posttoday

เซอร์วิสชาร์จคือบรรทัดฐาน

02 ตุลาคม 2559

กระตุกต่อมจี๊ด! ขึ้นมาทันที เมื่อ “ค่าบริการ” หรือที่เรียกกันว่าเซอร์วิสชาร์จ (Service Charge)

กระตุกต่อมจี๊ด! ขึ้นมาทันที เมื่อ “ค่าบริการ” หรือที่เรียกกันว่าเซอร์วิสชาร์จ (Service Charge) เซอร์วิสฟี (Service Fee) ซึ่งเคยจ่ายด้วยความเคยชิน โดนสังคมตั้งคำถามว่า ไม่จ่ายได้หรือไม่? ทำไมต้องชาร์จมากถึง 10% กับบริการที่บางครั้งได้มาไม่คุ้มเสีย หากต้องจ่าย ขอจ่ายเท่าภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต 7% หรือจ่ายต่ำกว่าได้หรือไม่

ขณะที่พิจารณาในแง่ของกฎหมายมีกำหนดตามประกาศของ “คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ” ว่าค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ทางร้านเรียกเก็บจะต้องแสดงให้ผู้บริโภคเห็นเด่นชัด ดังนั้น ถ้าเข้าเงื่อนไขว่าร้านแสดงให้เห็นว่ามีเซอร์วิสชาร์จ แล้วลูกค้ายังเข้ามาใช้บริการก็ถือว่าเป็นข้อตกลงระหว่างลูกค้ากับผู้ให้บริการ เมื่อเป็นเช่นนี้ลองมาดูว่า ค่าเหนื่อยที่จ่ายเพิ่มไป ก่อให้เกิดประโยชน์โพดผลอย่างไร กระเด็นไปถึงเป็นภาษีเข้ารัฐด้วยแค่ไหน

เริ่มตั้งแต่ธุรกิจที่คิดเซอร์วิสชาร์จตัวแม่อย่างธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร มาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมเดอะ สุโกศลและสุโกศล เล่าว่า การเก็บค่าบริการในลักษณะของเซอร์วิสชาร์จ (Service Charge) มีความสำคัญมากในธุรกิจโรงแรม เนื่องจากเป็นระบบและมาตรฐานสำหรับการปฏิบัติงานโรงแรม นัยหนึ่งคือหลักปฏิบัติสากลทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยึดถือมายาวนาน

“เซอร์วิสชาร์จสำหรับงานบริการนั้นถือเป็นบรรทัดฐานหรือนอร์ม (Norm) หรือบรรทัดฐานของธุรกิจโรงแรม ถ้าโรงแรมไม่มีระบบเซอร์วิสชาร์จจะทำให้การทำงานของเรามีปัญหามาก ไม่เฉพาะแต่ส่วนของงานบริการเท่านั้น หากเกี่ยวพันไปถึงงานบริหารด้วย” มาริสา เล่า

สำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการของโรงแรมไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากส่วนใหญ่รับทราบและมีความรู้ความเข้าใจในระบบการให้บริการดีอยู่แล้ว งานบริการถ้าไม่มีเซอร์วิสชาร์จก็ไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะในแง่ของพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานระดับล่างที่มีเงินเดือนต่ำ เงินรายได้จากเซอร์วิสชาร์จคือเงินที่ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นแรงจูงใจพัฒนาตัวเอง เพราะยิ่งลูกค้ากลับมาใช้บริการ ก็หมายถึงรายได้ของเขาเองที่มากขึ้น ผลประกอบการโรงแรมก็ดีขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุดในธุรกิจโรงแรมคือ ทรัพยากรบุคคล โรงแรมที่มีผลตอบแทนด้านเซอร์วิสชาร์จสูง มักหมายถึงโรงแรมที่ดึงบุคลากรหรือพนักงานโรงแรมที่มีสกิลหรือทักษะที่ดีได้สูงตามไปด้วย แม้ไม่ใช่ข้อพิจารณาอันดับแรก แต่เป็นข้อที่คนทำงานโรงแรมทุกคนไม่มองข้ามแน่ ปกติพนักงานโรงแรมก็หายากอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนทักษะสูง ยิ่งเป็นกราวด์ฟลอร์ พนักงานส่วนหน้าที่ต้อนรับหรือสัมผัสกับลูกค้าโดยตรงก็ยิ่งหายาก เพราะต้องมีใจรักบริการ ถ้าโรงแรมอื่นเสนอผลตอบแทนสูง ค่าเซอร์วิสชาร์จสูงๆ ก็ดึงคนดีคนเก่งไปหมด

รูปแบบและอัตราการจ่ายเซอร์วิสชาร์จนั้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โรงแรมที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น เกาะสมุย เกาะภูเก็ต หากเป็นไฮซีซั่น บางครั้งพนักงานได้ค่าเซอร์วิสชาร์จสูงถึง 2-4 หมื่นบาท/เดือน แต่ถ้าเป็นโลว์ซีซั่นก็ลดลงมาเหลือ 7,000-8,000 บาท ส่วนโรงแรมใจกลางเมืองจะมีรายรับเฉลี่ยใกล้กันตลอดปี

“สมุย ภูเก็ต เรื่องเซอร์วิสชาร์จนี่ไม่ต้องพูดถึงได้กันเยอะและเป็นกอบกำ พนักงานโรงแรมจะคำนึงเรื่องนี้ พนักงานบางคนได้เซอร์วิสชาร์จมากกว่าเงินเดือนเสียอีก แต่ก็มีเรื่องอื่นที่พวกเขานำมาร่วมคำนวณในการทำงานด้วย เช่น บรรยากาศการทำงาน ความสัมพันธ์เพื่อนร่วมงาน ความเป็นกันเองกับหัวหน้างาน ดังนั้นในมุมมองส่วนตัว การยกเลิกเซอร์วิสชาร์จสำหรับธุรกิจโรงแรม จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะกระทบธุรกิจทั้งระบบ ซึ่งเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหากับร้านอาหารที่ตั้งอยู่นอกโรงแรม ซึ่งถ้าไม่แจ้งก่อนให้บริการ อย่างนั้นผู้รับบริการมีสิทธิปฏิเสธการจ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จได้” มาริสา กล่าว

สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มบริษัท เอเชีย โฮเต็ล ให้ความเห็นว่า เซอร์วิสชาร์จคือค่าบริการที่เป็นธรรมเนียม ซึ่งคนรับบริการจะให้กับคนทำงานในอุตสาหกรรมบริการ โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหารใหญ่ ที่คาดหวังได้ค่าบริการ ดังนั้นก็จะวางระบบบวกค่าบริการเพิ่มไว้อยู่แล้ว ลักษณะนี้เป็นความสมยอมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ขายบวกค่าบริการเซอร์วิสชาร์จเพิ่มไปแล้วบอกผู้ซื้อว่าสิ่งที่ต้องจ่ายเป็นสิ่งที่บวกเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม เซอร์วิสชาร์จไม่ใช่กฎหมายเป็นข้อตกลง เงื่อนไขการซื้อขายกัน หากต่อไปผู้ซื้อบอกว่าไม่ยินดีจ่าย ระบุว่า เป็นเรื่องที่เจ้าของสถานบริการต้องรับผิดชอบเอง คงกลายเป็นประเด็นให้ต้องมาวางเงื่อนไขกันต่อไปเกี่ยวกับการกำหนดค่าธรรมเนียมทางสังคมที่กฎหมายไม่ได้บอกไว้ ที่สุดแล้วประเด็นนี้ก็จะทำให้การนำเสนอราคาของผู้ให้บริการต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยรายที่เคยคิดแยกเซอร์วิสชาร์จออกมาจากค่าสินค้าและบริการที่มีอยู่แล้ว ก็อาจเปลี่ยนวิธีเป็นการคิดรวมไปอยู่ในค่าสินค้าและบริการเลย เพราะหากเป็นเช่นนี้ผู้ซื้อปฏิเสธการจ่ายไม่ได้

สุรพงษ์ กล่าวว่า เซอร์วิสชาร์จ 10% ที่คิดกับผู้ใช้บริการนั้น แต่ละโรงแรมจะมีแจ้งการจัดสรรให้พนักงานไว้ในข้อตกลงการจ้างงานไม่เหมือนกัน บางโรงแรมนำเซอร์วิสชาร์จที่เก็บมา 100% แบ่งให้กับพนักงานทั้งหมดเลย แต่บางแห่งอาจจะแบ่งส่วนหนึ่งของเซอร์วิสชาร์จมาจ่ายให้พนักงาน แล้วอีกส่วนหักเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าวัสดุแตกหักเสียหาย ค่าเสื้อผ้า และสวัสดิการพนักงาน สัดส่วนเท่าไหร่ก็แล้วแต่ข้อตกลงการจ้างงานที่คุยกันไว้ ซึ่งในเมืองไทยมีโรงแรมจ่ายเซอร์วิสชาร์จทั้งสองรูปแบบ

ทั้งนี้ หากเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว รายได้จากเซอร์วิสชาร์จที่พนักงานแต่ละคนจะได้อาจอยู่ในหลัก 1 หมื่นบาทขึ้นไปต่อเดือน ผันแปรไปตามยอดใช้บริการ ซึ่งบางครั้งอาจสูง 40-50% ของเงินเดือนด้วยซ้ำ ส่วนโรงแรมบางแห่งอาจจ่ายอัตราคงที่ (ฟิกซ์) เพราะโรงแรมไม่ได้มีค่าเซอร์วิสชาร์จจากลูกค้ามาก กลุ่มนี้เซอร์วิสชาร์จจะเป็นสัดส่วน 20-30% ของเงินเดือน

ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีวาน่า กรุ๊ป ผู้บริหารโรงแรมในภูเก็ตและกระบี่ กล่าวว่า สำหรับดีวาน่า ปกติแล้วเมื่อเก็บเซอร์วิสชาร์จมาแล้ว จะมีส่วนหนึ่งที่นำไปหักรายจ่ายจากกรณีพนักงานทำแก้วตกแตก หรือของในโรงแรมเสียหาย แต่ถ้าค่าใช้จ่ายส่วนนี้มากเกินไปก็จะหักไปแค่ส่วนหนึ่งแล้วค่อยหักที่รายบุคคลส่วนที่เหลือ ขณะที่หลังหักรายจ่ายส่วนนี้ไปแล้วที่เหลือก็จะนำไปหารให้กับพนักงานในโรงแรมทั้งหมดในสัดส่วนเท่ากันทั้งพนักงานส่วนงานหน้าบ้านและหลังบ้าน

“ที่ผ่านมาโรงแรมแต่ละแห่งมักแข่งกันประกาศว่าใครจ่ายเซอร์วิสชาร์จให้พนักงานได้ดีกว่ากัน โดยมีช่องทางเว็บไซต์ที่แต่ละโรงแรมมานำเสนอผลงานตัวเอง เพื่อจูงใจให้คนอยากมาทำงานด้วย หากโรงแรมไหนจ่ายน้อยอาจต้องใส่เงินสมทบ เพื่อไม่ให้คนย้ายงาน” ศึกษิต กล่าว

ขณะที่ธุรกิจร้านอาหาร ชยพล หลีระพันธ์ กรรมการบริหาร บริษัท มัลลิการ์ อินเตอร์ฟู้ด ให้ความเห็นว่า การเก็บเซอร์วิสชาร์จถือเป็นเรื่องปกติของธุรกิจบริการที่มีระดับ ซึ่งทั่วโลกทำกันอยู่แล้ว โดยก่อนจะเก็บเซอร์วิสชาร์จทางร้านก็แจ้งให้ลูกค้าทราบอยู่แล้ว ส่วนร้านอาหารประเภทควิกเซอร์วิสส่วนใหญ่จะไม่มีเซอร์วิสชาร์จ เพราะพนักงานให้บริการน้อยมาก

สำหรับร้านเรือนมัลลิการ์ ซึ่งเป็นร้านอาหารในเครือของบริษัท ปัจจุบันเก็บเซอร์วิสชาร์จประมาณ 10% เนื่องจากบริการแตกต่าง ภาชนะที่ใส่อาหาร หรืออาหารจะแกะสลักสวยงาม ซึ่งเซอร์วิสชาร์จ 10% ที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก ยกเว้นสหรัฐที่จะคิดค่าทิป 10-20%

“เงินที่ได้จากเซอร์วิสชาร์จจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ให้เป็นสวัสดิการกับพนักงาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และ 2.นำไปซื้ออุปกรณ์ที่เสียหาย นอกจากนี้นำไปมอบเป็นทุนการศึกษา ดังนั้นเซอร์วิสชาร์จจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ” ชยพล กล่าว

ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จกับผู้บริโภคไม่ควรมี เพราะขณะนี้ไม่มีกฎหมายอะไรมารองรับ เพราะฉะนั้นผู้บริโภคก็ไม่ควรจ่าย ยกเว้นจะมีการออกประกาศ หรือตั้งกฎระเบียบขึ้นมาให้ชัดเจนว่าควรต้องจ่าย แต่ถึงอย่างไรส่วนตัวมองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวว่ากำลังถูกเเอาเปรียบทั้งๆ ที่ไม่ได้รับบริการอะไรเพิ่มเติมกว่าปกติ

“การแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวไม่ถึงขั้นต้องทำเป็นกฎหมาย แต่เมื่อเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายแล้ว ก็ไม่ควรเก็บค่าบริการเพิ่มเติม หากผู้ให้บริการจะเก็บเพิ่มจริง ควรทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าได้รับบริการที่แตกต่างจากปกติ เช่น กินน้ำผลไม้ทุกอย่างฟรี ส่วนการที่บางร้านแอบขึ้นราคาผ่านค่าบริการต่างๆ ตรงนี้มองว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค การคิดแวตเป็นการเก็บตามกฎหมาย แต่เก็บเซอร์วิสชาร์จเพิ่ม ทำให้ต้องเสียรวมกันถึง 17.8% หรือเกือบ 20% ของราคาค่าอาหารจึงคิดว่าสูงเกินเกินไป” สารี ระบุ

รายงานข่าวจากกรมสรรพากรชี้แจ้งว่า กรณีค่าบริการ (Service Charge) ที่บริษัทเรียกเก็บจากลูกค้าทุกราย ถือเป็นรายได้ของกิจการหรือเกี่ยวเนื่องจากกิจการตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร โดยบริษัทจะต้องบันทึกบัญชีตามหลักการบัญชีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และการที่บริษัทต้องจ่ายเซอร์วิสชาร์จ ให้แก่ลูกจ้างของบริษัทไม่มีผลให้ฐานภาษีของบริษัทลดลงแต่อย่างใด