ออกกฎเหล็กสิงห์อมควัน เพิ่มอายุคนซื้อเป็น20ปี
ครม.ไฟเขียวกฎหมายควบคุมสิงห์อมควันเพิ่มอายุผู้ซื้อตั้งแต่ 20 ปี ขณะที่นายกฯ สั่งขยายพื้นที่ห้ามสูบเพิ่ม
ครม.ไฟเขียวกฎหมายควบคุมสิงห์อมควันเพิ่มอายุผู้ซื้อตั้งแต่ 20 ปี ขณะที่นายกฯ สั่งขยายพื้นที่ห้ามสูบเพิ่ม
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 ต.ค. มีมติเห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยเป็นการนำร่างสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและสาระสำคัญของ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 มารวมเป็นฉบับเดียว
นอกจากนี้ เห็นชอบการตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบขึ้นเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค ซึ่งจะทำให้มีหน่วยงานขึ้นมาดูแลตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งนี้ร่างดังกล่าวจะควบคุมผู้สูบบุหรี่เพิ่มมาก โดยเพิ่มอายุของผู้ซื้อบุหรี่ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จากเดิมกำหนดอายุเพียง 18 ปี เพื่อป้องกันเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้สั่งการให้มีการขยายพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดกระทรวงสาธารณสุขจะไปพิจารณา โดยหลังจากนี้จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างกฎหมายต่อไป
ด้าน พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า สาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายต้องการให้สอดคล้องกับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ กลยุทธ์ของธุรกิจยาสูบในการเพิ่มจำนวนผู้บริโภคและเป็นการยกระดับการคุ้มครองสุขอนามัยของประชาชนและลดภาระงบประมาณด้านการสาธารณสุข
ทั้งนี้ สาระสำคัญคือการแก้ไขนิยามผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ เช่น บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเพิ่มเติมนิยามการสื่อสารการตลาดให้ครอบคลุมไปถึงการส่งเสริมการขาย การแสดง ณ จุดขาย การขายโดยใช้บุคคล (พริตตี้) การสร้างภาพลักษณ์ การนิยามคำว่า ฉลากเพิ่มเติม โดยให้ครอบคลุมการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ
นอกจากนี้ ยังห้ามการจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ห้ามขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การแสดงราคาขายเพื่อจูงใจ การห้ามแบ่งขาย ห้ามแจกจ่ายเป็นตัวอย่างทดลองสูบ และห้ามจำหน่ายในสถานที่ที่ง่ายต่อการเข้าถึงเด็กและเยาวชน ห้ามการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด การแสดงชื่อเครื่องหมาย สัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ การประกวด หรือการแข่งขัน การห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยาสูบ แต่ให้ใช้ชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบมาเป็นชื่อหรือเครื่องหมายเพื่อป้องกันการคุ้นชินในชื่อยี่ห้อ