posttoday

สมเด็จย่า แบบอย่างของในหลวง

14 ตุลาคม 2559

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทยทรงมีวิธีการเลี้ยงดูลูกที่มีทั้งความปราดเปรื่อง หลักแหลม และมีเป้าหมายที่ชัดเจน

โดย...กองทรัพย์ ชาตินาเสียว

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ทรงมีวิธีการเลี้ยงดูลูกที่มีทั้งความปราดเปรื่อง หลักแหลม และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ดังเช่นตอนหนึ่งในจดหมายที่ทรงเขียนถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๗๖ ซึ่งระบุในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

“...ลูกของหม่อมฉัน หม่อมฉันรักอย่างดวงใจ และหม่อมฉันมีความตั้งใจอยู่เสมอที่จะนำให้ลูกไปในทางที่ถูกที่ดี สำหรับจะได้เป็นประโยชน์แต่ตัวเอง ญาติ และบ้านเมือง ตัวของหม่อมฉันเองทำประโยชน์อะไรให้บ้านเมืองไม่ได้มาก แต่ถ้าได้ช่วยลูกๆ ให้ได้รับความอบรมและเล่าเรียนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แล้ว หม่อมฉันก็จะรู้สึกอิ่มใจเหมือนกัน”

สมเด็จย่าทรงเริ่มจากการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ทำเป็นต้นแบบในเรื่องของการมีวินัย การรักการค้นคว้าศึกษาหาความรู้ การประพฤติตัวที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

สมเด็จย่า แบบอย่างของในหลวง

๑.ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

สมเด็จย่าทรงสอนให้ในหลวงรู้จักการใช้แผนที่และภูมิประเทศของไทย โดยโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนเพาะช่างทำแผนที่ประเทศไทยเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ เพื่อให้ทรงเล่นเป็นจิ๊กซอว์ ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปยังสถานที่ใด จะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์อยู่ ๓ สิ่ง คือ แผนที่ ซึ่งทรงทำขึ้นเอง กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบ โดยเวลาทรงงานจะทรงใช้ยางลบเสมอ เมื่อทรงพบเห็นอะไรก็จะทรงขีดเขียนลงบนแผนที่ เช่นเดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงกระทำมาก่อน

ขณะเดียวกัน ในหลวงก็โปรดการถ่ายรูปและถ่ายภาพยนตร์ เช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมราชชนนี โดยทรงเป็นนักถ่ายรูปที่มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงจัดทำห้องมืดขึ้นที่ชั้นล่างตึกทำการสถานีวิทยุ อ.ส. ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ส่วนใหญ่เป็นแบบฉับพลันทันเหตุการณ์ ซึ่งทรงบันทึกไว้ระหว่างเสด็จฯ ไปตามสถานที่ต่างๆ

สมเด็จย่า แบบอย่างของในหลวง

๒.ประหยัด อดออม ไม่ฟุ่มเฟือย

สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสอนพระโอรส พระธิดา ให้รู้จักใช้เงิน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ตรัสเล่าในเรื่องการประหยัด ดังนี้ “ในการประหยัดก็ได้จัดให้มีเงินค่าขนม สัปดาห์ละครั้งตามอายุ และก็ได้ไม่มากนัก แต่ถ้าจะซื้อหนังสือหรือของเล่น ท่านก็บอกว่าถึงวันเกิดจะซื้อให้ จะไม่ซื้อพร่ำเพรื่อ”

ของขวัญที่ทั้งสามพระองค์จะได้มีวันเดียว คือ วันคล้ายวันประสูติ ถ้าพระองค์ใดอยากได้สิ่งใดนอกจากนั้น ต้องทรงเก็บเงินเพื่อซื้อ หรือทรงได้รับอนุญาตให้หุ้นกันเพื่อซื้อมาได้ หรือจะทรงซื้อให้ก็ต่อเมื่อต้องใช้ประโยชน์ เช่น แผ่นเสียง ถ้าเป็นเพลงโปรดของแต่ละพระองค์ จะทรงให้เก็บสตางค์ซื้อเอง แต่ถ้าเป็นเพื่อการศึกษา เช่น เพลงคลาสสิก จะทรงซื้อให้ พระองค์ทรงอนุศาสน์สั่งสอนทั้งการศึกษาและความประพฤติ

สมเด็จย่า แบบอย่างของในหลวง

๓.การให้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก “การให้” โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสิน เรียกว่า “กระป๋องคนจน” เอาไว้ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก “เก็บภาษี” หยอดใส่กระปุกนี้ ๑๐% ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน นอกจากนี้ ยังทรงเน้นในอีกหลายเรื่อง เช่น ต้องเสวยให้หมดจาน ห้ามทิ้งอาหาร การตรงต่อเวลา “ทุกอย่างที่ทำต้องทำตามเวลา...ต้องตรงเวลา และเรื่องการรับประทานอาหารก็ต้องเป็นเวลาเหมือนกัน ต้องมีระเบียบในด้านนี้”

นี่เป็นเพียงสังเขปของเรื่องราวในวัยเยาว์ของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ด้วยเพราะเหตุนี้เช่นไรเล่า เหล่าพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่าจึงมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถทุกด้าน เนื่องจากทรงมีต้นแบบที่มีสายพระเนตรอันยาวไกล และเห็นแก่ประโยชน์บ้านเมืองเป็นที่ตั้งเช่นนี้

สมเด็จย่า แบบอย่างของในหลวง