สร้างแบรนด์ที่ยั่งยืน สร้างธุรกิจคืนสู่สังคม
การที่แบรนด์จะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน สำคัญที่สุดคือ แบรนด์นั้นๆ จะต้องเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคด้วยทัศนคติในเชิงบวก
โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย
การที่แบรนด์จะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน สำคัญที่สุดคือ แบรนด์นั้นๆ จะต้องเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคด้วยทัศนคติในเชิงบวก ทำให้ผู้บริโภคเกิดความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ซึ่งมีกลยุทธ์ในการสร้างความภักดีต่อแบรนด์อยู่มากมาย หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือ การทำธุรกิจตอบแทนสังคม ดังเช่นแบบอย่างจาก 2 แบรนด์ใหญ่
การทำธุรกิจส่วนใหญ่ต้องใช้น้ำเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าแบรนด์ต้องสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ด้วยการทำตลาดอย่างรับผิดชอบต่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ลดการใช้น้ำ นำน้ำคุณภาพดีกลับคืนสู่ธรรมชาติ อย่างเช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลมโค้ก และปูนซิเมนต์ไทย
พรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมโค้ก เปิดเผยว่า ธุรกิจทั่วโลกใช้น้ำเพื่อดำเนินธุรกิจ 40% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มน้ำอัดลมของโค้กใช้น้ำเป็นส่วนประกอบถึง 90% หรือน้ำจำนวน 2.1 ลิตร นำมาผลิตเป็นน้ำอัดลมหรือน้ำดื่มราว 1 ลิตร หากบนโลกขาดแคลนน้ำ ผู้ประกอบธุรกิจจากเครื่องดื่มก็ไม่สามารถอยู่ได้
ทั้งนี้ กรอบการทำตลาดอย่างรับผิดชอบสังคมเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์และธุรกิจ โคคา-โคลา วางเป็นยุทธศาสตร์ระดับโลก โดยต้องร่วมมือกันจากพนักงานบริษัทจนถึงระดับชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วยกัน 3R คือ 1.การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) 2.แปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ด้านที่ 3 นำน้ำที่มีคุณภาพกลับคืนสู่ธรรมชาติ (Replenish) วางเป้าหมาย 500 บริษัททั่วโลกที่เข้าไปทำธุรกิจต้องนำน้ำคืนสู่ธรรมชาติ 400% ระหว่างปี 2559-2563
“ทุกปีโคคา-โคลาใช้น้ำมากกว่า 3 ล้านลิตร สำหรับการผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อต่างๆ ที่บริษัทมีอยู่ ภายใต้นโยบายคืนน้ำสู่แหล่งธรรมชาติ บริษัทมีสโลแกนว่า ทุกหยดที่ใช้ เราจะคืนให้ธรรมชาติ (For every drop we use, we give one back) ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ของโครงการมีหลายรูปแบบ โดยบูรณาการให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของประเทศ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สร้างกระแสการรับรู้ การปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับน้ำ อนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ”
ขณะที่ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำของโค้ก มีตั้งแต่กิจกรรมการรักษาและพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต โดยบริหารจัดการน้ำเสีย จนมีคุณภาพดีพอ สามารถปล่อยคืนสู่สิ่งแวดล้อม ให้เป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์น้ำต่อไป ตัวอย่างเช่น โรงงานบรรจุขวด จ.ปทุมธานี บริหารจัดการน้ำเสียจนมีคุณภาพดีพอ สามารถปล่อยคืนสู่สิ่งแวดล้อม ให้เป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์น้ำต่อไป ร่วมมือกับ WWF ใน จ.ขอนแก่น ปรับปรุงคุณภาพแหล่งน้ำลุ่มน้ำชี เป็นต้น
พรวุฒิ กล่าวว่า โครงการทั้งหมดได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ องค์กรไม่แสวงผลกำไร และชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ให้เกิดขึ้น หลักของไทยน้ำทิพย์การทำซีเอสอาร์ คือ คิดบวกในสิ่งที่เราทำ แต่ไม่ได้มองว่าเป็นงานกุศล ธุรกิจหรือแบรนด์ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม สิ่งสำคัญพนักงานในองค์กรและผู้อาศัยอยู่ในชุมชนก็ต้องมีส่วนร่วมกันด้วย
ขณะที่ สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) กล่าวว่า แผนการสร้างความยั่งยืนธุรกิจทางด้านน้ำของบริษัท วางกรอบไว้ด้วยกัน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การใช้วิธีลดการใช้วัสดุ หรือผลิตภัณฑ์เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น (Reduce) 2.นำน้ำที่มีคุณภาพกลับคืนสู่ธรรมชาติ (Replenish) 3.การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) 4.แปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) วางเป้าหมายของบริษัทต้องการลดการใช้น้ำลง 20% ในปี 2563 โดยในปี 2558 สามารถลดการใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติภายในโรงงานโดยรวมทั้งหมด 8%
สำหรับการดำเนินงานของเอสซีจี เริ่มตั้งแต่ภายในองค์กร อาคารสำนักงานบริเวณบางซื่อ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อนำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ภายในอาคาร ช่วยประหยัดพลังงาน ในส่วนของกลุ่มผู้บริโภค การผลิตผลิตภัณฑ์จากเอสซีจี โดยเฉพาะกลุ่มสุขภัณฑ์ให้มีความประหยัดน้ำ เช่น ก๊อกน้ำของบริษัทสามารถประหยัดน้ำได้ถึง 40% จากปกติการใช้งานคนราว 4.5 ลิตร/ครั้ง เหลือเพียง 3 ลิตร/ครั้ง
นอกจากนี้ งานสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน หลังจากบริษัทการเข้าไปสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ใน จ.ลำปาง เมื่อปี 2538 พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความแห้งแล้งการเผาผืนป่าจำนวนมากของชาวบ้าน จึงได้จัดกิจกรรมภายในจังหวัดขึ้นมา รณรงค์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ปลูกป่า ตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้และป่าไม้ โดยร่วมมือกับผู้นำท้องถิ่นหรือองค์กร จัดตั้งศูนย์ในแต่ละชุมชนเพื่อแหล่งป้อนข้อมูลความรู้อย่างเป็นรูปธรรม
“เราใช้ระยะเวลาเกือบ 20 ปี สถิติไฟป่าลดลงใน จ.ลำปาง ลดลงอย่างเห็นได้ชัด กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่สีเขียวชอุ่มและอุดมสมบูรณ์มาก บริษัทมองว่าปัญหาของไทยที่ต้องเผชิญมาอย่างยาวนานมีด้วยกัน 2 ด้าน ไม่ภัยแล้งกับภัยน้ำท่วม ไทยอยู่ในสภาพแบบนี้มานาน เมื่อ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้จัดเวทีการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ป้อนข้อมูลความรู้ให้กับประชาชน เพื่อรวมพลังแก้วิกฤตเกิดขึ้นของประเทศที่มาจากธรรมชาติ” สุเมธ กล่าว
นับวันประชากรโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณการใช้น้ำก็เริ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จากการดื่มหรือในชีวิตประจำวัน โดยพบว่า คนกรุงเทพฯ มีการใช้น้ำเพิ่มจาก 35 ลิตร/คน/วัน เป็น 50 ลิตร/คน/วัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ธุรกิจก็ต้องผลิตสินค้าเพิ่มตามจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้ผู้ดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ไม่เพียงเฉพาะผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มเท่านั้น ต้องกลับหันมาสร้างความยั่งยืนเกี่ยวกับน้ำ เพราะการตัดสินใจซื้อผู้บริโภคจะมองถึงแบรนด์ที่ทำตลาดอย่างรับผิดชอบสังคมมากขึ้น