ภาษีใหม่สรรพสามิตร้อน ล้วงความลับราคาผู้ผลิต
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต เดินหน้ามาถึงขั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 อย่างรวดเร็ว โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มีการรวมกฎหมายต่างๆ ของกรม 7 ฉบับ ให้เหลือฉบับเดียว พร้อมทั้งเปลี่ยนการใช้ราคาขายปลีกแนะนำมาเป็นฐานการเก็บภาษีแทนราคาหน้าโรงงาน หรือราคาสำแดงนำเข้า (ราคาซีไอเอฟ) เพื่อแก้ปัญหาการสำแดงราคาต่ำกว่าเป็นจริง ทำให้เก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น และผู้ผลิตไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบต่อกัน
ขณะเดียวกัน กรมสรรพสามิต ประเมินว่า กฎหมายภาษีใหม่จะทำให้ผู้ประกอบการสินค้าต้องเสียภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่าไม่ต้องการภาษีมากขึ้นจากกฎหมายภาษีใหม่ เพราะผู้ประกอบการจะผลักภาระไปให้กับประชาชน หลังจากกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ กรมสรรพสามิตจะประกาศลดอัตราภาษีลดลง เพื่อให้ผู้ประกอบการมีภาระภาษีใกล้เคียงกับกฎหมายเก่ามากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การเดินหน้ากฎหมายภาษีสรรพสามิตใหม่เริ่มมีประเด็นร้อนขึ้น เมื่อการพิจารณาในขั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนส่งร่างกฎหมายให้ สนช.ได้เพิ่มเติมถ้อยคำในร่างกฎหมาย จนทำให้ผู้ประกอบการร้อนๆ หนาวๆ ไปตามกัน โดยเฉพาะคำนิยามราคาขายปลีก และการส่งความลับโครงสร้างราคาขายปลีกของผู้ผลิตให้กรมสรรพสามิตตรวจสอบ
ทั้งนี้ ในมาตรา 17 ของร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ระบุไว้ว่า “ราคาขายปลีกแนะนำให้คำนวณจากต้นทุนการผลิตค่าบริหารจัดการ และกำไรมาตรฐาน จะต้องไม่ต่ำกว่าราคาขายต่อผู้บริโภคทั่วไปรายสุดท้ายในตลาดปกติ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่ราคาขายปลีกแนะนำไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือไม่เป็นไปตามกลไกตลาด หรือไม่สามารถกำหนดราคาตามวรรคสองได้ ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศราคาขายปลีกแนะนำ เพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี โดยกำหนดจากราคาขายหรือราคานำเข้าตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”
และในมาตรา 18 ระบุว่า “เพื่อประโยชน์ในการกำหนดมูลค่าที่ใช้ในการคำนวณภาษีตามมาตรา 17 (1) ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้า แจ้งราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำต่ออธิบดี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกแนะนำที่แจ้งไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าแจ้งเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำต่ออธิบดี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”
ใน 2 มาตรการดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการผู้ผลิตมีความวิตกอยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นแรกที่ผู้ประกอบการเป็นห่วงมากที่สุดคือ การที่ผู้ประกอบการต้องส่งโครงสร้างราคาขายปลีกให้อธิบดีกรมสรรพสามิตตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นความลับทางการค้าที่สำคัญ ซึ่งปกติผู้ผลิตจะไม่ยอมเปิดเผยอยู่แล้ว
ประเด็นต่อมา เรื่องนิยามของราคาขายปลีกที่ร่างเดิมเมื่อครั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ระบุไว้ว่าให้ใช้ราคาขายปลีกแนะนำเท่านั้น แต่พอชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เพิ่มเติมขยายความว่า “ราคาขายปลีกแนะนำให้คำนวณจากต้นทุนการผลิต ค่าบริหารจัดการ และกำไรมาตรฐาน ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาขายต่อผู้บริโภคทั่วไปรายสุดท้ายในตลาดปกติ” ซึ่งจะมีปัญหาตีความกันภายหลัง เช่น ค่าบริหารจัดการและกำไรมาตรฐานเป็นอย่างไร หรือประเด็นราคาขายปลีก ที่ผู้ประกอบการไม่ต้องการให้นำภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) มารวมไว้ รวมทั้งไม่ให้นำภาษีที่หักโดยตรงเข้ากองทุนต่างๆ มารวมด้วย เพราะกลัวว่าต่อไป ถ้าเก็บภาษีโดยตรงเพิ่มขึ้นอีก ราคาขายปลีกจะสูงขึ้นตามผู้ประกอบการต้องเสียภาษีมากขึ้น
ปัจจุบันการเก็บเงินภาษีบาปส่งตรงให้กับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 2% องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส 1.5% และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 2% รวมเป็นเงิน 8,000-9,000 ล้านบาท และรัฐบาลมีนโยบายให้เก็บภาษีบาปตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุในอนาคตเพิ่ม เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวลมากอีกเรื่องหนึ่งคือ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่จากเดิมที่คิดว่า การใช้ราคาขายปลีกแนะนำมาเป็นฐานในการเสียภาษีจะช่วยลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ให้ลดลง แต่เมื่อกฎหมายยังเขียนไว้ว่า หากอธิบดีกรมสรรพสามิตไม่เชื่อในราคาขายปลีกที่ผู้ประกอบการยื่น อธิบดีมีอำนาจประกาศราคาขายปลีกใหม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการมองว่าไม่ต่างกับร่างกฎหมายเดิม ที่อธิบดีไม่เชื่อราคาหน้าโรงงาน หรือราคาสำแดงนำเข้า ก็สามารถประกาศราคาใหม่ เพื่อใช้เป็นฐานในการเก็บภาษีได้
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นการพิจารณาร่างกฎหมายของ สนช. ในวาระ 2 ระบุว่า ข้อกังวลของผู้ประกอบการทั้งหมดจะมีการแปรญัตติกันในกรรมาธิการ คาดว่าจะให้ข้อยุติที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย การเพิ่มถ้อยคำในกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นวิธีการเขียนกฎหมายที่มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งต้องแปรญัตติกันอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานและกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ได้ทันในปีหน้า
ดังนั้น การเดินหน้ากฎหมายภาษีสรรพสามิตใหม่ในชั้นการพิจารณาวาระ 2 จึงมีความละเอียดอ่อนสูง เพราะกฎหมายภาษีสรรพสามิตใหม่มีเป้าหมายที่ดี ในเรื่องของการปฏิรูปการเก็บภาษีให้เป็นธรรมโปร่งใสมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บมากขึ้น มีการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการตั้งราคาต่ำ
อย่างไรก็ตาม การเขียนกฎหมายให้มีอำนาจไปล้วงความลับทางการค้าอาจจะไม่เป็นผลดีกับประเทศ เพราะนักลงทุนอาจจะกลัวและไม่ยอมมาลงทุนหรือมาผลิตทำการค้าการขายกับประเทศ
ขณะเดียวกัน การผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการก็ต้องไม่บั่นทอนลดประสิทธิภาพการจัดเก็บให้น้อยลง ถึงแม้ว่าการแก้กฎหมายใหม่ครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเก็บภาษีเพิ่ม แต่การเก็บรายได้ให้กับประเทศก็ยังมีความสำคัญ เพราะประเทศยังต้องใช้เงินลงทุนอีกจำนวนมาก ดังนั้นการพิจารณากฎหมายสรรพสามิตใหม่ของ สนช. ในวาระ 2 จะต้องหาสมดุลของสาระสำคัญกฎหมายให้ลงตัวทุกฝ่าย เพื่อให้กฎหมายนี้เป็นก้าวสำคัญของปฏิรูปภาษีอย่างแท้จริง