มือปั้น ‘พระบรมรูปทรงงาน’ ประติมากรรมอันเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต
ใครที่ได้มีโอกาสเดินทางไปที่สวนสุขภาพลัดโพธิ์ ระหว่างสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 พระประแดง ย่อมต้องเคยเห็นพระบรมรูปทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน
ใครที่ได้มีโอกาสเดินทางไปที่สวนสุขภาพลัดโพธิ์ ระหว่างสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 พระประแดง จ.สมุทรปราการ ย่อมต้องเคยเห็นพระบรมรูปทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความสูง 2.3 เมตร ในสูทฉลองพระองค์ และสิ่งของประจำพระองค์ แผนที่ซึ่งทรงทำขึ้นเอง ตัดต่อเอง วิทยุสื่อสาร กล้องถ่ายภาพกระชับอยู่ในพระหัตถ์พร้อมทรงฉายภาพ เป็นจริยวัตรที่พสกนิกรต่างรำลึกถึงองค์พระภูมินทร์ พระบรมรูปที่ชื่อว่า “ทรงงาน” ชิ้นนี้เป็นฝีมือของประติมากรหนุ่ม กิตติชัย ตรีรัตน์วิชชา ผู้ซึ่งบอกกับโพสต์ทูเดย์ว่า งานพระบรมรูปของพระองค์ท่านนั้น ถือเป็นงานที่เป็นมงคลต่อชีวิตอย่างหาที่สุดมิได้
ประติมากรหนุ่มผู้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมายอย่าง รูปปั้นหลวงพ่อพุธ ฐานิโย และหลวงปู่เสาร์ ที่นครราชสีมา ประติมากรรมรูปนักกีฬาที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพฯ รูปเหมือนสมเด็จโต พรหมรังสี ที่วัดเกษไชโย อ่างทอง อนุสาวรีย์กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี พระพุทธรัตนมงคลสัมฤทธิ์ที่สิงห์บุรี และอนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ชลบุรี
ระหว่างปั้นพระบรมรูปขนาดสามเท่าของพระองค์จริงประดิษฐานบริเวณทุ่งมะขามหย่อง
ทว่า แม้จะผ่านงานปั้นและหล่อชิ้นสำคัญที่ล้วนแต่ท้าทายความสามารถมาแล้วมากมาย แต่โอกาสที่จะก้าวเข้าไปทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผ่านเข้ามาง่ายๆ ต้องใช้ความอุตสาหะอย่างมาก
กิตติชัย เล่าว่า เหตุที่ได้เข้าไปทำงานปั้นพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้นเริ่มจากที่ได้เข้าไปร่วมงานกับคิง เพาเวอร์ โดยต้องเข้าไปแก้แบบรูปปั้นทรงพระผนวชที่ไม่ทราบแหล่งที่มา ไม่ทราบว่าจ้างใครปั้นงานต้นแบบที่มีความสูงประมาณ 9 นิ้วชิ้นนั้น ทราบเพียงว่าเป็นต้นแบบที่คิง เพาเวอร์จัดทำขึ้นให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทอดพระเนตรและมีพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างได้
กิตติชัยกับพระบรมรูปทรงพระผนวชผลงานสะสมส่วนตัว
กระนั้น เมื่อจะขยายแบบเป็นขนาด 1.2 เท่า ก็ปรากฏว่าแบบที่ขยายนั้นไม่ผ่านการอนุมัติให้จัดสร้าง เพราะฝ่ายจัดสร้างมองว่าไม่เหมือนงานต้นแบบ มีประติมากรสองคนมาทำงานแก้แบบขยายที่ว่า แต่ก็ไม่ผ่าน ในเวลาเดียวกันอาจารย์กิตติชัยได้มีโอกาสติดต่อกับโรงหล่อของ ถวัลย์ เมืองช้าง เจ้าของโรงหล่อ เอเชีย ไฟน์ อาร์ท จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนจะได้รับการทาบทามให้ช่วยแก้งานที่ขยายขนาดไม่ผ่านนั้นให้ และได้ลงมือแก้ให้จนผ่าน งานที่แก้ไขจนผ่านปัจจุบันตั้งอยู่ในวัดบวรนิเวศวิหาร คู่กับรูปปั้นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผลงานชิ้นนี้กลายเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจและมั่นใจในความสามารถของประติมากรหนุ่มคนนี้จากธวัชชัย ทวีศรี กรรมการและเลขานุการมูลนิธิ คิง เพาเวอร์ และค่อยๆ พัฒนาเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีจนได้รับความไว้วางใจในงานสำคัญชิ้นต่อมา
“กระทั่งวันหนึ่ง ท่านธวัชชัยก็โทรศัพท์ไปหาคุณถวัลย์อีกครั้ง และบอกว่า ในหลวงท่านตรัสว่า ‘น่าจะมีรูปปั้นเราบ้าง’” ประติมากรหนุ่มเล่าวินาทีแห่งความตื่นเต้นขณะนั้น
จากนั้นก็ได้มีการมอบหมายให้ช่างของกรมศิลปากรไปจัดทำภาพสเกตช์ต้นแบบสำหรับเสนอสร้าง แต่ก็ไม่ผ่าน ถวัลย์ จึงเสนอกับธวัชชัยว่า ถ้าอย่างนั้น ลองให้ประติมากรน้อยฝีมือดีคนนี้ลองทำดู จึงมีโอกาสได้เข้าไปทำ
งานต้นแบบพระบรมรูปทรงงานก่อนหล่อเป็นสำริด
“ต้นแบบที่ผมเสนอไปเป็นรูปท่านถือกล้อง มีแผนที่ เมื่อท่านธวัชชัยนำภาพสเกตช์ต้นแบบไปให้ในหลวงทอดพระเนตร ท่านตรัสว่า อยากให้ปั้นรูปนี้ ถือว่าภาพสเกตช์ผ่าน ก็เลยได้รับพระบรมราชานุญาตอีกครั้ง ...ผมก็ปั้นๆ งานต้นแบบขนาด 60 เซนติเมตรไป โดยไม่รู้เลยว่ารูปที่ปั้นเมื่อแล้วเสร็จจะถูกขยายและนำไปไว้ที่ไหน ก็เลยถามท่านธวัชชัยว่า ท่านตรัสว่าจะไปตั้งที่ไหน ก็ได้คำตอบว่า จะไปตั้งที่คลองลัดโพธิ์ เมื่อได้ยินอย่างนั้น ประกอบกับที่เห็นว่ากำหนดการแล้วเสร็จ เหลือเวลาให้ลงมือทำไม่มาก ผมก็ยิ่งตื่นเต้นใหญ่ ระหว่างที่ปั้นต้องหอบต้นแบบไปให้ท่านธวัชชัยคอมเมนต์และปรับแก้ด้วยตัวเอง”
ต้นแบบที่แก้ไขแต่ละครั้งจะถูกเลขานุการมูลนิธิ คิง เพาเวอร์ นำไปทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพิจารณาอย่างละเอียดว่าตรงไหนต้องปรับแก้แล้วถึงจะถ่ายทอดมาถึงตนเองอีกครั้งว่า ในหลวงท่านพระราชทานคำแนะนำอย่างไร เช่น รายละเอียดสิ่งของประจำพระองค์ ท่านตรัสว่า ต้องมีดินสอตรวจแบบหรือดินสอสีน้ำเงินแดงสำหรับไว้ใช้มาร์คแผนที่ และดินสอธรรมดาซึ่งมีตรงท้ายเป็นยางลบ เป็นสิ่งของที่จะต้องทรงพกไว้ทุกครั้งที่เสด็จฯ ทรงงาน
“พระองค์ท่านจะมีแผนที่ที่เตรียมพร้อมแล้วว่าจะเสด็จฯ ตรงไหน จุดไหนที่สำคัญ ส่วนประกอบในการทรงงานอื่นๆ เช่น กล้องถ่ายรูปที่เห็นในพระบรมรูป วิทยุสื่อสาร ต้องเป็นรุ่นไหน ท่านโปรดประดับเข็มราชประชานุเคราะห์ที่ฉลองพระองค์ โปรดรองเท้ากันน้ำยี่ห้อพาลาเดียมรุ่นพิเศษหัวเป็นยาง แต่มีหนังหุ้มด้านข้าง นำเข้าจากฝรั่งเศสไว้เสด็จฯ ในพื้นที่ชื้นแฉะ องค์ประกอบทั้งหมดถูกประกอบเป็นส่วนรายละเอียดของพระบรมรูปที่ทำให้เห็นว่าพระองค์ทรงงานหนักเพื่อประชาชน” ประติมากรหนุ่มเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
กิตติชัย เล่าอีกว่า กว่าจะสำเร็จต้องมีการปรับแก้งานต้นแบบถึง 6 ครั้ง ก่อนจะนำไปให้ในหลวงทอดพระเนตรเพื่อตัดสินพระทัยเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะได้ทราบผลว่าจะทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นำไปขยายเป็นพระบรมรูปที่คลองลัดโพธิ์หรือไม่
พระบรมรูปทรงงาน ซึ่งเป็นงานต้นแบบที่กิตติชัยปั้นไว้เป็นคอลเลกชั่นส่วนตัว
“ผมจำได้ว่าวันนั้นท่านธวัชชัยโทรศัพท์มาบอกว่า กำลังจะนำงานต้นแบบไปเข้าเฝ้าฯ ที่โรงพยาบาลศิริราชเวลาประมาณ 5 โมงเย็น ผมเลยโพล่งบอกไปกับท่านธวัชชัยว่า ถ้าต้นแบบผ่าน จะบวชถวายเป็นพระราชกุศลให้พระองค์ท่าน พอพูดไปอย่างนั้น ในเวลาประมาณทุ่มตรงของวันนั้น ท่านธวัชชัยโทรศัพท์มาหาผมอีกครั้ง แล้วถามว่าเรื่องจะบวชถวายถ้าต้นแบบผ่านนั้นจะทำจริงหรือ แล้วก็เล่าอีกว่า พระองค์ท่านพอพระทัยในต้นแบบมาก เลยได้ทูลกับพระองค์อีกว่า ประติมากรบอกว่า ถ้าต้นแบบผ่าน จะบวชถวายเป็นพระราชกุศล แล้วในหลวงก็ตรัสถามว่า ‘เขาจะบวชให้เราหรือ’
จากนั้นกรณีเรื่องบวช ท่านธวัชชัยก็ได้ทำเรื่องไปยังสำนักพระราชวังเพื่อขอพระราชทานผ้าไตร แล้วในหลวงท่านก็โปรดเกล้าฯ มา พอทราบเรื่องอย่างนี้ ผมก็น้ำตาไหลออกมาเลย โดยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร พอได้กำหนดเวลาบวช ท่านธวัชชัยก็นำผ้าไตรพระราชทานมาให้ที่วัดในวันบวช” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงตื้นตันใจ
มือปั้นประติมากรรมทรงงานเล่าอีกว่า จากนั้นงานขยายแบบและนำไปติดตั้งก็ผ่านพ้นไป แต่รายละเอียดหนึ่งที่ตัวเขาจดจำได้ไม่ลืม คือเล่ากันว่า พระบรมรูปทรงงานความสูง 2.30 เมตร ที่ประดิษฐานบริเวณสวนสุขภาพลัดโพธิ์ ระหว่างสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 พระประแดง จ.สมุทรปราการนั้น เคยมีคนเสนอให้สร้างพระบรมรูปองค์ใหญ่สูง 9 เมตร แต่ในหลวงท่านไม่โปรดให้สร้างอะไรใหญ่ๆ ท่านดำริว่า ถ้าจะสร้างองค์ใหญ่ขนาดนั้น นำงบประมาณไปทำอย่างอื่นดีกว่า สร้างอะไรก็แต่พอเพียง
พระบรมรูปขนาดสามเท่าของพระองค์จริงก่อนนำไปประดิษฐานบริเวณทุ่งมะขามหย่อง
ในวันที่ 25 พ.ค. 2555 หลังจากที่ในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินทุ่งมะขามหย่อง พระองค์ทรงมีพระราชดำริอีกครั้งว่า อยากให้มีพระบรมรูปของพระองค์ประดิษฐานยังพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน
“หลังการเสด็จฯ ในครั้งนั้นไม่นาน ท่านธวัชชัยก็โทรมาบอกว่ามอบหมายให้ผมปั้นอีกงาน คราวนี้ระบุชัดว่าจะไปประดิษฐานที่ทุ่งมะขามหย่อง ขั้นตอนการทำงานก็คล้ายเดิมคือต้องมีการสเกตช์ปรับแก้ ปั้นงานต้นแบบ แต่รูปแบบครั้งนี้เป็นพระบรมรูปครึ่งพระองค์ ต้องเริ่มจากขนาดครึ่งเท่าของพระองค์จริง ต้นแบบผ่านก็ขยายเป็นเท่าพระองค์ และขยายใหญ่เป็นขนาดสามเท่าของพระองค์จริง”
กิตติชัย เล่าถึงงานอีกชิ้นหนึ่งที่เขาภาคภูมิใจ ซึ่งหมายถึงพระบรมรูปครึ่งพระองค์ซึ่งขณะนี้ประดิษฐานอยู่ที่อนุสรณ์สถานทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระบรมรูปที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554
เมื่อมาถึงช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ ประติมากรหนุ่มท่านนี้ก็บอกด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า นับเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลของเขา ที่มีโอกาสได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท งานพระบรมรูปที่ปั้นถวายถือเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต ตัวเขาเป็นเพียงพสกนิกรตัวเล็กๆ ก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านอย่างหาที่สุดมิได้ วันที่ทราบข่าวว่าพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต รู้สึกใจหายวาบ ทำอะไรไม่ถูก ตัวชาไปหมด เสียใจอย่างที่สุด แต่ก็บอกตัวเองว่า การดำรงชีวิตของตัวเองทุกวันนี้ยังยึดหลักตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และตั้งปณิธานจะปฏิบัติตนเป็นคนดี พร้อมทั้งจะยึดหลักคำสอนของพระองค์ท่านตราบชีวิตจะหาไม่