posttoday

เทคโนเวิลด์

30 ตุลาคม 2559

ตู้โทรศัพท์สีแดงถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ดี ทางเมืองกำลังเตรียมถอดตู้โทรศัพท์

กรุงลอนดอนเล็งติดบูธไว-ไฟแทนตู้โทรศัพท์แดง

ตู้โทรศัพท์สีแดงถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ดี ทางเมืองกำลังเตรียมถอดตู้โทรศัพท์ดังกล่าวออก และติดตั้งบูธไว-ไฟเข้าไปแทน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการนับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปโดยบีทีและไพรม์ไซต์ บริษัทโฆษณาสัญชาติอังกฤษ โดยบูธปล่อยสัญญาณไว-ไฟดังกล่าวจะติดตั้งตามสี่แยกต่างๆ ทั่วเมือง ซึ่งนอกจากจะให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว ชาวเมืองสามารถชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ได้อีกด้วย ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาเยือนกรุงลอนดอนเป็นครั้งแรกก็ไม่ต้องวิตกว่าจะหลงทางอีกต่อไป เพราะสามารถเข้าไปดูแผนที่ เส้นทางจราจร สถานที่ภายในท้องถิ่น และบริการต่างๆ ได้จากบูธไว-ไฟดังกล่าว รวมถึงมีบริการโทรศัพท์ฟรี ด้านบีที เปิดเผยว่า แม้ตู้ไว-ไฟสุดล้ำนี้จะมีบริการสารพัดประโยชน์ แต่กลับไม่มีเว็บเบราเซอร์สำหรับการท่องโลกอินเทอร์เน็ต เนื่องจากบริษัทผู้ติดตั้งเคยมีบทเรียนจากตู้ไว-ไฟในนครนิวยอร์กที่มีเว็บเบราเซอร์มาแล้ว โดยชาวเมืองนิวยอร์กจำนวนมากใช้เวลากับตู้ดังกล่าวมากเกินไปจนผู้อื่นไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้ จนทำให้ทางบริษัทต้องถอดฟังก์ชั่นเว็บเบราเซอร์ออกไปในภายหลัง

ดึงเด็กสนใจชีววิทยาด้วยเกมแพคแมน

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ค้นพบแนวทางทำให้เด็กๆ สนใจวิชาชีววิทยามากยิ่งขึ้น ด้วยการคิดค้นเกมแพคแมนที่ใช้จุลินทรีย์มาเป็นองค์ประกอบในเกม โดยทีมงานระบุว่าเกมดังกล่าวสามารถประกอบขึ้นได้เองด้วยเครื่องที่มีชื่อว่า ลูดัสสโคป ซึ่งมาพร้อมกับกล้องจุลทรรศน์แผ่นสไลด์ที่มีจุลินทรีย์ชื่อ ยูกลีนา ว่ายวนอยู่รอบๆ โดยเด็กสามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของจุลินทรีย์ด้วยจอยสติ๊ก และเริ่มเล่นเกมผ่านสมาร์ทโฟนเมื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ดังกล่าวเข้าด้วยกัน ลูดัสสโคปจะช่วยให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ ของยูกลีนา เช่น ความเร็วในการเคลื่อนที่และการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยา นอกเหนือจากเกมแพคแมนแล้ว ทีมงานยังพัฒนาเกมยิงประตูฟุตบอล ซึ่งทำคะแนนการเล่นด้วยการบังคับให้ยูกลีนาเคลื่อนที่เข้าประตู และแอพพลิเคชั่นเฝ้าดูการเคลื่อนที่และการเปลี่ยนแปลงของยูกลีนาแบบเรียลไทม์

เทคโนเวิลด์

 

คดีพบฟอสซิลสมองไดโนเสาร์ครั้งแรก

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อว่าไดโนเสาร์มีสมองขนาดเล็ก แต่ความคิดดังกล่าวต้องเปลี่ยนไป เมื่อมีการค้นพบฟอสซิลสมองของอิกัวโนดอน ไดโนเสาร์กินพืชซึ่งมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อ 133 ล้านปีที่แล้ว ที่ชายหาดในเมืองเบกซ์ฮิลล์ของเขตซัสเซกซ์ ประเทศอังกฤษ โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า จากผลการสแกนฟอสซิล เนื้อเยื่อหุ้มสมองของอิกัวโนดอนใหญ่กว่าที่เคยคาดคิด โดยมีความหนาถึง 1 มิลลิเมตร คล้ายคลึงกับเนื้อเยื่อสมองนกในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี อเล็กซ์ หลิว หนึ่งในทีมงานเปิดเผยว่าการทราบข้อมูลขนาดสมองของไดโนเสาร์ยังไม่สามารถบ่งบอกถึงความฉลาด ความสามารถในการสื่อสาร หรือความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน เพราะนักวิทยาศาสตร์ทำได้แค่เพียงเทียบขนาดมันสมองกับสัตว์ในยุคปัจจุบันเท่านั้น และจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสมองไดโนเสาร์เพิ่มเติมต่อไป

นักวิทย์พบความหวังใหม่ต่อสู้ซูเปอร์บัก

ทีมนักวิจัยในออสเตรเลียค้นพบว่าน้ำนมของแทสมาเนียนเดวิล สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมีกระเป๋าหน้าท้อง ซึ่งมีแหล่งที่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย อาจนำไปสู่แนวทางการต่อสู้กับเชื้อซูเปอร์บัก เชื้อโรคที่ดื้อยาปฏิชีวนะทุกประเภท โดยน้ำนมดังกล่าวสามารถกำจัดการติดเชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส ออเรียส ที่ดื้อยาเมธิซิลิน (เอ็มอาร์เอสเอ) ได้ นอกจากนี้น้ำนมของแทสมาเนียนเดวิลยังมีโปรตีนแคธีลิซิดิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันในสัตว์หลายชนิด ถึง 6 ประเภท มากกว่ามนุษย์ที่มีแคธีลิซิดินเพียงแค่ประเภทเดียว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าการที่แทสมาเนียนเดวิลต้องอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องแม่ ที่เต็มไปด้วยแบคทีเรียหลายชนิดตอนเด็กนั้น ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายพัฒนาคุณภาพของน้ำนม เพื่อให้ลูกแทสมาเนียนเดวิลสามารถมีชีวิตรอดอยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้