posttoday

ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

22 ตุลาคม 2559

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 21 ต.ค.แทนรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ตอนหนึ่งระบุว่า แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ “พระราชดำริ” คือแนวคิดและปรัชญา “พระราชดำรัส” คือ คำสั่งสอน ตักเตือน ให้สติ “พระราชกรณียกิจ” คือ หลักการทรงงาน และ “พระราชจริยวัตร” ของพระองค์ คือการประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ปวงพสกนิกรชาวไทย ซึ่งจะยังคงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป

พระองค์ได้ทรง “พูดให้ได้คิดสอนให้เกิดปัญญา และทำให้เห็นประจักษ์” ด้วยพระองค์เองตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ “ศาสตร์พระราชา” เหล่านั้น สามารถน้อมนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ตั้งแต่การประกอบกิจวัตรประจำวันและสัมมาชีพของแต่ละ “บุคคล” ไปจนถึง การบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางให้กับรัฐบาลและข้าราชการทุกคน

ทั้งนี้ “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งได้รับการยกย่องในเวทีระดับโลก และสอดคล้องกับ “วาระของโลก” คือเป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ขององค์การสหประชาชาติ (SDG 2030) คือ อีก 15 ปีข้างหน้านะครับ ได้แก่ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy Philosophy : SEP) ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยมากว่า 40 ปี นอกจากนี้ได้รับการเชิดชูสูงสุดจากองค์การสหประชาชาติ (UN) โดย โคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ขณะนั้น ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์”

สำหรับการ “ต่อยอด-ขยายผล” หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งในเวที จี77, จี20 และเอซีดี ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลได้นำเสนอผลสำเร็จในการพึ่งพาตนเอง สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับฐานราก เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความสมดุลในทุกมิติ รวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ผ่าน “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง ตามภูมิภาคที่แตกต่าง

ในส่วน “ศาสตร์พระราชา” ที่เกี่ยวกับน้ำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นพิเศษ ทรงให้ความสำคัญในลักษณะ “น้ำคือชีวิต” ดังพระราชดำรัส ตอนหนึ่งว่า “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้...”

หลายโครงการที่เกิดขึ้น เช่น โครงการฝนหลวงเพื่อแก้ภาวะแห้งแล้ง โครงการแก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริคลองลัดโพธิ์ เป็นการบริหารจัดการน้ำ โดยบูรณาการงานหลายหน่วยงาน โดยช่วยลดระยะ ทางการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาจาก 18 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 600 เมตร นอกจากนี้ยังใช้ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ รวมอยู่ในโครงการเดียวกันด้วย นับว่า “1 โครงการ ได้ประโยชน์ 2 ประการ”

รัฐบาลได้น้อมนำแนวทางแก้ปัญหาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก มาจัดทำเป็น “แผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการทั้งระบบ” ระยะยาว 12 ปีซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ “ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง”

นอกจากนี้ รัฐบาลจะสืบสานพระราชปณิธาน ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีมากกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศ ให้ยังคงอยู่ อีกทั้งได้ขยายศักยภาพ โดยนำหลักการบริหารของ “ศูนย์การเรียนรู้” ประกอบกับการแสวงประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้” ของกระทรวงต่างๆ เช่น ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 2,000 กว่าแห่ง เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการสร้าง Smart Farmer เป็นต้น

“ที่สำคัญ คือ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ระยะ5 ปี ระหว่างปี 2559-2564 บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประเทศมีระบบภูมิคุ้มกัน และสังคมไทยเป็นสังคมคุณภาพ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ