จันทร์เพ็ญใกล้โลก
คืนวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. 2559 ซึ่งเป็นวันลอยกระทง ดวงจันทร์จะสว่างเต็มดวงเนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์
โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด
คืนวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. 2559 ซึ่งเป็นวันลอยกระทง ดวงจันทร์จะสว่างเต็มดวงเนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อสังเกตจากโลก จันทร์เพ็ญในคืนวันลอยกระทงของปีนี้มีความพิเศษกว่าปกติเล็กน้อย เมื่อตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดในรอบหลายสิบปี
ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าแปรผันไปตลอดระยะเวลาราวหนึ่งเดือนของคาบการโคจรรอบโลก สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์เป็นวงรี ภายในวงรีมีจุดโฟกัส 2 จุด โลกอยู่ที่จุดโฟกัสจุดหนึ่งของวงรี ด้านหนึ่งบนวงโคจรจึงมีจุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุด (Perigee) อีกด้านหนึ่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกันคือจุดที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุด (Apogee)
ระยะห่างเฉลี่ยระหว่างจุดศูนย์กลางของดวงจันทร์กับจุดศูนย์กลางของโลกมีระยะทางราว 384,400 กิโลเมตร เมื่อดวงจันทร์ผ่านจุดใกล้โลกที่สุด ดวงจันทร์มีระยะห่างประมาณ 362,600 กิโลเมตร และเมื่อดวงจันทร์ผ่านจุดไกลโลกที่สุด ดวงจันทร์มีระยะห่างประมาณ 405,400 กิโลเมตร ดวงจันทร์ผ่านแต่ละจุดเฉลี่ยทุกๆ ประมาณ 27.55455 วัน อย่างไรก็ตาม ระยะห่างนี้ไม่เท่ากันทุกครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ได้อีกเล็กน้อย เนื่องจากดวงจันทร์ได้รับแรงโน้มถ่วงรบกวนจากวัตถุท้องฟ้าอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากดวงอาทิตย์
ที่ระยะห่างเฉลี่ย ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าประมาณ 0.52 องศา หากเราเหยียดแขนออกไปข้างหน้าให้สุด ปลายนิ้วของแต่ละคนสามารถบังดวงจันทร์ได้มิด หากเปรียบเทียบขนาดปรากฏบนท้องฟ้าขณะที่อยู่ใกล้โลกที่สุด ดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 0.55 องศา และเมื่ออยู่ไกลโลกที่สุด ดวงจันทร์มีขนาดเล็กลงเป็น 0.49 องศา
คาบดิถีหรือเวลาระหว่างจันทร์เพ็ญครั้งแรกถึงจันทร์เพ็ญครั้งถัดไป ยาวนานเฉลี่ย 29.530588 วัน ขณะที่คาบจุดใกล้หรือเวลาระหว่างที่ดวงจันทร์ผ่านจุดใกล้โลกที่สุดครั้งแรกถึงครั้งถัดไป ยาวนานเฉลี่ย 27.55455 วัน ตัวเลขสองค่าที่ต่างกันนี้ ทำให้จันทร์เพ็ญแต่ละครั้ง ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏไม่เท่ากัน หากจันทร์เพ็ญตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดพอดี หรือห่างกันไม่กี่ชั่วโมง ดวงจันทร์จะมีขนาดใหญ่กว่าค่าเฉลี่ย หรือที่เรียกกันว่าซูเปอร์มูน (Supermoon)
คืนวันลอยกระทงปีนี้ ดวงจันทร์เพ็ญเกิดขึ้นในช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลก ดวงจันทร์ผ่านจุดใกล้โลกที่สุดในเวลาประมาณ 18.21 น. ที่ระยะห่าง 356,509 กิโลเมตร (วัดจากศูนย์กลางโลกถึงศูนย์กลางดวงจันทร์) จากนั้นจันทร์เพ็ญเต็มที่ ซึ่งเป็นจังหวะที่ดวงจันทร์ทำมุม 180 องศา กับดวงอาทิตย์ เกิดขึ้นในเวลา 20.52 น. ขณะนั้นดวงจันทร์ถอยห่างออกไปอยู่ที่ระยะ 356,520 กิโลเมตร
ระยะห่างระหว่างโลกถึงดวงจันทร์ในคืนวันลอยกระทงปีนี้ถือได้ว่าใกล้ที่สุดในรอบหลายสิบปี วันที่ 21 พ.ย. 2515 จันทร์เพ็ญอยู่ใกล้โลกที่ระยะใกล้เคียงกับปีนี้ โดยอยู่ไกลกว่าเล็กน้อยที่ระยะ 356,524 กิโลเมตร (คำนวณ ณ เวลาจันทร์เพ็ญ) และหากค้นย้อนไปหาที่ระยะห่างที่ใกล้กว่านี้ ก็จะพบว่าวันที่ 26 ม.ค. 2491 จันทร์เพ็ญอยู่ห่างโลกที่ระยะ 356,490 กิโลเมตร
เมื่อมองไปในอนาคต จันทร์เพ็ญที่ใกล้โลกมากกว่าปีนี้จะเกิดขึ้นในเช้ามืดวันที่ 26 พ.ย. 2577 อยู่ห่างโลกที่ระยะ 356,446 กิโลเมตร อาจกล่าวได้ว่าจันทร์เพ็ญในวันที่ 14 พ.ย. 2559 อยู่ใกล้โลกที่สุดในรอบกว่า 80 ปี (นับจาก พ.ศ. 2491-2577)
หากพิจารณาอย่างละเอียด โดยคำนึงถึงตำแหน่งของผู้สังเกตในประเทศไทย ยกตัวอย่างที่กรุงเทพฯ เราจะพบว่าแท้จริงแล้วระยะทางระหว่างเราที่อยู่บนพื้นโลกถึงดวงจันทร์ในคืนวันลอยกระทง มีค่าน้อยที่สุดหรือเข้าใกล้กันที่สุด ไม่ใช่เวลาที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้ศูนย์กลางโลกที่สุด แต่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เที่ยงคืน เนื่องจากโลกจะหมุนจนนำพาเราซึ่งอยู่บนผิวโลกไปยังตำแหน่งที่อยู่ระหว่างดวงจันทร์กับจุดศูนย์กลางของโลก (อาจไม่ตรงกันพอดี แต่ใกล้เคียงที่สุดในห้วงเวลานั้น)
ที่กรุงเทพฯ ขณะดวงจันทร์ขึ้นในเวลา 17.48 น. ดวงจันทร์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 356,543 กิโลเมตร ขณะดวงจันทร์เพ็ญในเวลา 20.52 น. ดวงจันทร์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 352,237 กิโลเมตร และเมื่อดวงจันทร์ขึ้นไปอยู่สูงสุดบนท้องฟ้าในเวลา 00.16 น. ดวงจันทร์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 350,193 กิโลเมตร
เราจะรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ผิดสังเกตได้ทุกครั้งเมื่อดวงจันทร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า ซึ่งเป็นภาพลวงตา เกิดขึ้นได้โดยที่ดวงจันทร์ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่จุดใกล้โลกที่สุด เนื่องจากมีสิ่งต่างๆ อย่างอาคารบ้านเรือน ต้นไม้ ภูมิประเทศ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ขอบฟ้ามาเป็นตัวเปรียบเทียบ เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนสูงห่างจากขอบฟ้า เราไม่รู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ เพราะไม่มีอะไรที่อยู่ใกล้ๆ มาเปรียบเทียบจันทร์เพ็ญในคืนวันลอยกระทงนี้ใกล้เคียงกับช่วงที่ใกล้โลกที่สุดก็จริง แต่เราจะพบว่านั่นไม่ได้ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดใหญ่จนผิดไปจากค่าเฉลี่ยมากนัก พิสูจน์ได้โดยที่ปลายนิ้วของเราก็ยังคงสามารถบดบังดวงจันทร์ได้มิดเช่นเดิม
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (13-20 พ.ย.)
ท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำมีดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู มีตำแหน่งอยู่ใกล้ขอบฟ้าจนอาจสังเกตได้ยาก ขณะที่ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล สว่างน้อยกว่าดาวศุกร์ แต่อยู่สูงกว่า
ท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดมองเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว ดาวพฤหัสบดีขึ้นเหนือขอบฟ้าตั้งแต่เวลาราวตี 3 ครึ่ง แต่อาจเริ่มสังเกตเห็นได้ดีหลังจากนั้นอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อรอให้ดาวพฤหัสบดีเคลื่อนสูงห่างจากขอบฟ้ามากขึ้น เมื่อถึงเวลาราว 30 นาที ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ดาวพฤหัสบดีจะมีมุมเงยเหนือขอบฟ้าราว 30 องศา
ดวงจันทร์สว่างเต็มดวงในวันที่ 14 พ.ย. 2559 หลังจากนั้นเข้าสู่ข้างแรม คืนวันที่ 15 พ.ย. เวลาประมาณ 5 ทุ่ม ดวงจันทร์จะผ่านใกล้ดาวอัลเดบารันในกลุ่มดาววัว แต่อาจสังเกตดาวดวงนี้ด้วยตาเปล่าได้ยาก เนื่องจากแสงสว่างของดวงจันทร์จะกลบแสงของดาวข้างเคียง กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวอัลเดบารันอยู่ใกล้ขอบดวงจันทร์ แต่ไม่ถึงกับบังกัน ส่วนสว่างของดวงจันทร์ลดลงทุกวัน พร้อมกับเคลื่อนไปทางตะวันออกมากขึ้น เห็นดวงจันทร์บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดของทุกวัน ส่วนสว่างลดเหลือครึ่งดวงในต้นสัปดาห์ถัดไป