ผักชีโรยหน้า

23 สิงหาคม 2559

ความนิยมชื่นชอบผักชีในประเทศญี่ปุ่นกำลังพุ่งแรงอย่างมากในขณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นผักชีฟีเวอร์ เมนูทั้งของคาว ไม่ว่าจะเป็นราเมน เทมปุระ รากผักชีต้มกับเนื้อหมู ผักชีดอง หรือของหวานอย่างไอศกรีม ยังต้องมีผักชีเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าอะไรที่มีผักชีเป็นส่วนประกอบ หรือมีความเกี่ยวข้องจะเป็นจุดดึงดูดลูกค้า การแช่น้ำแร่ ออนเซนยังใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยจากผักชีเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย ร้านอาหารหลายร้านตกแต่งด้วยผักชีเช่นกัน

ความนิยมชื่นชอบผักชีในประเทศญี่ปุ่นกำลังพุ่งแรงอย่างมากในขณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นผักชีฟีเวอร์ เมนูทั้งของคาว ไม่ว่าจะเป็นราเมน เทมปุระ รากผักชีต้มกับเนื้อหมู ผักชีดอง หรือของหวานอย่างไอศกรีม ยังต้องมีผักชีเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าอะไรที่มีผักชีเป็นส่วนประกอบ หรือมีความเกี่ยวข้องจะเป็นจุดดึงดูดลูกค้า การแช่น้ำแร่ ออนเซนยังใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยจากผักชีเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย ร้านอาหารหลายร้านตกแต่งด้วยผักชีเช่นกัน

ไม่เพียงแต่ความรู้สึกของชาวญี่ปุ่นที่ได้รับจากการลิ้มรสผักชีในรูปแบบเมนูอาหาร หรือการสัมผัสกับกลิ่นอายในรูปแบบอโรมา วงเทนจินแอกเตอร์ (10 Jinactor) บอยแบนด์ สังกัดค่ายโซนี่ มิวสิกของญี่ปุ่นยังได้เอาใจผู้ชื่นชอบผักชี โดยการจัดทำเอ็มวีเพลง “ผักชีเฮเว่น” เนื้อหาของเพลงแฝงไว้ด้วยคุณประโยชน์นานัปการของผักชี ในท่วงทำนองที่สนุกสนาน

ก่อนหน้าที่จะมีเพลง “ผักชีเฮเว่น”  ชาวญี่ปุ่นต่างชื่นชอบโฆษณาชื่อ “เอาผักชี” ที่มี “มัตสึโกะ ดีลักซ์” นักแสดง พิธีกร พรีเซนเตอร์ ของญี่ปุ่น เป็นตัวเอกของโฆษณานี้

ผักชีเป็นส่วนประกอบของอาหารไทยประเภทของคาวหลากหลายชนิด แต่ส่วนมากจะใช้ประกอบการโรยหน้า แต่งเติม สีสันให้ดูน่ารับประทาน จนกลายเป็นที่มาของสุภาษิตว่า “ผักชีโรยหน้า” ที่หมายถึงการทำความดีหรือกระทำการใดๆ เพียงเพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่างานเสร็จแล้วเรียบร้อย สวยงาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งนั้นยังไม่สำเร็จเรียบร้อย

แม้สุภาษิตว่า “ผักชีโรยหน้า” จะออกมาในแง่ลบ แต่แท้จริงแล้วผักชีมีคุณประโยชน์สารพัน ไม่ว่าจะเป็นใบ ราก เมล็ด

นอกจากการที่คนญี่ปุ่นที่เคยอยู่ไทยรายหนึ่ง ได้เปิดร้านอาหารที่ญี่ปุ่น และนำผักชีไปปรุงเป็นเมนูหลากหลาย ประกอบกับนำผักชีมาตกแต่งร้าน จนลูกค้าพูดกันปากต่อปาก ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผักชีเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่น เพราะมีรายงานของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่ทำการวิจัยและเผยแพร่ว่า ผักชีเป็นสิ่งอัศจรรย์ เป็นยาวิเศษขนานแท้ ประกอบกับพ่อ-แม่ชาวญี่ปุ่นมักจะสอนลูกๆ ถึงประโยชน์ของการรับประทานอาหารแต่ละชนิด ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนมากเป็นคนรักสุขภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผักชีได้กลายมาเป็นผักที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบ แม้จะมีกลิ่นค่อนข้างฉุนสำหรับบางคน ร้านอาหารในญี่ปุ่นต่างต้องคิดเมนูที่ทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกถึงสิ่งนี้

ในขณะที่ในไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่หลายคนที่เวลาสั่งก๋วยเตี๋ยวชอบสั่งว่า ไม่เอาผักชี เป็นการมองข้ามคุณประโยชน์ของผักชีอย่างน่าเสียดาย

ประโยชน์ของผักชี เช่น ช่วยบำรุงและรักษาสายตา แก้อาการกระหายน้ำลดระดับน้ำตาลในเลือดแก้อาการหวัด-ไอ ลดอาการปวดบวมตามข้อแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ย่อยอาหาร กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทั้งอุดมไปด้วยวิตามินเอ บี ซี ธาตุเหล็ก เบต้าแคโรทีน แคลเซียม

ราคาผักชีในญี่ปุ่น 4-5 ต้นมีราคาถึง 60 บาท ในขณะที่ตามท้องตลาดของไทยมีราคา ไม่ถึง 5 บาท ผักชีสามารถปลูกขึ้นได้ง่ายในภูมิอากาศของไทย และไม่ค่อยพบโรคหรือแมลงศัตรูพืชเพราะมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยไล่แมลงได้ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ปลูกผักชี เพื่อการส่งออกน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะหากญี่ปุ่นศึกษาจนสามารถปลูกเองในประเทศญี่ปุ่นได้ผลดีเหมือนอย่างไทย อาจทำให้ไทยพลาดโอกาสอย่างน่าเสียดาย

วงการแพทย์แผนไทยได้นำเมล็ดผักชีมาประกอบในยาตำรับไทย ในกลุ่มของยาหอม และกลุ่มยาที่ช่วยในระบบการย่อยอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการจดสิทธิบัตร เพราะการจะจดสิทธิบัตรได้ ต้องเป็นลักษณะของวิธีและกระบวนการสกัด หรือสรรพคุณที่เกิดขึ้นจากการศึกษาการทดลอง

พืชสมุนไพรไทยอย่าง “หญ้าเปล้าน้อย” ที่มีคุณสมบัติเด่นในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารญี่ปุ่นมีอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะ คนไทยได้ให้หญ้าเปล้าน้อยทาน อาการปวดท้องหายอย่างปลิดทิ้งภายในระยะเวลาอันสั้น
มีการพูดถึงสรรพคุณหญ้าเปล้าน้อยในกองทัพญี่ปุ่น เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ญี่ปุ่นได้มีการศึกษาอย่างจริงจัง จนเมื่อ พ.ศ. 2527 ญี่ปุ่นได้นำสารสกัดจากหญ้าเปล้าน้อยไปจดทะเบียนกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ภายใต้ชื่อ เปลาโนทอล (Plaonotal)

กรณีประเทศอินเดีย ชาวอินเดียนำทุกส่วนของสะเดาไม่ว่าจะเป็นดอก ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันนับพันปีแล้ว เช่น แก้ท้องผูก รักษาโรคผิวหนัง ไล่ยุง ยาปราบศัตรูพืช บริษัทอเมริกันได้ไปยื่นคำขอเพื่อจดทะเบียนสิทธิบัตรต่อสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป ภายใต้ชื่อ  “ยาฆ่าเห็ดราที่ผลิตจากน้ำมันสะเดา” รัฐบาลและชาวอินเดียได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ใหม่ เพราะหากสามารถจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ ผลเสียหายย่อมเกิดขึ้นไม่แต่เฉพาะชาวอินเดีย แต่จะเกิดแก่ผู้คนทั่วโลก จนในที่สุดสำนักงานสิทธิบัตรยุโรปได้ปฏิเสธการรับจดสิทธิบัตรนี้ของบริษัทอเมริกัน

ผักชีเป็นผักที่คู่ครัวไทยมาช้านาน เรียกได้ว่าเป็นผักที่มีไว้ติดบ้าน  ขณะนี้คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับผักชีเป็นอย่างมาก คนไทยควรตระหนักและให้ความสำคัญต่อคุณประโยชน์ของผักชีเช่นกัน

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากส่งเสริมและสนับสนุนวิจัยคุณประโยชน์ของผักชีหรือพืชสมุนไทยอื่นอย่างจริงจัง ย่อมทำให้ภูมิปัญญาไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรไทยของคนไทย เพื่อคนไทย และควรหาวิธีปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เพื่อไม่ให้เกิดกรณีอย่างหญ้าเปล้าน้อยในอดีต

Thailand Web Stat