ย้าย "เหี้ย" พ้นสวนลุมฯ ก่อปัญหาหรือแค่รำคาญตา?
ความเห็นจากสัตวแพทย์และผู้ที่มาใช้บริการสวนลุมฯ กับกรณีที่กทม.เตรียมย้าย "ตัวเหี้ย"ออกไป
โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด
ใครเคยไปเดินเล่น ออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจ ที่สวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ไม่พ้นต้องเคยพบกับ "ตัวเหี้ย" สัตว์เลื้อยคลานที่ยึดเอาสวนสาธารณะแห่งนี้เป็นที่อาศัย
ล่าสุดไม่กี่วันก่อน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศเตรียมนำเหี้ยบางส่วนออกจากสวนลุมฯโดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันมีเหี้ยจำนวนมากเกินไป ทำลายระบบนิเวศ สร้างความเสียหายให้กับแปลงปลูกต้นไม้และตลิ่ง ตลอดจนสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่มาออกกำลังกาย
งานนี้เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง
"การย้ายเหี้ยเหล่านี้ออกไป ก็คงไม่ส่งผลอะไร เพราะอีกหน่อยเหี้ยตัวอื่นที่อยู่พื้นที่รอบๆ มันก็จะย้ายเข้ามา สัตว์ป่าแต่ละชนิดมันมีพื้นที่การหากิน คุณย้ายมันออกไป เดี๋ยวสัตว์ชนิดเดียวกันมันก็กลับมา ระบบนิเวศในสวนลุมฯเหมาะกับตัวเหี้ย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เงียบ และไม่มีสัตว์ผู้ล่า ตอนนี้มนุษย์เป็นเพียงสัตว์ชนิดเดียวที่ล่าเหี้ย" เสียงสะท้อนจาก นายสัตวแพทย์ เกษตร สุเตชะ อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
น.สพ.เกษตร กล่าวว่า ตัวเหี้ย ไม่ทำร้ายใครก่อนเหมือนที่หลายคนกังวล หากไม่ไปอยู่ใกล้ในระยะอันตราย จนทำให้สัตว์รู้สึกว่าต้องปกป้องตัวเอง สำหรับการโจมตีของตัวเหี้ยนั้นคือการฟาดหางใส่ ส่วนข้อดีของตัวเหี้ยคือ มันคอยจัดการกินซากสัตว์เน่าเปื่อย และเศษซากอาหาร จนกระทั่งงู หนู กบ เขียด
"เหี้ยคือสัตว์ป่าในเมือง เหตุผลต่างๆ นานา ที่กทม.ใช้ในการนำออกไปจากพื้นที่นั้น ต้องถามว่ามันส่งผลต่อสัตว์ชนิดอื่นนอกจากคนหรือเปล่า ถ้าไม่ ก็แสดงว่าคนหาเรื่องมัน ที่ว่าเหี้ยทำลายตลิ่งนั้น ฝนตกมันก็ชำระล้างหน้าดินอยู่แล้ว รวมทั้งปกติดินในกรุงเทพฯ ก็ทรุดตัวลงเรื่อยๆตามธรรมชาติแม้จะไม่มีเหี้ยอยู่ เหตุผลต่างๆ ที่ยกอ้างนั้นเป็นเหตุผลประกอบไม่ใช่เหตุผลหลัก การสร้างความรำคาญทางสายตา นั้นอาจเป็นเหตุผลหลักที่แท้จริง"
ผู้เชี่ยวชาญ รายนี้ชี้ว่า ควรภาคภูมิใจในความเป็นธรรมชาติของกรุงเทพฯ ซึ่งยังหลงเหลือสัตว์ป่าดั้งเดิมบ้าง อย่าลืมว่า สวนลุมพินีไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าที่จะมีเพียงแค่มนุษย์เท่านั้น มันคือพื้นที่ธรรมชาติ เป็นของสาธารณะ และมนุษย์ไม่มีเหตุผลที่จะไปควบคุมคนอื่น หากคิดในทางกลับกันลองเปลี่ยนตัวเหี้ยเป็นแมวน้ำหรือหมีแพนด้า ถามว่ากรุงเทพฯ จะย้ายหรือไม่
"พื้นที่ขนาด 360 ไร่ของสวนลุมต่อเหี้ยจำนวน 400 ตัว เรียกว่า 1 ตัว ประมาณ 1 ไร่ ความหนาแน่นมันน้อยมาก เหี้ยไม่ได้เดินเพ่นพ่านมาเจอเราตลอด ทุกวันนี้เดิน วิ่ง นั่ง 2 ชั่วโมง เจอเหี้ยทั้งหมดกี่ครั้ง ถ้า 3 ชั่วโมงเจอ 1-2-3 ครั้ง เรียกว่าธรรมดา แต่หากมากถึง 50 ครั้ง ถือว่าความหนาแน่นสูงจนเป็นปัญหา"
การย้ายเหี้ยออกจากพื้นที่เพื่อควบคุมประชากรและรักษาระบบนิเวศภายในสวนลุมครั้งนี้ น.สพ.เกษตร เห็นว่า หากไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังถึงพฤติกรรมและความเป็นอยู่ นับว่าเป็นมาตรการแก้ไขที่ไม่ยั้งยืน
"ประเทศไทยเราเคยย้ายหมาจรจัด นกพิราบ ตรงไหนมีเยอะก็ย้ายไปอีกที่หนึ่ง สุดท้ายก็เต็มกรงเลี้ยงและมีปัญหาความแออัด เเละอื่นๆ ต่อเนื่องไป เพราะยังไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังว่า จริงๆ แล้วมันใช่ปัญหาไหม สำหรับผมไม่ใช่ มันคือการอยู่ร่วมกัน เหี้ยอายุขัยโดยเฉลี่ยแก่ตายประมาณ 30 ปี ย้ายไปเก็บกว่ามันจะตายไม่รู้ต้องเสียงบประมาณเท่าไหร่ ต้องคิดถึงปลายทางด้วย สุดท้ายถ้าจะย้ายก็ถือว่าเป็นโชคร้ายของตัวเหี้ย แต่ขอเวลาไม่นานมันก็เพิ่มขึ้นอีกแน่นอน"
ด้านประชาชนที่มาใช้บริการพักผ่อน หย่อนใจ และออกกำลังกายภายในสวนลุมฯต่างแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นการย้ายตัวเหี้ยไว้อย่างน่าสนใจ
สุพาพร วงไพฑูรย์ วัย 23 ปี และ พรวินัย ศักดิ์สิงห์ อายุ 30 ปี ร่วมให้ทัศนะว่า เหี้ยสามารถอยู่ร่วมกับคนได้อยากปกติ วิ่งที่สวนลุมฯ มามากกว่า 3 ปี ไม่เคยพบอุบัติเหตุที่เกิดจากเหี้ยแม้แต่ครั้งเดียว และทราบว่า เหี้ยไม่ทำร้ายใครก่อน กลัวคนซะด้วยซ้ำ เจอคนเข้าใกล้ก็วิ่งหนีแล้ว
"ถ้าไม่ได้สร้างปัญหาใหญ่หลวง อย่างตลิ่งเสียหาย ผมว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง ไม่เห็นจำเป็นต้องเอามันออกไป"พรวินัย ระบุ
บุญชัย ชาติเชื้อชุติมา กล่าวว่า วิ่งมา 10 กว่าปี ไม่เคยหวาดกลัว และได้รับความเดือดร้อนจากตัวเหี้ย ส่วนใหญ่พบว่ามันมักว่ายในน้ำ นอนอยู่ริมตลิ่ง และเดินข้ามฝั่งในช่วงที่เงียบสงบหรือคนน้อย เพราะแท้จริงแล้วเหี้ยมันกลัวคน
"เท่าที่วิ่งมาก็ไม่เคยเห็นมันทำร้ายหรือสร้างความเดือดร้อนให้ใคร พวกฝรั่งต่างชาติก็ชอบ เห็นเขาถ่ายรูปกันประจำ อีกอย่างมันช่วยจัดการงู หนู จนทำให้คนปลอดภัย"
แก้ว สมบัติเจริญบูลย์ อายุ 79 ปี พ่อค้าอาหารปลา กล่าวว่า กว่า 40 ปีที่อาศัยอยู่บริเวณนี้พบว่าเหี้ยมีจำนวนเยอะมาก แต่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คน ไม่เช่นนั้นคงไม่มีประชาชน นักท่องเที่ยวมาใช้บริการเป็นประจำมากเช่นนี้
"มันไม่กล้ากับคนหรอก เจอมันก็วิ่งหนีแล้ว" แก้วให้ความเห็น
ทั้งนี้ สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร(กทม.) เตรียมนำกำลังเจ้าหน้าที่ดำเนินการจับเหี้ย ก่อนนำไปส่งที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี สถานที่ทางธรรมชาติที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ สามารถรองรับสัตว์ต่างๆ ได้จำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้กทม.ได้จับไปปล่อยแล้ว 2 ครั้ง จำนวน 87 ตัว โดยจะกำหนดจับครั้งต่อไปในวันที่ 20 ก.ย.เวลา 09.00 น. นี้
ชาวต่างชาติรายหนึ่งเดินเข้าไปถ่ายภาพตัวเหี้ย ภายในสวนลุมพินี เก็บไว้เป็นที่ระลึก