ทรัพย์สินทางปัญญาในพระปรมาภิไธย และรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณ (ต่อ)
งานนวัตกรรมการประดิษฐ์ประเภทสิทธิบัตรเป็นอีกงานหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
โดย...พวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์
งานนวัตกรรมการประดิษฐ์ประเภทสิทธิบัตรเป็นอีกงานหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เป็นที่รู้จักกันดีไม่เฉพาะประชาชนชาวไทย แต่เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติด้วย คือ การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน หรือที่ประชาชนชาวไทยเรียกว่า “ฝนหลวง”
ฝนหลวงเป็นงานอีกงานหนึ่งในหลายๆ งานที่เกิดขึ้นจากน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงช่วยราษฎรบรรเทาภัยและความยากจนจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน พระองค์ทรงพบเห็นจากการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภาคอีสานเมื่อปี 2498 ทรงไต่ถามทุกข์สุขของราษฎรและได้ทรงพระราชดำริว่า ภัยน้ำท่วมและฝนแล้ง หรือความผันผวนปรวนแปรไม่แน่นอนของฝนธรรมชาติ คือสาเหตุที่แท้จริงของความยากจนของราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในปีเดียวกันนั้นก็ทรงเริ่มค้นหาวิธีทำให้ฝนตก โดยได้เริ่มให้ปฏิบัติการในท้องฟ้าเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2512
พระองค์ทรงวิจัยพัฒนาขั้นตอนวิธีการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝนให้แม่นยำ ควบคุมได้มากขึ้น และได้ทรงสรุปขั้นตอนการดำเนินงานเป็น 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน เป็นการกระตุ้นให้เมฆรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเพื่อใช้เป็นแกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝนในระยะต่อมา สารเคมีที่ใช้ได้แก่ แคลเซียมคลอไรด์ แคลเซียมคาร์ไบด์ แคลเซียมออกไซด์ หรือส่วนผสมระหว่างเกลือแกงกับสารยูเรีย หรือสารผสมระหว่างสารยูเรียกับแอมโมเนียมไนเตรต ซึ่งสารผสมดังกล่าวจะก่อให้เกิดกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำในอากาศ
ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน ใช้เคมี คือเกลือแกง สารประกอบสูตร ท.1 สารยูเรีย แอมโมเนียมไนเตรต น้ำแข็งแห้ง และอาจใช้สารแคลเซียมคลอไรด์ร่วมด้วย เพื่อให้เกิดแกนเม็ดไอน้ำให้กลุ่มเมฆมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น
ขั้นตอนที่ 3 โจมตี สารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนนี้เป็นสารเย็น คือซิลเวอร์ไอโอไดด์ และน้ำแข็งแห้ง เพื่อให้เกิดภาวะไม่สมดุลมากที่สุด ซึ่งจะเกิดเป็นเม็ดที่มีขนาดใหญ่มากและเป็นฝนตกลงมาในที่สุด
การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝนนี้ ยังได้มีการพัฒนาต่อมาอีกระยะเวลาหนึ่งเรียกว่า “ซูเปอร์แซนด์วิช (Super Sandwich) ที่ถือเป็นเทคนิคการโจมตีเมฆแบบใหม่ขึ้นในปี 2542 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงปี 2540-2542 จากปรากฏการณ์เอลนินโญ ซึ่งเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เกิดไฟป่าขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ ได้ทรงประดิษฐ์เป็นภาพการ์ตูนโดยทรงใช้คอมพิวเตอร์อธิบายขั้นตอนกรรมวิธี ที่พระองค์ทรงทำ โดยเพิ่มขั้นตอนเป็น 6 ขั้นตอน ซึ่งรวมวิธีการโจมตีเมฆที่มีประสิทธิภาพสูงมากอีก 1 วิธี และได้พระราชทานให้คณะปฏิบัติงานนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป ได้ดำเนินการประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง
โดยสรุป พระองค์ทรงใช้เทคโนโลยีที่เกิดจากการประยุกต์วิทยาการ 4 แขนงคือ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมีและวิศวกรรมประยุกต์ ทำให้เกิดฝน ทั้งจากเมฆอุ่นและเมฆเย็น โดยทรงหวังผลให้เกิดฝนตกลงบนพื้นที่เป้าหมาย แผ่เป็นบริเวณกว้าง เพิ่มความถี่ของฝน และปริมาณน้ำฝนให้มากกว่าฝนที่ตกตามธรรมชาติ
พระองค์ได้เคยทรงวางแผนและบัญชาการควบคุมการปฏิบัติการฝนหลวงนี้ให้ผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์ชม โดยทรงควบคุมให้ฝนตกลงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้ภายในเวลา 5 ชั่วโมง เป็นที่ชื่นชมของผู้ได้เห็นเหตุการณ์ในวันนั้นกันทุกคน
การคิดค้นการทำฝนหลวง ได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายการจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อปี 2545 ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์คือ การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน นอกจากนี้โครงการฝนหลวงยังได้รับรางวัลเหรียญทองเชิดชูเกียรติ และหนังสือประกาศเกียรติคุณในฐานะโครงการดีเด่นด้านสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสาธารณชนในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางเทคโนโลยีบรัสเซลส์ ยูเรกา 2544 (Brussels Eureka 2001)
เนื่องในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สำนักสิทธิบัตรยุโรป (European Patent Office-EPO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรเลขที่ 1491088 แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2548 คุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ชื่อ Weather Modification by Royal Rainmaking Technology หรือสิทธิบัตรฝนหลวง ที่ทรงจดทะเบียนในพระปรมาภิไธย นับว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวของโลกที่ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรนี้
สิทธิบัตรฝนหลวงครอบคลุมและขยายผลคุ้มครองถึง 30 ประเทศในยุโรป อาทิ ออสเตรีย ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฯลฯ รวมทั้งเขตปกครองพิเศษฮ่องกง
โครงการฝนหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงศึกษาและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทางวิเคราะห์ และใช้ความรู้ด้านวิชาการ จนทรงสามารถพระราชทานโครงการฝนหลวงมาบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารมาตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ