จัดระเบียบกทม.-ปริมณฑล
โยธาฯ เร่งดันผังเมืองรวม กทม.-ปริมณฑล คาดคลอดปี 2560 วางกรอบตามแนวของแต่ละจังหวัด
โยธาฯ เร่งดันผังเมืองรวม กทม.-ปริมณฑล คาดคลอดปี 2560 วางกรอบตามแนวของแต่ละจังหวัด
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า กรมได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินโครงการวางผังเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปีงบประมาณ 2559-2560 เพื่อกำหนดกรอบนโยบายการพัฒนาพื้นที่และแนวทางการวางผังเมืองรวมของกรุงเทพฯ และ 6 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และฉะเชิงเทรา ให้มีการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ทุั้งนี้ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2560 ต่อจากนั้นจะเสนอขอปรับปรุงผังเมืองทั้ง 6 จังหวัด ตั้งเป้าใช้เวลาในการวางผังไม่เกิน 8-9 เดือน ก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย รวมระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี หรือประมาณปี 2562 จะประกาศใช้ได้
“ที่ผ่านมา ปัญหาของผังเมืองรวมกรุงเทพฯ กับผังเมืองรวมจังหวัดปริมณฑลไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อระหว่างของกรุงเทพฯ กับแต่ละจังหวัดปริมณฑล ปัจจุบันความเจริญของเมืองทำให้รอยต่อเหล่านี้ยากจะแยกแยะออกว่าบริเวณไหนคือกรุงเทพฯ และบริเวณไหนคือปริมณฑล ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานผังเมืองของ กทม.กับกรมจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้” นายมณฑล กล่าว
นอกจากนี้ การวางผังภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังต้องนำโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ของภาครัฐเข้ามาประเมินด้วย เช่น โครงการมอเตอร์เวย์บางใหญ่-บ้านโป่ง โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ๆ ซึ่งต้องวางควบคู่ไปพร้อมกัน เพื่อให้การพัฒนาเมืองมีทิศทางที่ชัดเจน ถือเป็นการจัดทำผังโครงสร้างซึ่งเป็นผังแม่บทชี้นำการพัฒนาภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผังนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังนโยบายพื้นที่โล่งและพื้นที่สีเขียว ผังนโยบายการคมนาคมขนส่ง และผังนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับการวางผังเมืองให้เป็นไปตามแนวคิดของแต่ละจังหวัดปริมณฑล ประกอบด้วย 1.นนทบุรี เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการและที่อยู่อาศัย หลังจากที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนราชพฤกษ์ ถนนชัยพฤกษ์ เป็นแม่เหล็กสำคัญในการทำให้เกิดย้ายถิ่นฐานของคนกรุงเทพฯ มาอยู่อาศัย 2.ปทุมธานี ศูนย์กลางการศึกษาวิจัยและเทคโนโลยี เนื่องจากจังหวัดนี้มีมหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่ง และยังมีที่อยู่อาศัยจำนวนมากย่านรังสิต
3.สมุทรปราการ มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงจากเมืองอุตสาหกรรมเป็นเมืองที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ย้ายไปอยู่ จ.ระยอง และการที่ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำให้เกิดโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูงใกล้รถไฟฟ้าจำนวนมาก จึงเกิดการโยกย้ายที่อยู่อาศัยจากกรุงเทพฯ มาอยู่บริเวณนี้ ถือเป็นการรองรับการขยายตัวจากกรุงเทพฯ 4.สมุทรสาคร เป็นศูนย์กลางการประมง เพราะปัจจุบันเรือประมงจำนวนมากมาขึ้นท่าที่จังหวัดนี้ กลายเป็นศูนย์กลางของธุรกิจห้องเย็นและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางทะเลขนาดใหญ่ของไทย
5.นครปฐม เป็นเมืองที่อยู่อาศัยจากความที่มีความต่อเนื่องจากกรุงเทพฯ แต่จะเป็นเมืองที่อยู่อาศัย เน้นบ้านแนวราบ เพราะยังมีพื้นที่สำหรับเกษตรชั้นดีอยู่ การแปรรูปสินค้าเกษตร และ 6.ฉะเชิงเทรา อยู่ใกล้เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีโอกาสที่จะเป็นเมืองที่อยู่อาศัย โดยจังหวัดนี้เป็นพื้นที่จุดเชื่อมต่อกรุงเทพฯ ไปยังเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก จึงมีโอกาสที่จะเกิดโครงการที่อยู่อาศัยรองรับคนที่จะไปทำงานภาคตะวันออกโดยเฉพาะเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ ถึง จ.ระยอง
ภาพประกอบข่าว