‘ของขวัญ’ จากพระราชา ภาพจิตรกรรม ‘พระมหาชนก’ งานศิลป์สุดวิจิตรแห่งแผ่นดิน
20 ปีที่แล้ว นับเป็นเรื่องที่สุดแห่งความปีติของพสกนิกรไทย เมื่อพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงได้รับการสดุดีด้วยพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” มีพระราชปรารภชัดเจนว่า อยากพระราชทานของขวัญงดงามให้แก่ประชาชนชาวไทย
โดย...ชุติมา สุวรรณเพิ่ม
20 ปีที่แล้ว นับเป็นเรื่องที่สุดแห่งความปีติของพสกนิกรไทย เมื่อพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงได้รับการสดุดีด้วยพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชปรารภชัดเจนว่า อยากพระราชทานของขวัญงดงามให้แก่ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ของขวัญงดงามชิ้นนี้เปิดแสดงความวิจิตรสู่สายตาปวงไทย เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2539 ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินออก ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โปรดเกล้าฯ ให้สื่อมวลชนเข้าเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โดยแจ้งให้ทราบว่าหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มล่าสุดเพื่อจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล เรื่อง “พระมหาชนก” จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดยจัดพิมพ์ 2 ภาษา ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ทรงสืบค้นเรื่องราวของพระมหาชนกในพระไตรปิฎก และทรงแปลด้วยพระองค์เอง ภายในหนังสือมีภาพวาดฝีพระหัตถ์ รวมถึงภาพประกอบโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงอีกหลากหลายท่าน
“พระมหาชนก” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พิมพ์เผยแพร่ออกสู่สายตาผู้อ่าน เป็นฉบับปกแข็ง ขนาด 11 คูณ 11 นิ้ว บรรจุกล่องสวยงาม นอกจากเนื้อหาทรงคุณค่าแล้วยังมีภาพวาดประกอบของจิตรกรชื่อดัง 8 คน คือ ประหยัด พงษ์ดำ พิชัย นิรันต์ ปรีชา เถาทอง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ปัญญา วิจินธนสาร ธีระวัฒน์ คะนะมะ จินตนา เปี่ยมศิริ และเนติกร ชินโย ผลงานจิตรกรระดับชาติถูกตีพิมพ์เป็นภาพประกอบเนื้อหา ด้วยภาพวิจิตรประณีตสีสวยสดใส ทำให้หนังสือน่าอ่านและน่าเก็บรักษาไว้
จากรายชื่อศิลปินมีทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นเล็ก คละกันทั้ง 8 รายชื่อ ซึ่งเป็นไปตามพระราชประสงค์ ทรงมุ่งให้ภาพประกอบในหนังสือเป็นไปในแนวทางศิลปะร่วมสมัย การทรงงานร่วมกับกลุ่มศิลปินครั้งนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2537 และสำเร็จลุล่วงในปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงปีที่ข่าวเกี่ยวกับพระสุขภาพไม่แข็งแรงออกมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังทรงมีพระวิริยอุตสาหะทรงงานร่วมกับศิลปินเพื่อเป็นของขวัญชิ้นวิจิตรประดับไว้ให้แผ่นดินไทย และเป็นของขวัญแก่พสกนิกรของพระองค์ทุกหมู่เหล่าให้ได้เสพศิลป์ชิ้นเอกแห่งรัชกาลที่ 9 โดยถ้วนหน้ากัน
ปัญญา วิจินธนสาร ภาพ... ภัทรชัย ปรีชาพานิช
หนังสือพระราชนิพนธ์ที่ ทรงรักอย่างยิ่ง
ในปี 2537 ในช่วงการดำเนินการจัดพิมพ์พระมหาชนกนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สมบูรณ์ทั้งด้านเนื้อหาและศิลปะอย่างแท้จริง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชประสงค์นำเสนอภาพจิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัยเพื่อเป็นภาพประกอบในหนังสือ “พระมหาชนก” ให้มีความงดงามวิจิตรสมบูรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของไทยร่วมสร้างสรรค์จิตรกรรมอันทรงคุณค่าวาดภาพประกอบพระราชนิพนธ์ โดยมี พิษณุ ศุภนิมิตร เป็นหัวหน้าโครงการรวบรวมจิตรกรไทยชั้นเยี่ยมร่วมกันสร้างผลงานจิตรกรรมตาม
พระราชประสงค์
ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2557 ซึ่งเป็น 1 ใน 8 รับหน้าที่วาดบทแรก ซึ่งเป็นการวาดแบบจิตรกรรมไทยประเพณี ตอนที่ 1-5 เนื้อหาเริ่มที่ฉากกษัตริย์แห่งกรุงมิถิลาพระมหาชนกสวรรคต พระราชโอรสองค์โต พระอริฏฐชนก ขึ้นครองราชสมบัติ และทรงแต่งตั้งพระอนุชา พระโปลชนก เป็นอุปราช ต่อมาได้เกิดเหตุสู้รบกันระหว่างพระอริฏฐชนกและพระโปลชนก อันเนื่องมาจากการยุแหย่ของเหล่าอำมาตย์ใกล้ชิด
พระอริฏฐชนกสิ้นพระชนม์ชีพในสนามรบ พระเทวีซึ่งเป็นพระอัครมเหสีกำลังทรงพระครรภ์อยู่ จึงได้หลบหนีออกจากกรุงมิถิลามุ่งหน้าสู่นครจัมปากะ และต่อมาได้ประสูติพระโอรสซึ่งมีวรรณะดั่งทอง พระเทวีได้ขนานนามพระโอรสว่า “มหาชนกกุมาร” เหมือนกับพระอัยกา
ศิลปิน ปัญญา วิจินธนสาร
“แนวพระราชดำริคือต้องการให้เป็นจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ผู้คัดสรรศิลปินคือเจ้าของสำนักพิมพ์อมรินทร์ ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ร่วมกับหัวหน้าโครงการ พิษณุ ศุภนิมิตร คัดเลือกศิลปินในแนวศิลปะไทยประเพณี และไทยร่วมสมัย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้มีความเป็นปัจจุบันที่สุดครับ ศิลปินจึงมีทุกวัย อาวุโสที่สุดคือ ประหยัด พงษ์ดำ อายุน้อยที่สุด คือ จินตนา เปี่ยมศิริ เนติกร ชินโย เพื่อสร้างผลงานให้แตกต่างหลากหลาย เมื่อเสนอชื่อทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไป พระองค์ท่านโปรดทุกคน” ปัญญา กล่าวพร้อมรอยยิ้มภูมิใจเมื่อกล่าวประโยคนี้
ศิลปินรุ่นใหญ่ ประหยัด พงษ์ดำ พิชัย นิรันต์ เคยร่วมงานกับพระองค์ท่านมาแล้วในระหว่างทรงงานศิลปะจริงจัง ตั้งแต่ปี 2502-2510 เมื่อทรงสนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก ทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงาน ทรงเชิญศิลปินใหญ่ในยุคนั้นเข้ามาให้คำแนะนำและวิจารณ์ผลงานของพระองค์อยู่เสมอ อาทิ เหม เวชกร เขียน ยิ้มศิริ จำรัส เกียรติก้อง เฟื้อ หริพิทักษ์ จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ รวมทั้งสองศิลปินอาวุโสท่านนี้ที่ได้กลับมารับใช้ถวายงานพระองค์ท่านอีกครั้งหนึ่ง
“วันแรกที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านทรงรู้จักศิลปินทุกๆ คนครับ (บอกพร้อมรอยยิ้มอีกครั้ง) ตรัสชมผู้วาดจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ วาดได้ในแนวทางจิตรกรรมไทยร่วมสมัยที่มีเรื่องแปลกๆ ใหม่ๆ แทรกเรื่องราวพุทธประวัติได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งก็คือผลงานของผมกับศิลปินรุ่นพี่ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ตอนนั้นเราทั้งคู่อายุไม่มาก จัดเป็นศิลปินที่คนเริ่มรู้จัก เมื่อศิลปินฟังรับสั่งชมนอกจากความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ในชีวิตแล้ว ก็ทำให้เห็นแนวทางศิลปะที่ทรงพอพระราชหฤทัย เริ่มกระจ่างว่าพวกเราควรวาดภาพประกอบหนังสือพระราชนิพนธ์ออกมาในรูปแบบใด เพื่อให้งานของพวกเรา 8 คนมีความเป็นเอกภาพ
ในการนำเสนอบทแรกๆ จึงตกลงกันว่าวาดภาพแนวไทยประเพณี ส่วนบทท้ายๆ จะเป็นไทยร่วมสมัย มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น ผมรับหน้าที่วาดบทแรกคือภาพศิลปะไทยประเพณี ไม่มีใครอยากวาด เพราะวาดไม่ค่อยสนุก (หัวเราะ) เป็นแนวช่างโบราณเขียนด้วยสีฝุ่นบนพื้นผ้าใบทาดินสอพอง เป็นวิธีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตั้งแต่ยุคสุโขทัย
ศิลปิน เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
ขั้นตอนการทำงานถวายพระองค์ท่าน ศิลปินทุกคนต้องร่างวาดสเกตช์สรุปแนวคิดของแต่ละภาพ แล้วส่งทุกๆ ภาพให้พระองค์ท่านทรงวินิจฉัยเป็นขั้นตอนแรกครับ ทรงแก้ไขตลอดเวลา ละเอียดพิถีพิถันตั้งแต่ขั้นแรกนี้เลยทีเดียว ซึ่งในเวลานั้นปี 2539 ทรงพระประชวรและประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราชเป็นช่วงแรกๆ แล้วนะครับ ทรงงานนี้เมื่อพระชนมพรรษา 69 พรรษา ไม่ได้ทรงพักผ่อนเลย ทุกๆ ครั้งที่เราถวายภาพไป พระองค์ท่านทรงช่วยดูอย่างละเอียดลออทุกๆ ครั้ง ทราบจากผู้ใหญ่ว่าท่านทรงวินิจฉัยงานของพวกเราบนเตียงบรรทม ดังนั้นผลงานที่ศิลปินทุกคนได้ทำงานถวายแด่พระองค์ จึงนับได้ว่าทรงเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์งาน โดยมีเหล่าศิลปินเป็นผู้ถ่ายทอดในผลงานของพระองค์
เมื่อทรงวินิจฉัยแล้วก็จะส่งกลับให้ศิลปินแก้ไข แม้หนังสือพิมพ์ออกไปแล้วผลงานผมก็ถูกแก้จนวินาทีสุดท้าย การทรงงานเป็นไปอย่างรอบคอบมากๆ ครับ ซึ่งก็เป็นเรื่องแน่นอนว่าศิลปินทุกคนย่อมมีอัตตา มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง (บอกพร้อมรอยยิ้ม) แต่สิ่งที่พระองค์ท่านรับสั่งคือเหตุผลที่เราโต้แย้งไม่ได้เลย ผมวาดภาพซึ่งพระองค์ท่านทรงวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องการเมืองในปีนั้นทหารมีอำนาจอยู่ในคณะรัฐบาล และมักมีข่าวเจรจาต่อรองตำแหน่งช่วงตีกอล์ฟ ผมก็วาดทหารไปตีกอล์ฟ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าอยากให้วาดเป็นกลางๆ ไม่แสดงออกในการเมือง เพราะเนื้อหาสาระหลักคือความมุ่งมั่น และความเพียรคือหัวใจหลักของพระมหาชนก ภาพการสื่อในหนังสือต้องตรงกับเรื่องราวให้ชัดเจน
คำว่าพระอัจฉริยภาพจึงแสดงออกทั้งการเป็นนักคิด นักค้นคว้า การทำงานศิลปะพระองค์ท่านก็ไม่ได้ทำเพียงนักวาดภาพนะครับ ยกตัวอย่างผลงานของ ธีระวัฒน์ คะนะมะ เขียนภาพพระมหาชนกทรงช้างและเด็ดมะม่วงเสวยกัดจากลูก ทรงวินิจฉัยและรับสั่งแก้ไข ทรงแนะนำศิลปินว่าแขกไม่กินมะม่วงแบบนี้ แต่จะบีบให้เป็นน้ำไหลผ่านนิ้วโป้งเข้าปาก ทรงละเอียดมาก และรับสั่งย้ำว่าพระมหาชนกเป็นหนังสืออันเป็นที่รักของข้าพเจ้า และมุ่งให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้อ่านข้อมูลถูกต้องและสวยงามในหนังสือเล่มนี้”
ศิลปิน ปัญญา วิจินธนสาร
วันแถลงข่าวการทำหนังสือพระมหาชนก มีการจัดนิทรรศการผลงานของทั้ง 8 ศิลปินที่ได้วาดถวายงานในครั้งนี้ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ศิลปินได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับศิลปินร่วม 5-6 ชั่วโมง ปัญญา เล่าว่า ผู้ใหญ่ข้าราชสำนักกล่าวกับกลุ่มศิลปินว่า พระองค์ไม่เคยมีพระราชปฏิสันถารกับคนทำงานกลุ่มใดได้ยาวนานเช่นนี้ พระพักตร์สดชื่น ทรงพระเกษมสำราญเมื่อรับสั่งเกี่ยวกับงานศิลปะ ทรงแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มศิลปินมากมายหลายเรื่อง
‘อัครศิลปิน’ ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล
พระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” ซึ่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2529 มีความหมายว่า “ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน” คำกล่าวยกย่องฉายภาพชัดเจนขึ้นมาอีกครั้งในการทรงงานศิลปะร่วมกับกลุ่มศิลปินใหญ่น้อยในครั้งนี้
“เด็กรุ่นใหม่คงไม่ทราบกันว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์มากกว่า 102 องค์ สิ่งที่ฉายชัดออกมาคือทรงมีพระวิริยอุตสาหะ ทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่งานศิลปะในรูปแบบ Academic Art ซึ่งเป็นงานศิลปะในแบบหลักวิชาการ และปี 2504 ทรงเริ่มเขียนภาพในแบบเหมือนจริง (Realistic) คตินิยมแบบลัทธิเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism) และที่ได้เห็นกันช่วงหลังๆ เป็นศิลปะแบบนามธรรม (Abstractionism) ทรงสนพระราชหฤทัยงานศิลปะหลากหลายรูปแบบนะครับ ไม่ใช่ในแบบศิลปินทั่วไปที่จะเลือกเขียนสไตล์เดียวตลอดทั้งชีวิต
ศิลปิน พิชัย นิรันต์
เมื่อปี 2540 ขณะนั้นผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับมอบหมายทำงานซ่อมแซมและรวบรวมผลงานฝีพระหัตถ์ นอกจากภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ 102 องค์ ซึ่งค้นพบได้ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และในพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง แล้วยังพบงานประติมากรรมอีก 2 องค์ ไม่รวมถึงภาพฝีพระหัตถ์ดรออิ้งในรูปถ่ายอีกมากมาย ผมจึงแน่ใจว่าทรงสร้างสรรค์ศิลปะไว้ที่เรายังไม่พบมากกว่านี้แน่นอนครับ” ปัญญา กล่าว
สิ่งที่ได้เห็นจากการซ่อมภาพฝีพระหัตถ์ คือการยืนยันคำว่าพระอัจฉริยภาพได้ชัดเจนแล้ว แต่ละภาพยังบ่งบอกได้ถึงพระจริยวัตรที่แสนเรียบง่ายของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ได้อย่างน่าทึ่ง
“ทรงคิดค้นกระทั่งว่าทำเฟรมอย่างไรให้เขียนภาพได้อย่างประหยัด กรอบก็ใส่กรอบง่ายๆ ด้วยเทคนิควิธีซึ่งผมขอใช้คำว่า ทรงน่ารักมาก ทรงนำเศษผ้าใบเล็กๆ รองกับแผ่นกระดาน 2 แผ่น โดยวิธีทรงงานที่ชาญฉลาด ทรงทำกระดานตัดเป็นช่องปูด้วยผ้าใบแล้วจึงทับด้วยกรอบไม้อีกแผ่น ไม่ต้องขึงบนไม้ผ้าใบก็ตึงเปรี๊ยะ ผมวาดภาพมาทั้งชีวิตยังคิดไม่ออกเลยนะครับ (บอกพลางหัวเราะ) แสดงถึงนอกจากศิลปิน ทรงเป็นนักคิดนักประดิษฐ์ที่แท้จริง ทรงโปรดทำของใช้เล็กๆ น้อยๆ ด้วยพระองค์เอง และสิ่งเหล่านี้แสดงถึงพระจริยวัตรทรงละเอียดลออ แล้วยิ่งเมื่อได้ทำงานถวายพระองค์ท่านก็ยิ่งได้ตอกย้ำเรื่องนี้ยิ่งขึ้น ตัวหนังสือทุกตัวทรงพิสูจน์อักษรด้วยพระองค์เอง ตรวจการจัดหน้าทุกอย่างจนพอพระราชหฤทัย กระทั่งวันเปิดตัวหนังสือ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พวกเรารอเข้าเฝ้าฯ นานมาก ทรงรับสั่งว่าอ่านเช็กอยู่นานว่ามีอะไรผิดพลาดอีกหรือไม่ก่อนสู่สายตาประชาชน และทรงย้ำว่า ‘หนังสือนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้า’ ด้วยความเห็นคุณค่าในเนื้อหาจึงอยากให้ประชาชนได้อ่านศึกษาทุกหมู่เหล่า” ปัญญา กล่าว
ศิลปิน ประหยัด พงษ์ดำ
พระมหาชนก ฉบับเวอร์ชั่นแรกปกแข็งราคาสูงหลายพันบาท จำหน่ายพร้อมเหรียญทองคำ นาก เงิน เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษก ต่อมาทรงโปรดให้จัดพิมพ์หนังสือพระมหาชนกปกอ่อน ราคา 300 บาท และฉบับการ์ตูนราคา 125 บาท เพื่อให้เยาวชนอ่านเข้าใจง่ายขึ้น โดย ชัย ราชวัตร วาดภาพประกอบ อีกทั้งยังมีฉบับอักษรเบรลเพื่อผู้พิการทางสายตาในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปี 2542
“ใครที่ได้อ่านเรื่องพระมหาชนก ล้วนพูดตรงกันว่าอ่านง่าย ภาษาสละสลวย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชนิพนธ์ด้วยภาษากระชับ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระองค์ท่านทรงได้ศึกษาหาความรู้อย่างลึกซึ้ง พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกเน้นให้ผู้อ่านพิจารณาแนวดำเนินชีวิตที่เป็นมงคล ทรงต้องการให้ประชาชนได้อ่าน และเข้าใจถึงการทำความดีและความเพียรด้วยความบริสุทธิ์ใจของพระมหาชนก สำหรับคอลเลกชั่นเหรียญที่จัดสร้างขึ้นนี้ก็ไม่ใช่เครื่องรางของขลัง แต่คนไทยก็มุ่งให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมากมาย (หัวเราะ) เหรียญเป็นสิ่งเพิ่มกำลังใจในการต่อสู้กับชีวิต เป็นประทีปส่องทางคนประสบปัญหากำลังท้อแท้ ด้านหนึ่งของเหรียญเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ในพระอิริยาบถที่มีหยาดพระเสโทที่พระนาสิก เขียนคำว่า ‘วิริยะ PERSEVERANCE’ แต่คนไทยเรากลับมุ่งซื้อหนังสือและเหรียญแล้วไปตั้งบนหิ้งบูชา ซึ่งไม่ใช่พระประสงค์ของพระองค์ท่านเลยครับ
พระองค์ท่านย้ำไม่ใช่คัมภีร์ตั้งไว้สูงส่งโดยไม่อ่าน แต่หนังสือเล่มนี้อยากให้เป็นของขวัญแก่ปวงชนลงไปสู่ทุกหมู่เหล่า ได้อ่าน ได้ศึกษา ส่วนความงดงามภาพประกอบในหนังสือที่ศิลปินทำถวายแด่พระองค์ ก็ถือเป็นมรดกอีกชิ้นของงานศิลปะ แสดงความมีวัฒนธรรมของชาติไทยเรา จะเอาสิ่งไหนเป็นเครื่องยืนยันถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่งานศิลปะ ซึ่งนี่ก็คือผลงานอีกชุดที่เป็นมรดกในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับศิลปะทุกๆ แขนง นอกจากศิลปะสมัยใหม่ ทรงให้ความสำคัญกับศิลปะที่เป็นโบราณราชประเพณีด้วยเช่นกัน อย่างเช่นการเสด็จฯ ทอดกฐินทางชลมารค หรือพิธีแรกนาขวัญ เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ทรงนำสิ่งเหล่านี้กลับมา เพราะเป็นหลักประกันถึงความมีอารยะของแผ่นดิน
ศิลปินธีระวัฒน์ คะนะมะ
ทรงสนพระราชหฤทัยทั้งในเรื่องศิลปะในรูปแบบโบราณราชประเพณีที่หลากหลาย ขณะเดียวกับการทรงงานศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งทรงเป็นผู้นำและแบบอย่างให้แก่ศิลปินไทยทุกๆ รุ่นเลยนะครับ การทรงงานเป็นศิลปินด้วยพระองค์เอง แสดงชัดถึงทรงเน้นนำศิลปะเข้ามาสู่ประชาชนไทย ให้เข้าใจลึกซึ้งว่าศิลปะก็คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศชาติ” ปัญญา กล่าวทิ้งท้าย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบรรลุพระราชภารกิจสำคัญในการส่งมอบของขวัญงดงามด้วยหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มนี้ นับเป็นของขวัญวิจิตรศิลป์สุดล้ำค่าแห่งรัชสมัยแห่งมงคลชัยในชีวิตประชาชนชาวไทยอันหาที่เปรียบไม่ได้