posttoday

ทรงมุดลวดหนาม หาแหล่งน้ำให้ราษฎร

18 ตุลาคม 2559

ความห่วงใยราษฎรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นที่ประจักษ์มาโดยตลอดรัชกาล หากประชาชนยังคงเดือดร้อน ต้องเสด็จพระราชดำเนินฯ ไปพระราชทานความช่วยเหลือ

โดย...ยงยุทธ ภูพวงเพชร

ความห่วงใยราษฎรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เป็นที่ประจักษ์มาโดยตลอดรัชกาล หากประชาชนยังคงเดือดร้อน ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ยากลำบากเพียงใด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ต้องเสด็จพระราชดำเนินฯ ไปพระราชทานความช่วยเหลือ

“ถนนดิสโก้” บ้านกุดสิม ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เป็นที่หนึ่งซึ่งเป็นประจักษ์ว่าไม่มีพื้นที่ใดในประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปไม่ถึง

ในอดีตนั้น อ.เขาวง เป็นพื้นที่แห้งแล้ง ทำนาไม่ได้ผล อีกทั้งยังห่างไกลและทุรกันดาร

ณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผวจ.กาฬสินธุ์ เล่าย้อนที่มาของถนนดิสโก้แห่งนี้ ว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านกุดสิม ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ และเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเห็นสภาพภูมิประเทศลำพะยัง โดยเสด็จพระราชดำเนินผ่านทางเกวียนที่ขรุขระ รถยนต์ที่ประทับแกว่งไปมา จนพระองค์ทรงรับสั่งเรียกถนนเส้นนี้ว่า “ถนนดิสโก้”

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินท่ามกลางความมืดไปในทุ่งนาตะปุ่มตะป่ำ มีไฟฉายส่องทาง เพื่อหาแหล่งน้ำให้กับราษฎร มาถึงแนวรั้วลวดหนามที่ราษฎรกั้นเอาไว้ คณะผู้ติดตามจะตัดลวดหนาม เพื่อให้เสด็จพระราชดำเนินผ่าน แต่พระองค์รับสั่งว่า ไม่ต้องตัด ทรงง้างลวดหนาม แล้วพระองค์ทรงมุดเข้าไป” ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าว

พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยราษฎร ทำให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในดินแดนภูไทเขาวง โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้ภูเขา ทำให้ อ.เขาวง พัฒนา “ถนนดิสโก้” เป็นจุดศึกษาเส้นทางการทรงงาน แสดงให้เห็นว่าไม่มีพื้นที่ใดในประเทศที่พระองค์ทรงไปไม่ถึง

ทรงมุดลวดหนาม หาแหล่งน้ำให้ราษฎร

 

นอกจากนี้ ยังเกิดโครงการขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน พื้นที่ซึ่งเคยแห้งแล้งก็เปลี่ยนเป็นอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันข้าวเขาวงขึ้นชื่อเป็นข้าวคุณภาพดีโด่งดังทั่วประเทศ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณพ่อหลวงของปวงไทย

นอกจาก อ.เขาวงแล้ว ราษฎรในพื้นที่ข้างเคียงอย่าง อ.ร่องคำ และกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ก็ประจักษ์ในน้ำพระทัยเมตตตา ห่วงใยราษฎรอย่างเต็มเปี่ยม เรืองศิลป์ ยุบลมาตย์ ราษฎรหมู่ 1 ต.โพนงาม อ.กมลาไสย เล่าว่า เดิมพื้นที่รอบหนองเลิงเปือยนั้นประสบปัญหาฝายเก็บกักน้ำชำรุด และหนองเลิงเปือยเกิดการตื้นเขิน ซึ่งถึงฤดูฝนก็จะเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรใน ต.โพนงาม อ.กมลาไสย และ ต.เหล่าอ้อย อ.ร่องคำ เป็นประจำทุกปี แต่เมื่อถึงหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตร

แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อราษฎรผู้เดือดร้อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการขุดลอกหนองเลิงเปือยและซ่อมแซมฝายเป็นโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนทำให้ปัจจุบันพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมในช่วงหน้าฝนและขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพราะมีน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตรกับประชาน 53 หมู่บ้าน 4 ตำบล รวม 42,958 ไร่ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ปัจจุบันเกษตรกรรอบหนองเลิงเปือยทั้งสองอำเภอ ยังได้น้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินชีวิตประจำวัน โดยการปลูกพืชผสมผสาน ทำการเกษตรอินทรีย์ ทั้งพืชผักสวนครัว ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ การประมง ยึดวิถีชีวิตแบบพอเพียง ซึ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดี สร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้ตั้งที่ทำการชาวนาขึ้นมา ปัจจุบันอย่างน้อย 15 แห่ง ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้แปลงต้นแบบเกษตรประยุกต์ทฤษฎีใหม่ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้อีกด้วย โดยเกษตรกรทุกคนนั้นล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่จะเดินตามรอยพ่อ ทั้งการยึดหลักและพระราชปณิธานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรผสมผสาน รวมทั้งจะถ่ายทอดความรู้ต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

ทรงมุดลวดหนาม หาแหล่งน้ำให้ราษฎร