เศรษฐกิจดิจิทัล "ข้อมูลคืออำนาจ"
ความเข้าใจในวิธีการรวบรวมวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เกี่ยวข้อง คือหัวใจสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูล
โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจโพสต์ทูเดย์
ในโลกดิจิทัล ที่พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ตื่นนอนที่ชีวิตออนไลน์เกือบตลอดเวลา จึงทำให้ชีวิตดิจิทัล เหมือนโดนติดตามอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะทำอะไรผ่านออนไลน์จะเกิดข้อมูลจำนวนมากหรือบิ๊กดาต้า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลให้กับผู้ประกอบการนำไปใช้ประโยชน์ ด้วยเครื่องมือที่วิเคราะห์หรืออนาไลติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ
มารุต มณีสถิตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย และพม่า บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ พีทีอี ลิมิเต็ด (หรือ HDS) กล่าวว่า ปี 2016 เป็นปีแห่งความท้าทายในการรองรับบิ๊กดาต้า คลาวด์ โซเชียลมีเดีย รวมถึงเทรนด์ของ Internet of Things ได้เข้ามาในทุกส่วนของธุรกิจและสังคมอย่างเป็นจริงและมากขึ้นๆ
ดังนั้น ในปี 2559 จึงเป็นปีแห่งความท้าทายขององค์กรในการรองรับแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ทางธุรกิจที่เกิดจากแพลตฟอร์มที่ 3 นี้ ซึ่งสิ่งที่หลายๆ องค์กรให้ความสำคัญจึงเป็นเรื่องของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) หรือการก้าวทันการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัลเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ทั้งในเรื่องของการจัดการและดำเนินงาน การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า และการสร้างโมเดลธุกิจใหม่ๆ ด้วยการนำข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลในปัจจุบัน ทั้งแบบที่มีโครงสร้าง และไม่มีโครงสร้างมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำไปวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ธุรกิจ
ยกตัวอย่างการนำบิ๊กดาต้าไปใช้งานให้เกิดประโยชน์เชิงธุรกิจอย่างชัดเจน คือ กลุ่มธนาคารที่นำข้อมูลการใช้งานบริการที่เกี่ยวกับธุรกรรมออนไลน์หรือโมบายแบงก์กิ้งมาต่อยอดด้วยการนำข้อมูลดังกล่าวไปให้กลุ่มสตาร์ทอัพหน้าใหม่ พัฒนาบริการทางการเงินที่เรียกว่า ฟินเทค (Fintech) รวมทั้งบล็อกเชน (Blockchain) ก็กำลังจะเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่ตัดความเป็นอินเทอร์เน็ต ออฟธิงส์ออกไป
ทางด้าน วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า การใช้งานโซเชียลมีเดียของคนทั่วไปนั้น ถือว่าเป็นข้อมูลแบบ
ไม่เป็นทางการ หรือ อันสตรัคเจอร์ดาต้า (Unstructure Data) ที่องค์กรธุรกิจต้องการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการใช้คีย์เวิร์ดที่มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจมาใช้ในการจับผลทางอารมณ์และความรู้สึกของลูกค้า ว่าลูกค้ามีความรู้สึกกับแบรนด์อย่างไร มีผลเป็นเชิงบวกหรือลบการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผ่านดาต้าแวร์เฮาส์แบบเดิมนั้น อาจเป็นวิธีที่ดีแต่กว่าจะได้ข้อมูลต้องใช้เวลานาน การนำเครื่องมือที่เข้าถึงได้แบบดาต้าไลเซชั่นทำให้ได้ข้อมูลที่มีความไดนามิกและกึ่งเรียลไทม์ที่ช่วยจัดเงื่อนไขการทำงานได้ง่ายขึ้น
หากเป็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ จะมีฐานข้อมูลของลูกค้าที่เคยช็อปออนไลน์ พฤติกรรมและการเลือกซื้อสิ่งของ จากนั้นระบบจะประมวลและส่งข้อความเกี่ยวกับโปรโมชั่นส่วนลดเพื่อให้ลูกค้าไปใช้งาน การเก็บข้อมูลลูกค้าบนโลกออนไลน์และนำไปใช้ต่อยอดในช่องทางออฟไลน์ที่เรียกว่า ออมนิแชนแนล นั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ตลาดที่แบรนด์ทุกกลุ่มไม่ควรมองข้าม
นอกจากการนำข้อมูลแบบบิ๊กดาต้าไปใช้ในเรื่องของโปรโมชั่นหรือแพ็กเกจด้านการขายแล้ว ที่ประเทศสิงคโปร์มีการนำข้อมูลบนบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาไข้หวัดนก โดยจะคาดการณ์การบินของนกว่าไปในเส้นทางไหน หรือสัตว์ปีกมีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างจากช่วงเวลาปกติอย่างไร การนำข้อมูลที่กระจัดกระจายมารวมกันและประมวลผลเพื่อป้องกันปัญหาไข้หวัดนก ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขของภาครัฐที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านวิเคราะห์บิ๊กดาต้าของภาคธุรกิจในกลุ่มโซเชียลมีเดียนั้น ถือว่าลงทุนสูงมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมองเห็นประโยชน์ที่จะช่วยด้านธุรกิจในอนาคต แต่ในไทยนั้นยังถือว่าเป็นช่วงเรียนรู้ที่จะลงทุนเรื่องนี้ เพราะนอกจากเครื่องมือแล้ว ปัญหาสำคัญคือยังมีบุคลากรที่มีความสามารถด้านการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสมน้อย ส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ
นฐกร พจนสัจ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีเอ็มซี อินฟอร์เมชั่น ซิสเท็มส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า วันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ และคาดว่าจำนวนข้อมูลจะเติบโตขึ้น 40% ทุกปี ทำให้การเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีบิ๊กดาต้ามีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม
วิธีที่ธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย เพื่อเปลี่ยนให้เป็นข้อมูลเชิงลึก สร้างโอกาสทางธุรกิจ มีดังต่อไปนี้ ประการแรก ธุรกิจสามารถรวบรวมและเปรียบเทียบข้อมูลที่ดึงมาจากโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ และเริ่มวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรม เพื่อทำให้ทราบว่า กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์คือใคร สถานที่ซึ่งคนเหล่านั้นชอบไป หรือคอนเทนต์ที่กลุ่มเป้าหมายสนใจคืออะไร การวิเคราะห์ข้อมูลจะช่วยให้การวางแผนด้านการตลาดในยุคนี้ไปไกลได้มากกว่า การวางแผนแบบเดิมๆ ที่เน้นวางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยดูจากยอดขาย โดยธุรกิจในยุคนี้สามารถพัฒนารายละเอียดข้อมูลของลูกค้า (Customer Profile) จากข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งโลเกชั่น ประวัติการเสิร์ช การมีส่วนร่วมกับแบรนด์ การสนทนาบนโซเชียลมีเดียได้แบบเรียลไทม์ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาทดสอบแคมเปญก่อนเปิดตลาด
ประการที่ 2 ธุรกิจจะต้องคำนึงถึงข้อมูลเป็นหัวใจหลักในทุกอย่างที่ทำ และจัดลำดับความสำคัญในการประเมินค่าข้อมูลที่สำคัญทางเทคนิคและข้อมูลที่สำคัญสำหรับธุรกิจในการขับเคลื่อนทั่วทั้งองค์กร เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านบิ๊กดาต้า ธุรกิจต้องใช้ประโยชน์จากสายธารข้อมูล (Data Lake) โดยนำข้อมูลต่างๆ ที่เป็น Silo มารวบรวมเพื่อให้สามารถจัดเก็บ เข้าถึง และจัดการข้อมูลของผู้ใช้ปลายทางที่มีมากมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและง่ายดาย
นอกจากนี้ ธุรกิจยังสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล เช่น เทคโนโลยี Search Engine Optimization (SEO) การทำ Social Media Listening และการวิเคราะห์ข้อมูลจากบิ๊กดาต้า (Data Mining) เพื่อเพิ่มการรับรู้ของแคมเปญทางการตลาด หรือจะเป็นการใช้อัลกอริทึมแบบอัตโนมัติ (Automated Algorithms) เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถใช้งานข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่มีความพิเศษกับลูกค้ามากขึ้น
ในยุคอินฟอร์เมชั่น อีโคโนมี (Information Economy) ปริมาณของข้อมูลและจำนวนของอุปกรณ์และบริการที่เชื่อมต่อกันจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากผลการศึกษาดิจิทัล ยูนิเวิร์ส (Digital Universe) ของ EMC พบว่าปริมาณการจัดเก็บข้อมูลของทั้งโลกจะเติบโตอย่างรวดเร็วเป็น 44 เซตตาไบต์ ภายในปี 2020 ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่สำคัญหากธุรกิจสามารถจัดการกับข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นเหล่านี้ได้
บิ๊กดาต้า สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ธุรกิจ ปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจให้เป็นในแนวทางเดียวกัน ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานและช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละคนที่มีความต้องการต่างกันได้
จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things) และเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ (Wearable Technology) เราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจุบันผู้บริโภคต่างต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์แบบเรียลไทม์ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปผ่านดีไวซ์หลากหลาย คำถามคือ องค์กรต่างๆ จะรับมือกับความคาดหวังเหล่านี้ได้อย่างไร
ด้วยความชาญฉลาดจากการสร้าง Data Lake หรือแหล่งรวบรวมข้อมูลดิบขององค์กร จะทำให้องค์กรสามารถหาข้อมูลเชิงลึกสำหรับการดำเนินงานได้แบบใกล้เรียลไทม์ ทำให้องค์กรทำงานได้อย่างคล่องตัว ตอบสนองได้รวดเร็ว และมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า
การตลาดที่ใช้ดาต้าเป็นตัวขับเคลื่อนนั้น คือ การเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ลูกค้าต้องการอะไร และสร้างสรรค์โซลูชั่นและประสบการณ์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดีเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ธุรกิจในประเทศไทยต้องเริ่มต้นให้ถูกทาง
ความเข้าใจในวิธีการรวบรวมวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เกี่ยวข้อง คือหัวใจสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูล และมีความสำคัญต่อความสำเร็จของการวางกลยุทธ์การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ธุรกิจต้องพร้อมที่จะนำข้อมูลเชิงลึกไปพัฒนา
ต่อยอด โดยมีการสื่อสารระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของธุรกิจและทำงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถใช้งบทางการตลาดได้อย่างคุ้มค่าและปรับปรุงการให้บริการลูกค้าในภาพรวมได้ดีขึ้น