posttoday

หนุนภาคประชาชนเข้าถึงข้อมูล แก้ปัญหา "ใช้ยาพร่ำเพรื่อ"

01 สิงหาคม 2559

ปัญหาเรื่องการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลอีกส่วนหนึ่ง ยังเกิดจากทั้งโรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

คิกออฟไปแล้ว สำหรับนโยบายการจัดระบบการ “ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล” มากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เน้นให้เป็นนโยบายหลักผ่านการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลขึ้น และกำหนดเป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) สาขาที่ 15 เน้นการพัฒนาระบบและการตระหนักรู้แก่ทุกคนที่อยู่ในวงจรการใช้ยา แสดงให้เห็นว่าการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นอย่างไร

ปัญหาเหล่านี้มาจากรายงานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งระบุชัดว่า ทั่วโลกมีการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลมากกว่า 50% ของการใช้ยา ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงและอันตรายจากยา รวมถึงความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ โดยข้อมูลในปี 2555 ของประเทศไทย พบว่า มูลค่าการบริโภคยาของคนไทยสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการที่ผู้ป่วยมีเกินความจำเป็นถึง 2,370 ล้านบาท และเป็นการใช้ยายังมีข้อสงสัยต่อประสิทธิภาพอีก 4,000 ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ นโยบายใช้ยาสมเหตุสมผลจึงถูกเริ่มรณรงค์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2557 จนเริ่มผลักดันเป็นนโยบาย และตั้งเป้าให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ทุกแห่งทำตาม ซึ่งเชื่อว่าแต่ละปีจะสามารถประหยัดค่ายาได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การใช้ยาไม่สมเหตุสมผลเป็นปัญหามานานพอสมควร โดยสาเหตุสำคัญมาจากระบบการรักษาอิงตามตะวันตก และใช้ไกด์ไลน์จากประเทศตะวันตกเป็นเวลานาน นอกจากนี้เมื่อ “ทุนนิยม” ครอบงำระบบสุขภาพจนโรงพยาบาลเอกชนขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละปี รวมถึงเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และการแข่งขันกันเองที่สูง ทำให้มีการใช้เวชภัณฑ์ เทคโนโลยีและยามากเกินความจำเป็น

“เช่น ปวดหัวเฉยๆ โรงพยาบาลบางแห่งอาจจับคนไข้เข้าเครื่องซีทีสแกนทันที ทั้งที่ตามขั้นตอนแล้ว ควรเริ่มจากการซักประวัติ วินิจฉัยโรคเบื้องต้นไปตามขั้นตอน เราจึงเห็นว่าก่อนหน้านี้ มีเรื่องเล่ากัน เช่น นายทุนอาจอยากให้ ‘หมอลูกจ้าง’ ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้มากๆ เพื่อที่จะได้ค่าตอบแทนคุ้มทุนกลับมา”

ปัญหาเรื่องการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลอีกส่วนหนึ่ง ยังเกิดจากทั้งโรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา เช่น การให้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น เป็นต้นว่า ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาไข้หวัด จนสุดท้าย คนไข้เกิดภาระดื้อยาตามมา และเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ แนวทางสำคัญในการแก้ปัญหา คือ 1.ต้องกระตุ้นให้ทั้งฝั่งโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน ธุรกิจร้านขายยา บุคลากรทางการแพทย์ ตื่นตัวมากขึ้น 2.ต้องสร้างกลไกให้ประชาชนตระหนักรู้เช่นเดียวกันว่าการรับยา-สารเคมี เกินความจำเป็น อาจเกิดผลประทบกับตัวเอง 3.ในมุมผู้ประกอบการ จะต้องปรับระบบตัวเองใหม่ เพื่อให้รักษาและใช้เทคโนโลยี เวชภัณฑ์ ยา ตามความจำเป็นเท่านั้น โดยผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น

“การรับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่แค่เอาเงินเหลือจากกำไรไปปลูกป่า สร้างโรงเรียน แต่หมายถึงการจัดระบบของตัวเองใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การให้บริการผู้ป่วย รวมถึงการจัดบริการภายในของตัวเองภาพรวม ถ้ารัฐควบคุมให้ผู้ประกอบการจัดบริการ ยา เวชภัณฑ์ ให้อยู่ในขอบเขตความจำเป็นไม่ได้ รวมถึงประเมินผลไม่ได้ ก็ต้องปรับกฎหมาย-ปรับบทบาท ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้การรณรงค์ได้ผล ครอบคลุมทุกคนต่อไป” นพ.ธีระ ระบุ

ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) บอกว่า หลังจากรณรงค์เรื่องใช้ยาให้ตรงตามความจำเป็นมาต่อเนื่อง ก็พบว่าสถานการณ์ที่โรงพยาบาลรัฐดีขึ้นพอสมควร เนื่องจากบุคลากรจำนวนมากมีความตระหนัก และมีการใช้ยาต้านแบคทีเรียน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายส่วนที่นโยบายจาก สธ.เข้าไม่ถึง เช่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลเอกชน ที่ยังมีปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลสูงมาก ซึ่งก็กลายเป็นอีกหนึ่งช่องโหว่ เนื่องจาก สธ.แทบจะเข้าไปตรวจสอบอะไรในโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้เลย

“โรงพยาบาลรัฐเราพบว่ามีน้อย เพราะเขาถูกจำกัดด้วยงบประมาณกองทุนต่างๆ ทั้งบัตรทองประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ อาจจะมีบ้างในโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งมีการใช้ยาค่อนข้างมาก แต่น่าจะจริงจังมากขึ้น เมื่อกระทรวงลงมาเล่นเอง”

กระนั้น ที่ยังน่าเป็นห่วงคือกลไกการให้ความรู้กับประชาชน เช่น การสอบถามข้อมูล-ความรู้ที่ถูกต้อง ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า ยาที่โรงพยาบาลให้ หรือคลินิกให้นั้น เกินความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีเจ้าภาพรับไปดำเนินการ และอีกส่วนหนึ่งคือโลกไปเร็วมาก เนื่องจากมียา-อาหารเสริมจำนวนมาก ขายในโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย จนกฎหมายตามไปไม่ทัน

ผู้จัดการ กพย. เสนอว่า ควรจะมี “เจ้าภาพหลัก” ในการให้ความรู้กับประชาชน รวมถึงควรจะจัดการตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือเพิ่มความแข็งแกร่งของการขายยาที่ไม่เหมาะสม หรือการส่งเสริมการขายยาบางชนิดให้เข้มแข็ง ก่อนจะรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เรื่องการใช้ยา ต่อทั้งบุคลากรทางการแพทย์และกับประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้ควรทำควบคู่ไปกับการสร้างระบบการประเมินการใช้ยาที่เป็นมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ ซึ่งควรจะจัดการให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ดำเนินการไปทุกองคาพยพ