ภาพถ่ายฟิล์มกระจก การแต่งกายในสมัยรัชกาลที่ 6
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา
โดย...ส.สต
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา กรมศิลปากร จัดนิทรรศการภาพถ่ายฟิล์มกระจก การแต่งกายในสมัยรัชกาลที่ 6 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 ส.ค. 2559 ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ 10 ส.ค.-10 ต.ค. 2559
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นผู้อำนวยการจัดทำ ลุพธ์ อุตมะ เป็นผู้เรียบเรียง และ ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร เป็นผู้ทำบรรณาธิกรณ์ และ สิทธิพร พรมมา เป็นผู้ตกแต่งสีภาพเก่า
ห้องโถงชั้นล่าง หอวชิราวุธานุสรณ์ ที่กว้างใหญ่ ทันสมัย ซึ่งประดิษฐานพระบรมรูปหล่อด้วยขี้ผึ้ง ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กลายเป็นที่จัดนิทรรศการภาพถ่ายฟิล์มกระจก เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายสตรีไทย ในปลายรัชกาลที่ 5 ถึงสิ้นรัชกาลที่ 6 พร้อมทั้งคำบรรยาย
นอกจากเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าทรงผมของสตรี ได้มีวิวัฒนาการทันสมัยนิยม ตามแบบตะวันตกมากขึ้น
ผู้จัดนิทรรศการ ได้เขียนบรรยายว่า การจัดนิทรรศการฉัฐรัช : พัสตราภรณ์ ครั้งนี้ อาศัยข้อมูลภาพส่วนใหญ่จากภาพที่บันทึกบนฟิล์มกระจกที่เก็บรักษาไว้ ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติและยังมิได้มีการเผยแพร่มาก่อน ดังนั้นอาจมีข้อจำกัดในการอ่านภาพเช่นยังไม่สามารถระบุพระนามหรือนามของบุคคลในภาพรวมถึงรายละเอียดอื่นที่เกี่ยวข้องได้ครบถ้วน หากท่านผู้ใดทราบข้อมูลเหล่านี้และประสงค์จะให้รายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ทางวิชาการของส่วนรวมในวันข้างหน้าขอได้โปรดให้ข้อมูลนั้นในแบบให้ข้อมูลที่จัดไว้ในนิทรรศการครั้งนี้ จะเป็นพระคุณยิ่ง
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มแต่วันที่ 23 ต.ค. 2553 และสิ้นสุดวันที่ 25 พ.ย. 2468 รวมเวลาทั้งสิ้น 15 ปีเศษ
เพื่อง่ายต่อความเข้าใจในการวิเคราะห์วิวัฒนาการของเครื่องแต่งกายสตรีในรัชสมัยนี้ ผู้จัดนิทรรศการ จึงแบ่งเวลาเป็น 3 ช่วง กำหนดช่วงละ 5 ปี ระยะแรกเป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลใหม่ จะเห็นแบบแผนการแต่งกายของสตรีก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปพอสมควรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังมีอิทธิพลต่อการแต่งกายของสตรีในรัชกาลที่ 6 อยู่ไม่น้อย
ช่วง 5 ปีแรกนับแต่ทรงครองราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2453 ถึง พ.ศ. 2458 เป็นช่วงต่อของแฟชั่นสองสมัย นิยามสมัยด้านการศึกษาแฟชั่นสตรียุโรปเรียกว่า “ช่วงปลายสมัย Edwardian เอ็ดวอร์เดียน” (รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร ครองราชย์ 22 ม.ค. ปี ค.ศ. 1901- 6 พ.ค. ปี ค.ศ. 1910) และ Early Teens หรือ “ทีนส์ตอนต้น”
ช่วงกลาง 5 ปี จาก พ.ศ. 2458 ถึง พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1915-1920) ช่วงนี้ภาษาด้านการศึกษาแฟชั่นสตรีทางยุโรปเรียกว่า ช่วง Late Teens หรือทีนส์ตอนปลาย (ค.ศ. 1915-1920) ในช่วงนี้โลกแฟชั่นยุโรปถูก กดดันจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (28 ก.ค. ปี ค.ศ. 1914- 11 พ.ย. ปี ค.ศ. 1918) ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับรูปทรง (Silhouette) และรูปร่าง (Shape) ของชุดแต่งกายสตรี รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกที่ทรุดตัวลง การใช้ปริมาณผ้าน้อยลงเพื่อลดความฟุ่มเฟือย และแพตเทิร์นที่ง่ายในการตัดเพื่อลดแรงงาน สามารถเจียดเวลาไปช่วงราชการสงคราม เห็นได้ชัดจากเสื้อผู้หญิงที่เริ่มปล่อยทิ้งชายให้ดิ่งตรงลงมาถึงสะโพกเพื่อช่วยในการเคลื่อนไหวคล่องขึ้น เปลี่ยนทรงคอร์เซ็ตเป็นแบบตรง ไม่เน้นเอวคอดกิ่ว กระโปรงเริ่มสั้นขึ้นมาถึงเหนือข้อเท้า
ครั้นมองในประเทศสยาม ผ้าซิ่นก็เริ่มเป็นที่นิยมตามพระราชนิยม แต่การนุ่งโจงกระเบนก็ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ ส่วนผมเริ่มไว้ยาวและรวบขึ้นเหนือคอแต่ไม่โป่งพองเท่าสมัยต้นรัชกาล ดังจะเห็นได้จากพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศที่หม่อมเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งฉายในช่วงเวลานั้น
ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 ถึง พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1920-1925) อันเป็นช่วงปลายรัชกาล ช่วงนี้ศัพท์ทางสมัยนิยมแฟชั่นสตรียุโรปเรียกว่า Flappers หรือ Art Deco ตอนต้น ซึ่งเป็นการย่อคำจากงานนิทรรศการแสดงสินค้าและศิลปะการตกแต่งที่กรุงปารีส (L’Exposition des Arts Decoratifs)
ใน พ.ศ. 2468 รสนิยมการเต้นรำกับเพลงแจ๊ซ หรือ Jazz Age ขยายกว้างไปทั่วโลกจากอเมริกา พร้อมทั้งศิลปะแบบอลังการศิลป์ หรือศิลปะตกแต่ง (Art Deco) ถือกันว่าเป็นศิลปะของความหรูหรา มีประโยชน์ใช้สอย และเป็นสมัยใหม่ การเคลื่อนไหวทางศิลปะทั้งสองนี้ ประกอบเข้ากับการค้นพบสุสานตุตันคาเมนใน พ.ศ. 2465 โดยฮาวเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) นักโบราณคดีและอียิปต์วิทยาชาวอังกฤษ เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงแฟชั่นสตรีตะวันตก ให้เป็นทรงเรขาคณิตมากขึ้น พร้อมกับการใช้ลูกปัดซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการค้นพบทางโบราณคดีเกี่ยวกับการแต่งกายอย่างอียิปต์ในยุคตุตันคาเมน หรือยุคอาณาจักรใหม่
ยิ่งไปกว่านั้น วัฒนธรรมการเข้าชมภาพยนตร์เงียบ (Silent movie) จากสหรัฐอเมริกาก็เริ่มมีเข้ามาฉายในสยาม ตั้งแต่ พ.ศ. 2450 (ปลายรัชกาลที่ 5) เป็นต้นมา ขณะเดียวกันดาราภาพยนตร์อเมริกันก็เริ่มเป็นที่รู้จัก รวมไปถึงอิทธิพลของการโฆษณาผ่านนิตยสารแฟชั่น และห้างร้านต่างๆ ในพระนคร ตลอดจนลักษณะการใช้ชีวิตของนักเรียนทุนรุ่นแรกๆ ที่กลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งนำสมัย นำวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และประสบการณ์ส่วนตัวมาปรับใช้ในสยาม เป็นตัวแปรที่ปรับเปลี่ยนลักษณะสมัยนิยมของสตรีชาวสยาม
เสื้อผ้าที่เห็นได้ชัดคือฉลองพระองค์ของ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ขณะทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา ที่ฉายในสตูดิโอราว พ.ศ. 2467 เป็นฉลองพระองค์แบบค็อกเทลสายเดี่ยวสไตล์ Art Deco ยาวถึงครึ่งพระชงฆ์ (แข้ง) คาดสายรัดพระองค์ตรงพระโสณี (สะโพก) ทรงมงกุฎประดับขนนกกระจอกเทศ สวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ กลัดเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 6 และเข็มกลัดอักษรพระบรมนามาภิไธยบรรจุเส้นพระเจ้า ทรงสร้อยพระศอเพชร ทรงพระธำมรงค์หมั้นที่พระอนามิกา (นิ้วนาง) ข้างซ้าย
นิทรรศการฟิล์มกระจก เครื่องแต่งกายสตรี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในราชสำนัก และสังคมชั้นสูง ก็มีอิทธิพลต่อการแต่งกายสังคมชาวบ้านไปด้วย เพราะสังคมไทยตามแฟชั่นทันสมัยเสมอ