ทิศทางอนาคตประชากรไทย เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ
สังคมไทยกำลังเผชิญกับสังคมสุงอายุ และความสมดุลของประชากรวัยต่างๆ ที่กำลังเป็นปัญหาในอนาคตโดยเฉพาะด้านงบประมาณ
โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ
สังคมไทยกำลังเผชิญกับสังคมสุงอายุ และความสมดุลของประชากรวัยต่างๆ ที่กำลังเป็นปัญหาในอนาคตโดยเฉพาะด้านงบประมาณ
ช่วงเวลา 50 ปี นับตั้งแต่ปี 2509 ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางประชากร หรือวิทยาลัยประชากรศาสตร์ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาการเติบโตของประชากร เนื่องจากสังคมไทยในอดีตเป็นสังคมเกษตรกรรมอัตราการเกิดสูง ขณะที่อัตราการตายอยู่ในระดับสูงด้วยเช่นกัน
ทว่า เมื่อระบบสาธารณสุข ระบบการแพทย์มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้มากขึ้น พร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คู่สมรสตระหนักถึงภาระทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการมีครอบครัวใหญ่ ประกอบกับคู่สมรสจำนวนไม่น้อยมีความต้องการแฝง ยอมรับวิธีควบคุมภาวะเจริญพันธุ์ ทำให้อัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำ
แนวโน้มอัตราเจริญพันธุ์รวมของประเทศไทย Total Fertility Rate (TFR) พบว่า ตั้งแต่ปี 2508-2513 จำนวนบุตรที่สตรีให้กำเนิดคิดเป็น 5.98 คน/สตรีวัยเจริญพันธุ์ 1 คน จากนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องกระทั่งปี 2558 ไปจนถึงการคาดการณ์ว่าปี 2563 จำนวนบุตรที่สตรีให้กำเนิดจะเหลือเพียง 1.46 คนเท่านั้น
ขณะที่อายุเฉลี่ยของผู้สูงวัย พบว่า ปี 2508-2513 มีอายุโดยประมาณอยู่ที่ 55.89-60.59 ปี สัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 5.2% แต่ผลการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันปี 2558-2563 ผู้สูงวัยจะมีอายุเฉลี่ยยาวนานขึ้น หรือคิดเป็น 71.82-78.46 ปี และมีสัดส่วนผู้สูงอายุ่ 15.8%
จากสถิติข้างต้นทำให้สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาผลกระทบโครงสร้างประชากรในสัดส่วนประชากรวัยเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ ที่ไม่สมดุลกัน
แนวทางแก้ปัญหาถูกนำเสนอโดย นิพนธ์ เทพวัลย์ ศาสตราภิชาน เงินทุนบริหารทั่วไป กองทุนวิทยาลัยประชากรศาสตร์ ผ่านผลงานวิจัยเรื่อง “ประเทศไทยต้องการวางแผนครอบครัวหรือไม่”
นิพนธ์ กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาประชากรวัยเด็ก 1.ควรส่งเสริมให้ครอบครัวมีบุตรในระดับการทดแทนอย่างน้อย 2 คน ควบคู่ไปกับนโยบายพัฒนาคุณภาพประชากร โดยรัฐบาลต้องส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกต่อการสมรส ส่งเสริมคุณค่าของการมีบุตรและการสร้างครอบครัวที่มั่นคง 2.สนับสนุนการให้สินเชื่อซื้อบ้าน 3.ให้ครอบครัวลดหย่อนภาษีเงินได้ สำหรับค่าใช้จ่ายของบุตรเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
4.ให้เงินช่วยเหลือครอบครัว โดยจ่ายเป็นระยะ ข้อควรระวังคือ ไม่จ่ายเงินเป็นก้อน เพราะอาจมีผู้ยอมตั้งครรภ์เพื่อแลกเงิน ซึ่งไม่มีความพร้อมในการดูแลเด็กเกิดใหม่ และ 5.เพิ่มสิทธิการ
ลาคลอด อีกทั้งให้บิดาและมารดาลาหยุดงานเพื่อดูแลบุตรเพิ่มขึ้น
ถัดมาคือแนวทางแก้ปัญหาคนวัยทำงาน เนื่องจากในอนาคตคนวัยทำงานจะลดลง จึงควรเร่งแก้ไขดังนี้ 1.ขยายอายุเกษียณการทำงานจาก 60 ปี เป็น 65 ปี การทำเช่นนี้จะเพิ่มแรงงานได้อีกทางหนึ่ง 2.จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนที่รัฐให้เงินสนับสนุน รวมถึงส่งเสริมหน่วยงานเอกชนขนาดใหญ่มีสถานรับเลี้ยงเด็กด้วย 3.ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนแรงงานคนในภาคอุตสาหกรรม และ 4.ผลิตแรงงานที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ เติมเต็มในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน
สำหรับการแก้ปัญหาในด้านประชากรสูงวัย นิพนธ์ กล่าวว่า ควรปฏิบัติตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (ปี 2545/2564) อาทิ มาตรการหลักประกันรายได้ให้การศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต และปลุกจิตสำนึกให้คนในสังคมตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ
“เราอยู่ในภาวะที่เด็กเกิดน้อยลงและไม่มีคุณภาพ ขณะที่ภาวะแรงงานลดต่ำลงและต้องไปใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้มีแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือเข้าไทยกว่า 1 ล้านคน ทั้งยังเข้ามาคลอดลูกในเมืองไทยแล้วกว่า 1 แสนคน ปัญหาเหล่านี้ยังไม่มีนโยบายรัฐบาลที่ชัดเจนเข้ามาแก้ปัญหา เช่น ต้องจำกัดจำนวนแรงงานที่มีความสามารถตามจำนวนที่กำหนดเท่านั้น” นิพนธ์ กล่าว
เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ทิศทางประชากรไทยจะไปทางไหนดี คือคำถามที่ต้องพิจารณาจากเรื่องของการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ปลูกฝังเยาวชน เพราะสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือสังคมผู้สูงอายุเจเนอเรชั่น เอ็กซ์ วาย ที่กำลังก้าวขึ้นเป็นผู้สูงวัย อาจมีความต้องการที่ยากจะเข้าใจ สืบเนื่องจากทุกวันนี้เจเนอเรชั่นนี้มักมีพฤติกรรมโลกส่วนตัวสูง
ถัดจากนั้นคือเจเนอเรชั่น “อัลฟ่า” เป็นเด็กที่เติบโตในโลกไร้พรมแดน หรือเด็กที่เกิดประมาณปี 2553 เป็นต้นมา เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่มีฐานะ เงินทอง สัมผัสเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก อาจมีความรู้สึกเบื่อง่าย ไม่อดทน สมาธิสั้น
“จากนี้การกำหนดนโยบายจะต้องไม่ทำเหมือนเดิมอีกต่อไป สิ่งที่กังวลที่สุดคือ ยังไม่เคยศึกษาการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบต่อประชากรยุคใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น สมาร์ทโฟน โมบายแบงก์กิ้ง สิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้” เทียนฉาย กล่าว