"จัดระเบียบเรือคลองแสนแสบ"...ถึงเวลาเงี่ยหูฟังประชาชน
จากอุบัติเหตุสะเทือนใจสู่นโยบาย"จัดระเบียบเรือคลองแสนแสบ"
โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด
เหตุการณ์ผู้โดยสารพลัดตกเรือด่วนคลองแสนแสบ บริเวณท่าเรือนานาชาติ ซอยสุขุมวิท 15 กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วสังคมถึงมาตรฐานความปลอดภัยของระบบขนส่งสาธารณะชนิดนี้
คำถามน่าสนใจก็คือ วันที่การขนส่งทุกระบบกำลังเดินหน้าพัฒนาด้วยการลงทุนมหาศาล แต่อะไรกัน เป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ ในเมืองหลวงของประเทศไทย
"คนขับจอดไม่สนิท-ผู้โดยสารรีบเร่ง"ต้นตออุบัติเหตุ
หลังเหตุสลด ความวิตกกังวลได้แผ่ซ่านไปในหมู่ผู้โดยสารที่นิยมใช้บริการเรือด่วนคลองแสนแสบในชีวิตประจำวัน
สุรพล ทิพย์ปรีดา เล่าว่า นั่งเรือมากนานกว่า 5 ปีแล้ว เขามองว่าสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากเรือหลายลำจอดเทียบท่าไม่สนิทและออกตัวจากท่าเร็วเกินไป แต่ยอมรับว่าผู้โดยสารหลายคนก็ประมาท ขึ้นลงเรือทั้งที่ยังไม่จอดสนิท
“เวลาเทียบท่ากับเวลาออกจากท่า มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่มีความสม่ำเสมอ คนขึ้นลงกะจังหวะก้าวเท้าลำบาก เก่งหน่อยไม่มีปัญหาหรอก แต่ถ้าไม่คุ้นชิน เพิ่งเคยนั่งหรือนานๆนั่งทีก็ต้องระมัดระวังหน่อย ส่วนพวกที่ชอบยืนกราบเรือก่อนเทียบท่าก็มีให้เห็นเหมือนกัน พวกนี้รีบร้อนเกินไป เรือยังไม่ทันเทียบท่า เจ้าหน้ากำลังมัดเชือกที่หลัก ก็โดดแล้ว”
เบญจวรรณ นักศึกษาสาวที่เดินทางโดยสารคลองแสนแสบเป็นประจำ เล่าว่า ความปลอดภัยในการขึ้นลงอยู่ที่เทคนิคและความชำนาญมากกว่ามาตรฐานของเรือและผู้ขับขี่
“คนมีประสบการณ์กะจังหวะถูกก็เสี่ยงน้อย คนไหนพลาดขึ้นมาก็ซวย เรือบางลำก็ขับเหมือนรถเมล์ ท่าไหนมีผู้โดยสารน้อยก็อาจจะจอดไม่สนิท เพราะมั่นใจว่าคนขึ้นลงก้าวข้ามได้อย่างปลอดภัย ที่น่ารำคาญก็คือ คนเก็บตังค์ บางคนชอบส่งเสียงให้เรารีบๆก้าว ไม่รู้มันจะกดดันไปไหน”
เธอเสนอว่า เรือโดยสารถือเป็นระบบขนส่งที่ทำความเร็วได้ดีกว่ารถเมล์มาก ฉะนั้นควรจัดทำระบบขึ้นลงให้เป็นระบบ ลดความเร่งรีบลงไปบ้าง ทั้งพนักงานขับเรือ พนักงานเก็บค่าโดยสาร และผู้โดยสาร เพื่อความพอใจและปลอดภัยของผู้ใช้
ด้าน เจ้าหน้าที่ประจำสถานีจากกรมเจ้าท่ารายหนึ่งที่ส่งเสียงเตือนผู้โดยสารผ่านโทรโข่งตลอดทั้งวันว่า “ไม่ต้องรีบครับ ไม่ต้องรีบ รอให้เรือนิ่งก่อน” บอกว่า ผู้โดยสารบางรายมีปัญหาในการขึ้น-ลงจริง มักก้าวขาขึ้นก่อนเรือเทียบท่า เสี่ยงต่อการผิดจังหวะหากเรือยังไม่นิ่งพอ
"ช่วงหลังเลิกงานทุกคนรีบกลับบ้าน เรือยังยอดไม่สนิทบางทีก็รีบก้าว ระดับน้ำแต่ละวันก็ไม่เท่ากัน กะจังหวะลำบาก เราเตือนเสมอว่าไม่ต้องรีบครับ แต่ก็มีพวกไม่ฟัง บางคนทำหน้าเบื่อด้วย ว่าพูดอยู่นั่นแหละ”
"คมนาคม-เจ้าท่า"ประสานเสียงเร่งแก้ไข
เสียงจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างกระทรวงคมนาคม ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนี้ไปจะสั่งเอาผิดจริงจังไม่มีข้อยกเว้นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ควบคุมเรือและผู้ขับเรือหากละเว้นไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ จะไม่มีการลงทัณฑ์บนอย่างที่ผ่านมา ถ้าพบการกระทำผิดซ้ำจะดำเนินการพักใบอนุญาตการขับเรือ จนถึงการยึดใบอนุญาตขับเรือตลอดชีพ ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำท่าต้องมีความผิดทางวินัยด้วย หากละเลยจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
นอกจากนั้นยังได้กำชับถึงเอกชนให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเรือให้แยกทางขึ้นและลงเรือ รวมถึงการทำช่องทางเดินบริเวณกลางลำเรือเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารระหว่างการขึ้นลง โดยจะนำการจัดรูปแบบดังกล่าวมาทดลองให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.นี้ เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อสำรวจความคิดเห็นและเสียงตอบรับ
“อนาคตมีแผนจัดระเบียบจะปรับปรุงทางเชื่อม (lamp) ขึ้น-ลงบริเวณท่าเรือ และติดตั้งกล้องวงจรปิดประจำเรือทุกลำเพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราสนับสนุนบริษัทเอกชนผู้ให้บริการเปลี่ยนมาใช้เรือโดยสารระบบแบตเตอรี่เพื่อลดการปล่อยมลพิษลงสู่แม่น้ำตลอดจนลดมลภาวะทางเสียงที่เกิดขึ้น ตลอดจนจัดความถี่ตารางเวลาเดินเรือ (Boat Schedule) ในคลองแสนแสบใหม่เพื่อลดปัญหาการทำรอบ หลังจากได้รับรายงานว่าเรือแต่ละลำแข่งกันรับผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด โดยใช้วิธี ต้อนให้ผู้โดยสารคนลงเรือก่อนและเก็บค่าโดยสารภายหลัง ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องมีการกำหนดให้ผู้โดยสารซื้อตั๋วก่อนลงเรือ เพื่อแยกการให้บริการก่อนลงเรือ”
ขณะที่ จิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านมาตรฐานการขนส่งทางน้ำ กล่าวว่า เรือรูปแบบใหม่ที่เตรียมใช้งานจะมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น แต่อาจจะสูญเสียความสะดวกสบายหรือรวดเร็วลงไปบ้าง เนื่องจากมีทางขึ้น-ลงชัดเจน ไม่สามารถขึ้นลงส่วนไหนก็ได้เหมือนปกติ
คำถามคาใจประชาชนที่ว่า กรมเจ้าท่าสั่งยกระดับมาตรฐานเรือโดยสารให้ดีกว่านี้ไม่ได้หรือ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ยืนยันว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการพยายามพัฒนาเรือให้ดีขึ้นเสมอ แต่ติดเรื่องงบประมาณ อย่ามองว่ามีผู้โดยสารจำนวนมากแล้วเอกชนจะมีกำไรสูง จริงแล้วไม่ใช่ ต้นทุนในการบริหารจัดการเดินเรือค่อนข้างสูง นอกจากเรือ ยังมีท่าเรือที่ต้องดูแล ทำให้ไม่มีเอกชนรายอื่นกล้าเข้ามาลงทุน
“เรือแพง ไม้แพง คนขับก็หายาก มีจำนวนน้อย กว่าจะพัฒนาทักษะให้สามารถขับรับ-ส่งผู้โดยสารในบริเวณคลองแสนแสบซึ่งมีขนาดเล็กได้ต้องใช้เวลานาน การขับเรือไม่เหมือนขับรถ อย่านึกว่าเอกชนเขาแย่งกันมาเดินเรือ ต้นมันสูง กรมเจ้าท่าอยากให้มีการแข่งขันเพื่อพัฒนา แต่ความเป็นจริงไม่มีเลย”
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งจากกรมเจ้าท่า ให้ข้อมูลเสริมว่า อุปสรรคและข้อจำกัดในการพัฒนาระบบขนส่งโดยสารทางเรือบริเวณคลองแสนแสบนั้นมีหลายด้าน ไล่ตั้งแต่ สะพานข้ามคลองที่แต่ละแห่งค่อนข้างต่ำ ความกว้างของคลองที่ส่งผลต่อขนาดเรือและท่าเรือ ที่สำคัญยังขาดความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน
“ความสะดวกและปลอดภัยในการเดินเรือนั้นยกระดับได้ ประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ก็เดินเรือในคลอง ออกแบบให้เป็นระบบปิด ติดแอร์ สวยงาม ปลอดภัย ถ้าจะบ้านเราจะสร้าง ยังไงก็ทำได้ อาจทดลองสัก 2-3 ลำ เก็บค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเพื่อยกระดับ คิดว่าผู้โดยสารน่าจะอุ่นใจและมีผู้อยากใช้เพิ่มขึ้น”
คืบหน้าล่าสุด"เรือใหม่"พร้อมใช้ 15 ธ.ค.นี้
ฝั่งเอกชนผู้ให้บริการเดินเรือขนส่งบริเวณคลองแสนแสบอย่าง บริษัทครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ขณะนี้กำลังเร่งพัฒนาสร้างเรือให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และพร้อมทดลองให้บริการเรือใหม่ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ จำนวน 2 ลำ
เชาวลิต เมธยะประภาส เจ้าของกิจการครอบครัวขนส่งฯ กล่าวว่า เรือรูปแบบใหม่จะมีทางขึ้นลงชัดเจน ซ้ายและขวาด้านละ 2 ประตู เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารสามารถยืนบนกราบเรือก่อนขึ้น-ลงได้อีก พร้อมกับติดตั้งพลาสสติกใสที่มีความแข็งแรงทดแทนแผ่นผ้าใบรอบลำเรือ ป้องกันปัญหาน้ำกระเด็นใส่ผู้โดยสาร ขณะที่ภายในได้เพิ่มช่องทางเดินบริเวณกลางลำเรือเพื่อความสะดวกของประชาชน
“การปรับปรุงใหม่ จะมีทางเข้าออก 4 ช่องทางเท่านั้น ซ้าย 2 ขวา 2 และเพิ่มทางเดินตรงกลาง จากนี้จะกรูเข้าไปพร้อมๆกันเป็นแถวไม่ได้แล้ว แต่ก็มีข้อเสีย หากเรืออับปางจะหนีออกจากเรือได้ยาก แตกต่างจากปัจจุบันที่มีลักษณะเปิดโล่ง”
เชาวลิต เปรียบเทียบความปลอดภัยของการโดยสารทางเรือกับทางบกว่า ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันเคารพกฎอย่างเคร่งครัด ปัญหาจะลดน้อยลง
“การขึ้นลงทางเรือก็เหมือนทางบก มีลักษณะเหมือนกับพวกรถไฟฟ้า MRT BTS คนในออกก่อน คนนอกค่อยเข้า รอเรือจอดสนิทก่อนค่อยก้าว ถ้าเคารพกฎ ปัญหาจะไม่เกิด”
เจ้าของกิจการครอบครัวขนส่งฯ พูดถึงข้อกำจัดในการพัฒนาว่า ที่ผ่านมา ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัท ทำให้ต้องลงทุนด้วยเงินสด ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการพัฒนามาก
“ทำอะไร แบงค์ก็ไม่ให้กู้ ทุกวันนี้เรือลำนึงลำก็ 7 ล้านบาทแล้ว แค่ค่าเครื่องยนต์ก็เกือบ 2 ล้าน” เชาวลิตกล่าวสั้นๆ
ปัจจุบันบริษัทครอบครัวขนส่งฯ มีเรือโดยสารทั้งสิ้น 72 ลำ ใช้งานจริง ประมาณ 57-59 ลำต่อวัน โดยมี 2 ขนาด ความยาวประมาณ 20-24 เมตร กว้างประมาณ 4 เมตร รองรับผู้โดยสารได้จำนวน 150 คน และ 100 คน ตามลำดับ
เชาวลิต บอกถึงมาตรฐานของพนักงานขับเรือโดยสารให้ทุกคนสบายใจว่า กว่าจะเป็นพนักงานขับเรือได้ต้องมีประสบการณ์ผ่านการเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารให้กับบริษัทอย่างน้อย 5 ปี เพื่อเรียนรู้เส้นทางก่อน ขณะที่บทลงโทษ หากกระทำความผิด โทษสูงสุดคือไล่ออก ส่วนประเด็นการขับเร็วเพื่อทำรอบ ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน
“15 ธ.ค.นี้ก็ลองดูว่า สังคมจะชอบหรือไม่ชอบ ค่อยๆออกแบบพัฒนาไป การออกแบบสมบูรณ์เพียงแค่ในกระดาษ แต่ใช้งานจริงต้องทดลองและแก้ไขปรับแต่งไปเรื่อย คนไทยปกติช่างพูดอย่างเดียว ไม่ได้ช่างทำ ขอให้ช่วยกันคิด ทำแล้วค่อยพูด ไม่ใช่พูดอย่างเดียว”
ถึงเวลาให้ความสำคัญกับระบบขนส่งทางเรือ
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนต.ค.2558 สถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพ” หนึ่งในข้อเท็จจริงที่่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีนี้ก็คือ มีการลงทุนมหาศาลในระบบขนส่งมวลชนที่คนใช้ไม่มาก เช่น แอร์พอร์ตลิงค์ที่ลงทุนถึง 3.3 หมื่นล้านบาท กลับมีผู้โดยสารใช้เพียง 17 ล้านคนต่อปี BRT มีการลงทุน 2.8 พันล้านบาท มีผู้โดยสารใช้บริการ 6 ล้านคนต่อปี ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือโดยสารในคลองแสนแสบ ได้งบประมาณเพียง 70 ล้านบาทในการดูแล ทั้งที่มีผู้ใช้บริการสูงถึง 29 ล้านคนต่อปี
ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับการขนส่งทางเรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายน่าจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากผลประโยชน์ทั้งหมดตกอยู่กับประชาชน
“เอกชนไม่ได้ทำเรือส่วนตัวหรือลักษณะท่องเที่ยว แต่เป็นเรือโดยสารสาธารณะที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ถ้ามองว่าการขนส่งทางน้ำเป็นประโยชน์ หน่วยงานต่างๆ เช่น กทม. กรมเจ้าท่า หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ต้องช่วยเหลือได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน เหมือนกับรถเมล์ รถไฟ ที่รัฐบาลยังมีนโยบายขึ้นฟรีให้เลย”
ดร.บัณฑิตชี้ว่า การให้ความสำคัญกับระบบขนส่งทางน้ำ จะส่งผลต่อระบบชนส่งโดยรวม ทั้งยังเป็นการสืบทอดวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางทางน้ำมาตั้งแต่อดีตด้วย
“ลองคิดดูว่าถ้าวันหนึ่งคนเหล่านี้เปลี่ยนไปขับขี่รถยนต์ การจราจรจะติดขนาดไหน หรือเปลี่ยนไปนั่งรถไฟฟ้า รถเมล์ คนแน่นขนาดไหน วันนี้เรือโดยสารแบ่งเบาภาระให้กับการจราจรแล้ว เมื่อมีปัญหาก็น่าจะมีคนช่วยเหลือพัฒนา เหมือนกับเวลาที่คนจำนวนมากบอกว่าไม่อยากใช้รถแต่อยากเดินบนทางเท้า เราก็ควรทำทางเท้าให้ดี”
ยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกชุมชน ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เรือคลองแสนแสบ นับเป็นการเดินทางที่ไม่ติด และสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างตรงเวลา ที่สำคัญหากมองในแง่สิทธิ์ความเท่าเทียม เรือ 1 ลำที่บรรจุผู้โดยสารได้ถึง 100 คน ก็ควรได้รับคุณค่าและความสำคัญเท่ากับรถยนต์
“วันหนึ่งมีคนนั่งเรือประมาณ 6 หมื่นคน เท่ากับสิทธิ์ของรถ 6 หมื่นคัน ซึ่งมากกว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงด้วยซ้ำ ลองคิดดูถ้าเรือเป็นรถไฟฟ้า รัฐคงเทงบประมาณมหาศาลในการปรับปรุงพัฒนา แต่พอเป็นเรือ รัฐกลับยังใช้ระบบท่าเรือที่ใช้กันมาเกือบร้อย ปี เรือยังไม่สามารถออกแบบให้ติดแอร์ได้เลย วันนี้เรือควรเป็นเนื้อเดียวกันกับระบบรถไฟฟ้า และให้เกียรติคนนั่งในแบบเดียวกัน อาจจะมีนโยบายใช้ตั๋วร่วมเรือต่อรางที่ใช้ได้ในราคาเดียว ภายใน 2 ชั่วโมง"
สถาปนิกชื่อดัง ทิ้งท้ายว่า ตัวอย่างจากประเทศอื่นที่ไม่มีเรือโดยสารที่คนใช้มากเท่าเรือแสนแสบ ดังนั้นถึงเวลาที่เราต้องคิดในแง่วิศวกรรมและออกแบบว่า จะปรับปรุงอย่างไรให้คนยังใช้มากเหมือนในปัจจุบัน ทว่าปลอดภัยและสะดวกสบายขึ้น
นาทีนี้อาจถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับระบบขนส่งทางน้ำซึ่งรองรับพี่น้องประชาชนผู้ใช้งานกว่า 20 ล้านคนต่อปีอย่างจริงๆจังๆเสียที