posttoday

ผ่าทฤษฎีสมคบคิด หาประโยชน์กับโลกร้อน

07 ธันวาคม 2552

โดย : ทีมข่าวต่างประเทศ

โดย : ทีมข่าวต่างประเทศ

กลายเป็นเรื่องฉาวที่ “ร้อน” ที่สุดในวงการวิทยาศาสตร์สมกับชื่อหัวข้อ “โลกร้อน” ไปแล้ว พร้อมกระทบชิ่งไปยังวงการเศรษฐกิจและการเมือง แถมยังกลายเป็นเรื่องพลิกผันที่สุดในงานเปิด “การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 15” (COP 15) เมื่อวานนี้หรือเรียกสั้นๆ ง่ายๆ พอเข้าใจว่าการประชุมโลกร้อน ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

เพราะกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามต่อสู้กับภาวะโลกร้อนด้วยทฤษฎีภาวะเรือนกระจก และได้รับการยอมรับจนอยู่ในสถานะ “พระเอก” มาตลอด กลับถูกพลิกสถานะให้กลายเป็นพวก “แกมโกง”

เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นฮอตที่สุด จนแทบจะกลบเรื่องการประชุมหาสนธิสัญญาฉบับใหม่มาแทนที่พิธีสารเกียวโต ซึ่งเป็นสารัตถะ เป็นหัวใจสำคัญของการประชุมโลกร้อนไปโดยปริยาย

อีเมลที่ถูกแฮกเกอร์มือดีล้วงมาได้ถูกเผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว และยังปลุกกระแสได้ต่อเนื่องจนถึงวันเปิดประชุมใหญ่เมื่อวานนี้ว่า นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้กำลังเล่นไม่ซื่อกับข้อมูล ด้วยการใช้แท็กติกทำให้ภาพของภาวะโลกร้อนออกมาดูน่ากลัวเกินกว่าความจริง

แฮกเกอร์กลุ่มหนึ่งได้ล้วงเอาอีเมลส่วนตัวราว 1,000 ฉบับ และเอกสารอีกราว 3,000 ฉบับ จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียในอังกฤษ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกในฐานะที่มีสถาบันวิจัยสภาพอากาศฮัดลีย์ เพื่อศึกษาและเจาะเกาะติดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยเฉพาะซึ่งเนื้อความในอีเมลดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นถึงบทสนทนาของนักวิทยาศาสตร์บางคนว่า จะทำอย่างไรให้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นความจริงให้ออกมาดูเหมือนว่าภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อนนั้นสาหัสและรุนแรงกว่าที่เป็นจริง

ตัวอย่างหนึ่งในบทสนทนา คืออีเมลที่ ฟิลิป โจนส์ ผู้อำนวยการของสถาบันฮัดลีย์ สื่อสารไปถึง ไมเคิล มานน์ หนึ่งในผู้บริหารของคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (IPCC) ว่า โจนส์ เพิ่งจะใช้ “ทริก” ของเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันที่ชื่อว่า ไมค์ ในการเพิ่มระดับอุณหภูมิในรายงานแต่ละฉบับตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน

เรื่องนี้นับว่าสร้างความช็อกสะเทือนไปทั่วทั้งวงการวิทยาศาสตร์ เมื่อ “ข้อเท็จจริง” (Fact) ทางหลักวิทยาศาสตร์ที่ควรเป็น “ความจริง” (Truth) กลับถูกบิดเบือนเป็นเพียงแค่ “การโฆษณาชวนเชื่อ” (Propaganda) เท่านั้น

เรื่องร้อนครั้งนี้ไม่เพียงแต่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในวงนักวิทยาศาสตร์เฉพาะ แต่กำลังกลายเป็นเรื่องระดับโลกอย่างแท้จริงในวันเปิดการประชุมโลกร้อน 7 ธ.ค. เมื่อหลายฝ่ายต่างเริ่มออกมาแสดงความเห็น

ราเชนทร์ ปาชัวร์ ผู้อำนวยการของไอพีซีซี โต้กลับฝ่ายที่เปิดเผยเรื่องอีเมลทันทีว่า เป็นการสมคบคิดกันของฝ่ายที่ตรงข้ามที่ใช้แฮกเกอร์รัสเซียเข้ามาเจาะข้อมูล และเลือกเฉพาะข้อมูลบางอย่างไปเปิดเผยให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อปั่นป่วนการประชุมโลกร้อน ทว่า โมฮัมเหม็ด ฮับ ซับบาส ผู้แทนของซาอุดีอาระเบีย กลับมองว่าเรื่องนี้คือการ “สั่นสะเทือนความน่าเชื่อ” ของวงการนักวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ และสมควรต้องถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบให้เป็นเรื่องเป็นราว

ขนาดอดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐ อัล กอร์ ยังถึงกับต้องเลื่อนการกล่าวปาฐกถาในงานประชุมโลกร้อนไปด้วย เพราะ “ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง” (An Incovenient Truth) หนังสือชื่อดังที่เอื้อให้ กอร์ แจ้งเกิดเต็มตัวกับบทบาทใหม่นักรณรงค์สิ่งแวดล้อม จนคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2551 มาแล้ว กำลังเป็นอีกหนึ่งความจริงที่เจ้าตัวเองไม่อยากฟังที่สุดในวันนี้ ว่า...ใครๆ ก็หา (กิน) ประโยชน์กับโลกร้อน”

หากถามว่าเรื่องนี้ใครได้และใครเสีย คงต้องบอกว่าปัญหาโลกร้อนเป็นประเด็นใหญ่ที่ซับซ้อนเกินกว่าจะมองเป็นเรื่องการโกหกของนักวิทยาศาสตร์ (ซึ่งยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าผิดจริง) อย่างเดียว หรือเป็นเรื่องที่ถูกปั่นขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนฝ่ายเดียว

เพราะงานนี้มีทั้งได้เสียกันถ้วนหน้า...

ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดโปงครั้งนี้ ดูเหมือนว่ากลุ่มประเทศในยุโรปซึ่งมีความพร้อมมากกว่าใครๆ คือฝ่ายที่ได้รับประโยชน์ไปมากที่สุดจากการผลักดัน “เทคโนโลยีสีเขียว” รวมถึงแนวทางการค้าขายคาร์บอนเครดิต เมื่อผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกไม่อาจพูดออกมาได้ว่า ทางที่ดีที่สุดคือลดการบริโภค เพราะนั่นหมายถึงตัวเลขจีดีพีที่หดตัวลง และปัญหาการว่างงานครั้งใหญ่ตามมา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด คือ กรณีที่การบินไทยต้องจ่ายเงินให้กับสหภาพยุโรป (อียู) จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้โลกร้อน ซึ่งคาดว่าการบินไทยจะต้องจ่ายเงินให้อียูถึงปีละ 850 ล้านบาท

ขณะที่สินค้าต่างๆ ที่วางจำหน่ายในตะวันตก ก็จะถูกสกรีนว่ามีส่วนนำไปสู่ปัญหาโลกร้อนหรือไม่ และเมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ของสหรัฐ ก็เพิ่งประกาศกฎหมายเรียกเก็บภาษีในทำนองนี้ออกมาเช่นเดียวกันแล้ว

เหล่านี้ยังไม่รวมที่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มถึงขั้นออกมากล่าวโทษการทำนาและปศุสัตว์ในประเทศกำลังพัฒนาว่าเป็นตัวก่อก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วย

หากมองในแง่นักอนุรักษ์ นี่คือมาตรการเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างหนึ่ง แต่หากมองในแง่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั่วโลกแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับ “การกีดกันทางการค้า”

และเมื่อมีการเปิดเผยเรื่องอีเมลฉาวออกมา ก็ดูเหมือนว่าประโยชน์จะถูกเอียงไปทางสหรัฐ ประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และในฐานะประเทศที่ยังยึกยักกับสนธิสัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลกมาแล้ว

หากประเด็นฉาวล่าสุดนี้ได้รับการพิจารณาว่าเป็นการเต้าข้อมูลจริง ก็จะไม่มีอะไรมากดดันภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐได้อีกต่อไปจะก็จะไม่มรเหตผล

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องการใช้ทริกกับข้อมูล ซึ่งรังแต่จะบิดเบือนและลดความน่าเชื่อถือของข้อมูลแล้ว ประเด็นที่คนทั้งโลกไม่ควรหลง (ลืม) ก็คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
แม้หลายฝ่ายจะอ้างว่าโลกร้อนเพราะวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงของสภาพโลกเอง แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า การตะบี้ตะบันบริโภคในยุคบริโภคนิยมทุกวันนี้ นำไปสู่การผลิต การบริโภค และขยะ ออกมาอย่างมหาศาล กระบวนการผลิตไปจนถึงการย่อยสลายและทำงานเหล่านี้ ล้วนต้องใช้พลังงานและก่อให้เกิดก๊าซของเสีย และความร้อนออกมาสู่โลก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

การบิดเบือนข้อมูลต้องได้รับการตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้อง แต่การใช้ชีวิตบริโภคนิยมสุดโต่งก็ควรต้องถูกปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ตะบี้ตะบันโทษกันไปมา แล้วรอโทษแค่ว่าเป็นวัฏจักรของการเปลี่ยนแปลง โดยไม่มองที่ปัจจัยปลุกเร้าอย่างเราๆ