ทำไม... คนไทยรักในหลวง
"อยากให้มองลึกลงไปยังโครงการพระราชดำริต่างๆ ของพระองค์ ที่ทรงให้บทเรียนแก่เรา ซึ่งแต่ละโครงการที่พระองค์ลงไปแก้ไข แท้จริงแล้วคือบทเรียนที่พระองค์ท่านอยากให้ประชาชนทำตามนี้เถิด"
โดย...กองทรัพย์ ชาตินาเสียว
ทรงห่วงใยคนไทยทุกหมู่เหล่า
เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ผู้รับสนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาท หลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในพุทธศักราช ๒๕๔๔ เล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านได้เข้าไปในห้องสมุดในพระบรมมหาราชวัง เห็นกองหนังสือยังไม่ได้จัดเข้าชั้น "ทราบจากบรรณารักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพิ่งทรงพระอักษร แล้วพระราชทานหนังสือกลับมาคืนห้องสมุด ประชาชนคนไทยทราบดีว่าพระองค์ท่านสนพระราชหฤทัยหาความรู้เรื่องต่างๆ ตลอดเวลา ซึ่งแต่ละเรื่องนอกจากทรงรู้ก่อนแล้ว ยังทรงรู้ลึกซึ้งอีกด้วย
ภาพประทับใจที่ชีวิตนี้ผมมิอาจลืมเลือนได้ก็ย้อนมา สมัยที่อยู่ชมรมผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล พระองค์ท่านทรงมีพระเมตตาให้พวกเราเข้าเฝ้าฯ ปีละครั้ง ครั้งหนึ่งมีพระราชดำรัสเตือนเป็นทำนองว่า “คนไทยกินข้าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จะกินขนมปังมื้อสองมื้อก็คงได้ แต่จะให้กินตลอดคงไม่ได้ กินข้าวอร่อยเพราะว่าอร่อยมาตลอดชีวิต แล้วถ้ามีอยู่วันหนึ่งเราเอานาไปทำอย่างอื่นหมดแล้ว ต้องไปซื้อข้าวที่บรรทุกมาในเรือบรรทุก แล้วก็แพงมากกว่าที่เราปลูกได้แล้ว คิดถึงชาวบ้านที่เขายากจน เขาต้องซื้อข้าวแพง คงไม่ได้”
พระองค์ท่านเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกข้าว ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลมากๆ สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้แก่คนไทยตลอดมา จะเห็นว่าวางอยู่บนรากฐานของความรู้จริง
พระมหากษัตริย์ผู้ให้
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ระบุไว้ในบทความในหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี ไว้ดังนี้... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้จักทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย แผนที่ของพระองค์ท่าน เรียกได้ว่าดีและละเอียดกว่าของทุกๆ คน เพราะทรงบันทึกขึ้นมาจากการเสด็จฯ ด้วยพระองค์เอง เป็นที่ตระหนักแน่แก่ใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอดส่องถึงทุกปัญหาความลำบากของประชาชน ถึงแม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ เป็นเพียงหมู่บ้านเดียว แต่ก็ทรงห่วงใยเท่าเทียมเสมอเหมือนกันหมด
เวลาออกไปเยี่ยมพื้นที่ประสบภัย แนวทางหนึ่งที่ผมได้จากพระองค์ท่านมาตั้งแต่สมัยรับราชการทหารและนำมาใช้จนถึงทุกวันนี้คือ การฟังความทุกข์ของประชาชน เราจะไม่เอาความคิดของเราไปใส่เขา จะฟังเขา แล้วค่อยๆ สอดแทรกข้อคิดเห็นของเราเข้าไป และเมื่อชาวบ้านเห็นด้วยเราค่อยดำเนินการ นี่คือหลักที่ได้พระราชทานแนวทางไว้เสมอว่า “ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทำ เราอย่าไปคิดแทนเขา”
การลงพื้นที่ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ หลายครั้ง ทำให้ผมได้รู้ซึ้งถึงความจริงข้อหนึ่ง นั่นคือ ประชาชนส่วนใหญ่มีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากมาย ถึงแม้พวกเขาจะไม่มีโอกาสได้เฝ้าฯ รับเสด็จ เพราะพระองค์ท่านไม่ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานอย่างเมื่อก่อน แต่ทุกแววตาที่ผมได้สบ ล้วนเปี่ยมไปด้วยรอยระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ผมเชื่อว่าอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว
พระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ “ผู้ให้” อย่างแท้จริง
พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รัก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรชาวไทยมาเนิ่นนาน นับเนื่องมาแต่ทรงขึ้นครองราชย์จวบจนปัจจุบัน พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายทรงงานอย่างหนักโดยมิได้รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เพราะหวังให้ประชาชนทุกคนอยู่ดีมีสุข พระองค์จึงทรงเป็นพ่อของแผ่นดินที่ประทับอยู่ในดวงใจของชาวไทยทุกผู้ทุกนาม
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้ประชาชนทุกคน ทุกหมู่เหล่า รักและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ไว้ว่า การที่ประชาชนรักและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้แก่เราชาวไทยมาโดยตลอด
"เป็นคำง่ายๆ ที่มาจากพระองค์ท่านเอง เนื่องจากวันหนึ่งพระองค์ท่านรับสั่งถามผมว่า 'รู้ไหม ประเทศไทยอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้เพราะอะไร' ซึ่งตอนนั้นผมก็ตอบพระองค์ท่านไม่ได้เหมือนกัน (ยิ้ม) ผมจึงรอคำตอบจากพระองค์ท่าน
"พระองค์ท่านรับสั่งว่า ทุกวันนี้ที่ประเทศไทยอยู่รอดมาได้เพราะคนไทยยังให้กันอยู่ ลองสังเกตดูว่าตอนที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้รับความเดือดร้อน ก็จะมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งรีบเข้าไปให้ความช่วยเหลือทันที จึงย้อนกลับมาที่คำถามที่ว่า 'ทำไมประชาชนถึงรักและเทิดทูนในหลวง' นั่นก็เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ทุกอย่างแม้กระทั่งพระวรกาย วันนี้แม้เสด็จพระราชดำเนินไม่ได้เพราะทรงงานหนักมาตลอดระยะเวลาร่วม ๗๐ ปี ซึ่งผมเองยังมีโอกาสตามเสด็จฯ แค่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ถามว่าพระองค์ท่านทรงงานสบายหรือ ซึ่งก็ไม่ใช่ พระองค์ทรงงานด้วยพระวรกายอย่างหนัก โดยเสด็จเยือนถิ่นทุรกันดารด้วยความเหนื่อยยากลำบาก เพราะพระองค์ท่านอยากเสด็จฯ ไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ยังลำบากหรือยังขาดแคลนอยู่
"เหนือสิ่งอื่นใด อยากให้มองลึกลงไปยังโครงการพระราชดำริต่างๆ ของพระองค์ ที่ทรงให้บทเรียนแก่เรา ซึ่งแต่ละโครงการที่พระองค์ลงไปแก้ไข แท้จริงแล้วคือบทเรียนที่พระองค์ท่านอยากให้ประชาชนทำตามนี้เถิด ขอให้ไปศึกษาเถิด บริหารน้ำยังไง ปลูกป่ายังไง ทำไมต้องทำฝายชะลอน้ำ พระองค์ท่านสอนเกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งก็คือส่วนประกอบของชีวิตคนเรา ถ้าเราไม่มีดิน น้ำ ลม ไฟ เราก็อยู่ไม่ได้ พระองค์จึงทรงพยายามไปซ่อมแซมสิ่งที่เสียไป และทรงพยายามรักษาสิ่งที่เหลืออยู่เอาไว้ แล้วทรงพัฒนาต่อยอดขึ้นไปเพื่อให้อยู่ในสภาพที่ดียิ่งขึ้น”
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ให้มาตลอด ฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรให้พระองค์ท่านบ้างก็คือ ความรัก เคารพ เทิดทูน และบูชาพระองค์ท่าน เพราะเราไม่รู้จะให้อะไรพระองค์ได้ แต่ในความเห็นของผมแล้ว สิ่งที่เราทุกคนสามารถถวายให้พระองค์ท่านได้ก็คือ เราลงมือทำเองได้ไหม พระองค์ท่านทำมาแล้วร่วม ๗๐ ปีเพื่อเรา ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องทำด้วยตนเองบ้าง โปรดทำตามที่พระองค์ท่านสอนเกี่ยวกับดิน น้ำ และต้นไม้ ซึ่งประโยชน์ส่วนใหญ่ก็จะตกแก่เราเองทั้งนั้น ถือเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชนทุกคน ขอเพียงให้เริ่มทำเท่านั้น ประเทศชาติของเราก็จะได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูให้ดีได้ในวันข้างหน้า เพราะอย่าลืมว่าเราต้องยกสิ่งเหล่านี้ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานของเราต่อไปในภายภาคหน้า
ทรงทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สิ่งที่ทำให้ราษฎรรักและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมุมมองของ วารินทร์ บุษบรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมการเกษตร ที่ปรึกษาอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหนึ่งในข้าราชบริพารที่ถวายงานใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมานานกว่า ๓๐ ปี โดยได้ถวายงานมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๖ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส
“ครั้งนั้นทรงไปหาข้อมูลว่าปักษ์ใต้จะพัฒนาอะไรดี สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ความสนใจมากที่สุดคือ น้ำ เนื่องจากมีน้ำท่วมที่ภาคใต้ราว ๓ แสนไร่ นราธิวาสต้องแก้ไขปัญหาน้ำก่อน สองคือต้องพัฒนาที่ดิน เพื่อดูการเพาะปลูกและต้องดูว่าอะไรเหมาะ การพัฒนาดินน้ำเพื่อปลูกพืชให้ได้ประโยชน์ที่สุด จนพุทธศักราช ๒๕๒๕ จึงเกิดศูนย์การศึกษาพิกุลทอง ปัจจุบันผมก็ยังทำงานถวายงานดูแลเรื่องข้าวอยู่”
ทำไมคนไทยจึงรักในหลวง วารินทร์ ในฐานะที่รับราชการมาตลอด ๔๖ ปี กล่าวว่า เพราะคนไทยถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของคนไทย
“ในหลวงพระราชทานหลักในการทรงงานให้แก่ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า มีทั้งหมด ๒๔ ข้อ อาทิ ๑.คือการทำงานทุกอย่างจะต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ๒.คือจะต้องระเบิดจากข้างใน ๓.ต้องแก้ปัญหาจากจุดเล็กไปสู่จุดใหญ่ ในระดับหมู่บ้าน ตำบล สู่ระดับจังหวัด หรือแม้กระทั่งข้อที่ ๗ คือการทำงานอย่าติดตำราหนึ่งตำราใด ต้องศึกษาทุกตำราแล้วเอาเล่มที่ง่ายที่สุดมาทำก่อน หรือข้อสุดท้าย คือการทำงานจะต้องมีความอดทน อดกลั้น มุ่งมั่น มีความเป็นธรรม
"ซึ่งหลักการทำงานที่พระองค์พระราชทานนี้จะส่งผลดีก็คือสามารถแก้ปัญหา อันดับแรกพระองค์ต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน ให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ พร้อมที่จะยกระดับรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น จากพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์การศึกษาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส จากเดิมราษฎรมีรายได้จากการปลูกข้าวไร่ละ ๑๐ ถัง และประชาชนมีรายได้ ๘,๙๑๘ บาทต่อเดือนต่อปี แต่เมื่อมีการพัฒนารักษาดินเปรี้ยว และบริหารการจัดการน้ำได้ผล
"ปัจจุบันชาวบ้านหลายตำบลของนราธิวาสสามารถทำนาได้ ๕๐-๖๐ ถังต่อไร่ ผลที่ออกมา ทำให้ชาวบ้านมีข้าวกิน ผลผลิตต่อไร่ดีขึ้น อีกทั้งชาวบ้านสามารถแปรรูปข้าวไปขายได้กิโลกรัมละ ๙๐-๑๐๐ บาท ทำให้ปากท้องและคุณภาพของชาวบ้านดีขึ้นไปอีก”