพนีแอนติกขึ้นภายใต้กูเกิลเมื่อ 6 ปีก่อน และแยกออกมาบริหารเดี่ยวเมื่อปี 2015 โดยกูเกิลยังคงเป็นผู้ลงทุนหลัก เช่นเดียวกับ นินเทนโด บริษัทเกมยักษ์ใหญ่จากแดนปลาดิบ และโปเกมอน โค บริษัทที่นินเทนโดเปิดขึ้นเพื่อสำหรับบริหารแบรนด์โปเกมอนโดยเฉพาะ
แม้นีแอนติกจะเคยเปิดตัว อินเกรส เกมที่มีระบบการเล่นเดียวกับโปเกมอนโก เมื่อปี 2012 และมีผู้ใช้งานจริง 1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม โปเกมอนโกกลับไปได้ไกลกว่ามาก เพราะเพียงแค่เปิดตัวได้ราว 2 สัปดาห์ เซ็นเซอร์ ทาวเวอร์ บริษัทข้อมูลแอพพลิเคชั่น เปิดเผยว่า จำนวนดาวน์โหลดโปเกมอนโกมีมากกว่า 30 ล้านครั้งทั่วโลก ทั้งในระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์ และยังทำสถิติใหม่ด้วยการเป็นเกมโทรศัพท์มือถือที่มียอดดาวน์โหลดทะลุ 10 ล้านดาวน์โหลดภายในเวลาเพียง 7 วัน
นอกจากนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ความสำเร็จของโปเกมอนโกยังทำให้นักพัฒนาเกมเจ้าอื่นๆ พยายามที่จะเลียนแบบความสำเร็จ โดย ไมค์ โอลซัน นักวิเคราะห์จากไปเปอร์ เจฟเฟรย์ ธนาคารเพื่อการลงทุนสัญชาติอเมริกัน เปิดเผยว่า หลังจากโปเกมอนโกกลายเป็นเกมฮิต นักพัฒนาต่างพยายามที่จะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หลักให้เข้าเทคโนโลยีเออาร์ หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่ตั้งของผู้ใช้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม โปเกมอนโกจะสามารถคงอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมเกมไปได้มากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความพยายามคงกระแสความคลั่งไคล้และคู่แข่งจะสามารถพัฒนาเกมให้เข้าสู่เออาร์ได้หรือไม่
โปเกมอนโกผนวกปัจจัยหลัก 2 อย่างเข้าด้วยกัน คือ หนึ่ง การเป็นเกมที่ขึ้นอยู่กับแผนที่และตำแหน่งที่ตั้ง (โลเกชั่น) ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นบริการที่มีอยู่ในหลากหลายแอพพลิเคชั่นในปัจจุบัน และสอง คือ เทคโนโลยีเออาร์ ซึ่งแม้จะมีการพัฒนามาอย่างยาวนาน แต่ยังไม่ได้กระแสเทียบเท่ากับหลังโปเกมอนโกออกสู่สายตาชาวโลก
“มีคนพูดว่า เออาร์ต้องใช้เวลา 5-10 ปี ถึงจะมีการใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่โปเกมอนโกก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นความคิดที่ผิด” อัมบาริช มิทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบลิปปาร์ แอพพลิเคชั่นเออาร์ กล่าว
ซีอีโอจากบลิปปาร์ เปิดเผยว่า ยอดขายแอพพลิเคชั่นเพื่อเชื่อมต่อเทคโนโลยีเออาร์กับแอพพลิเคชั่นธรรมดาปรับตัวขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อโปเกมอนโกกลายเป็นกระแสขึ้นมา และคาดว่าโปเกมอนโกจะทำรายได้มากกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,750 ล้านบาท) ในสัปดาห์แรกที่เปิดตัวในสหรัฐ
มิทรา ระบุว่า โปเกมอนโกมีรายได้จากการให้ภาคธุรกิจจัดตั้งโปเกสต็อป ที่ให้โปเกมอนเทรนเนอร์หรือผู้เล่นสามารถเข้าไปเก็บโปเกบอล อุปกรณ์ที่เอาไว้ใช้สำหรับจับโปเกมอนได้ โดยรายได้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากนีแอนติกสามารถหาวิธีการตลาดที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น
โอกาสภาคธุรกิจส่งเสริมการตลาด
เจนส์ นีลเซน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการในสหราชอาณาจักรของเน็ตบูสเตอร์ บริษัทด้านมาร์เก็ตติ้งทางออนไลน์ เปิดเผยว่า โปเกมอนโกจะกลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับการทำการตลาด โดย 2 ใน 3 ของผู้เล่นโปเกมอนโกมีอายุอยู่ในช่วง 18-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นปัญหาของนักการตลาดในปัจจุบัน เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่มักจะไม่สนใจการโฆษณาทางตรง
ธุรกิจร้านค้าเริ่มใช้อุปกรณ์สำหรับล่อโปเกมอนเพื่อเรียกให้ลูกค้าเข้าร้าน เช่น ร้านลีนิซิโอ พิซซ่า บาร์ ในย่านควีนของนิวยอร์ก ที่ใช้เงินไปทั้งหมด 10 เหรียญสหรัฐ (ราว 350 บาท) ในการล่อโปเกมอนให้เข้ามาที่ร้านเพื่อเรียกลูกค้าเหล่าโปเกมอนเทรนเนอร์ และเห็นผลเมื่อยอดขายของร้านพุ่งขึ้นไปถึง 75% สำหรับช่วงสุดสัปดาห์ โดยอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นไอเท็มในเกมที่ต้องใช้เงินจริงในการซื้อ ตกอันละประมาณ 1 เหรียญสหรัฐ (ราว 35 บาท)
นอกจากนี้ การที่โปเกมอนโกจะให้ธุรกิจสามารถจัดตั้งเป็นสปอนเซอร์โลเกชั่น หรือจัดเป็นโปเก สต็อป หรือแม้กระทั่งโปเกมอน ยิม หรือเป็นพื้นที่สำหรับให้ผู้เล่นมาแย่งชิงพื้นที่ด้วยการเอาโปเกมอนที่จับได้มาสู้กัน ยังเป็นการเปิดทางให้ร้านค้าทำการตลาดอีกด้วย
เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา แมคโดนัลด์ ร้านฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่ จับมือกับนีแอนติก เพื่อเปิดให้สาขาแมคโดนัลด์ 3,000 แห่งในญี่ปุ่นกลายเป็นโปเกมอน ยิม ส่งผลให้แมคโดนัลด์กลายเป็นสปอนเซอร์โลเกชั่นแห่งแรกของโปเกมอนโก และทำให้หุ้นของแมคโดนัลด์พุ่งขึ้นไปถึงเกือบ 8% หลังการประกาศ ก่อนปิดตลาดที่แดนบวก 4.17%
หวั่นเล่นไร้ลิมิตกลายเป็นภัยคุกคาม
นับตั้งแต่โปเกมอนโกเริ่มเปิดให้เล่นในสหรัฐ สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ผู้เล่นเกมโปเกมอนโกจำนวนมากจดจ่อกับเกมมากเกินไปจนเกิดอุบัติเหตุ โดยบางรายขับรถระหว่างเล่นเกม หรือบุกรุกพื้นที่ส่วนบุคคลระหว่างตามหาโปเกมอน
เกมโปเกมอนโกยังกลายเป็นเครื่องมือก่ออาชญากรรมจากการที่มิจฉาชีพใช้เครื่องดูดโปเกมอน ซึ่งเป็นไอเท็มหนึ่งในเกมหลอกล่อให้ผู้เล่นเข้ามาใกล้เพื่อดักปล้น ซึ่งทำให้ตำรวจรัฐมิสซูรีประกาศเตือนภัยหลังมีผู้เสียหายหลายสิบรายมาแจ้งความ
ด้านหน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติทางไซเบอร์ของญี่ปุ่น ได้ออกคำแนะนำ 9 ข้อในการเล่นเกมอย่างปลอดภัย เช่น ไม่ให้เล่นเกมกลางแดดนานเกินไป พกแบตเตอรี่สำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน และเตือนไม่ให้ผู้เล่นใช้ชื่อนามสกุลจริงในเกม
ขณะที่สมาคมทนายความญี่ปุ่นประจำจังหวัดนิอิงะตะ ได้ยื่นเอกสารต่อคณะกรรมการการศึกษาประจำจังหวัดเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ให้จัดทำแนวทางการเล่นเกมสำหรับนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้น รวมถึงให้เด็กเล่นเกมภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง และป้องกันไม่ให้เข้าไปในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม
ทั้งนี้ ความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นอีกประเด็นที่หลายประเทศใส่ใจ โดยในช่วงต้นเดือน ก.ค.อัล ฟรานเกน วุฒิสภาสหรัฐจากรัฐมินนิโซตา สอบถามไปยังบริษัท ไนแอนติก ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เกมโปเกมอนโก ของบริษัท นินเทนโด เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัย เนื่องจากตัวเกมอาจเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวบนสมาร์ทโฟนของผู้เล่นมากเกินไป
ขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เตือนผู้เล่นไม่ให้โหลดแอพพลิเคชั่นอันตรายที่ทำเลียนแบบตัวเกม ซึ่งจะขโมยข้อมูลผู้ใช้และทำลายระบบปฏิบัติการภายในสมาร์ทโฟน
ด้านอินโดนีเซียประกาศห้ามข้าราชการราว 4.5 ล้านคนเล่นโปเกมอนโกระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเกรงว่าความลับราชการอาจรั่วไหล