ทฤษฎีสัญญา (Contract Theory)
โดย...ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์
โดย...ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์
ขอแสดงความยินดีกับโอลิเวอร์ ฮาร์ท (Oliver Hart) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเบงก์ โฮล์มสตรอม (Bengt Holmström) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) กับการได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุด (ปี 2016) จากการเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิด “ทฤษฎีสัญญา” (Contract Theory)
ทฤษฎีสัญญาเป็นสาขาหนึ่งที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในบริบทของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย แต่กลับไม่ได้มีการศึกษากันมากนักในประเทศเรา สาขานี้อธิบายถึงการทำสัญญาของตัวแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Agents) ต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อตัวแทนเหล่านั้นต่างมีข้อมูลที่ไม่สมมาตร (Asymmetric Information) ระหว่างกัน หรือพูดง่ายๆ คือ รู้เราไม่รู้เขา
โดยจุดเริ่มต้นทฤษฎีจะอธิบายว่าเหตุใดสัญญาจึงมีหลายแบบ และช่วยให้เราออกแบบสัญญาที่ดีเพื่อสร้างองค์กรที่ดีได้อย่างไร ซึ่งองค์กรในที่นี้จะรวมทั้งองค์กรภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แนวคิดนี้ได้ถูกขยายไปสู่การทำสัญญาการจ้างงาน การจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานรวมถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์กร (ทั้งกับลูกจ้างทั่วไปจนไปถึงระดับ CEO และการจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากรภาครัฐ) รวมไปถึงการกำหนดแรงจูงใจที่เหมาะสมแก่คนเหล่านั้น
นอกจากนี้ ทฤษฎีนี้ยังอธิบายการแปรรูปองค์กร (Privatization) ว่าองค์กรนั้นๆ ควรจะเป็นของรัฐ หรือ ของเอกชน (โดยงานศึกษาของเขาใช้โรงเรียนและเรือนจำเป็นกรณีศึกษา) รวมไปถึงอธิบายว่าบริษัทควรจะมีการควบรวมกิจการ (Merging) หรือไม่ ซึ่งนำไปสู่แนวทางในการจัดการองค์กรในแบบต่างๆ
นอกจากการจัดการองค์กรแล้ว ทฤษฎีสัญญายังอธิบายไปถึงการทำสัญญาประกันพืชผลทางการเกษตรระหว่างรัฐกับเกษตรกร การทำสัญญาระหว่างบริษัทประกันกับผู้เอาประกัน การทำสัญญาระหว่างศิลปินกับค่ายเทป เป็นต้น
เนื่องจากปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลระหว่างผู้แทนดังกล่าว การจะทำสัญญาให้สมบูรณ์แบบ (Complete Contract) จึงเป็นเรื่องที่อาจเป็นไปไม่ได้เลย นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลทั้งสองนี้ จึงพยายามอธิบายรูปแบบการทำสัญญาที่ไม่สมบูรณ์ (Incomplete Contract) เพื่อให้เกิดระบบที่เป็นธรรมมากที่สุด
และปัจจัยที่ทำให้เกิดสัญญาที่ไม่สมบูรณ์นี้ก็คือ การที่ผู้ทำสัญญาไม่ได้มีความรู้หรือข้อมูลข่าวสารที่ไม่เท่ากัน หรือพูดตามภาษาเศรษฐศาสตร์ก็คือ การที่ตัวแทนเศรษฐกิจเหล่านั้นประสบปัญหา Asymmetric Information อันส่งผลทำให้ฝ่ายที่มีความรู้หรือมีข้อมูลข่าวสารมากจะกำหนดสัญญาที่จะได้เปรียบฝ่ายที่ไม่มีความรู้หรือไม่มีข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น
คิดง่ายๆ ครับ เพราะเหตุใด ชาวนาไทยส่วนใหญ่ถึงไม่รวย (เหมือนชาวนาต่างประเทศ ศิลปินนักวาดรูปถึงไส้แห้ง (ไม่มีฐานะดีพอเหมือนศิลปินต่างประเทศ) นักร้องนักแต่งเพลงถึงไม่ได้เป็นเจ้าของเพลงตัวเอง ทำไมนักเขียนนิยายไทยไม่มีทางร่ำรวยได้เหมือน J.K.Rowling ภายใต้ระบบสัญญาที่ไม่สมบูรณ์และเป็นธรรม อาชีพเหล่านี้ก็ “รวยยาก” ต่อให้ทำงานหนักแค่ไหนก็ตาม
ทฤษฎีนี้ยังอธิบายได้ว่า ถ้า แจ็ค หม่า (Jack Ma) เจ้าของอาณาจักรอาลีบาบา เว็บไซต์ e-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดของโลกจำต้องเริ่มธุรกิจแถวประตูน้ำ หรือบิล เกตส์ (Bill Gates) เจ้าพ่อในอุตสาหกรรมไอทีต้องเริ่มธุรกิจของเขาแถวห้างพันธุ์ทิพย์ (ด้วยความสามารถที่เท่ากับที่เขาเหล่านั้นเป็นอยู่ปัจจุบัน) พวกเขาเหล่านั้นจะยังคงร่ำรวยอยู่หรือไม่
หรืออีกแนวหนึ่ง เราเคยตั้งคำถามไหมว่า เหตุใดหน่วยงานราชการบางแห่งถึงมีประสิทธิภาพต่ำและควรต้องมีการแปรรูปในบางหน่วยงาน ทำไมคุกควรเป็นของเอกชน เพราะเหตุใดรัฐต้องจ่ายค่านำจับให้กับตำรวจ ซึ่งจริงๆ แล้วการจับผู้ร้ายก็เป็นหน้าที่ของตำรวจอยู่แล้ว และจะเป็นการดีกว่าหรือไม่ ถ้าจะเอาผลการเรียนของนักเรียนมาใช้ในการปรับขึ้นเงินเดือนของครู และเป็นไปได้หรือไม่ที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยอาจมาจาก CEO ของภาคธุรกิจแทนที่จะมาจากอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัย ทำไมการจัดซื้อจัดจ้างบ้านเราถึงมีช่องในการทำคอร์รัปชั่นอย่างง่ายๆ ทั้งหมดมันเกิดจากระบบการทำสัญญาที่ไม่สมบูรณ์ทั้งสิ้น
ด้วยแนวคิดที่เปิดกว้างและสามารถนำไปประยุกต์ได้หลากหลาย เศรษฐศาสตร์จึงเป็นสาขาเดียวในหมวดสังคมศาสตร์ที่มีรางวัลโนเบลยกให้สมกับฉายาที่ยกให้เศรษฐศาสตร์เป็น King of Social Science