ชาวเลอูรักลาโว้ย มนุษย์ที่โลก(ภูเก็ต)ลืม
เมื่อก่อนเรากลัวโจรปล้นเรือนะ แต่ทุกวันนี้เรากลัวโจรในเครื่องแบบ กลัวกฎหมาย ถ้าโดนจับก็ต้องจ่ายเงิน เขาเอากฎหมายมาอ้างเยอะแยะจนเรากลัว กฎหมายมันมีเยอะจนเราปรับตัวไม่ทัน....
เมื่อก่อนเรากลัวโจรปล้นเรือนะ แต่ทุกวันนี้เรากลัวโจรในเครื่องแบบ กลัวกฎหมาย ถ้าโดนจับก็ต้องจ่ายเงิน เขาเอากฎหมายมาอ้างเยอะแยะจนเรากลัว กฎหมายมันมีเยอะจนเราปรับตัวไม่ทัน....
โดย...วิทยา ปะระมะ
ท่ามกลางความคึกคักของหาดราไวย์ แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อบนเกาะภูเก็ต ที่คลาคล่ำไปด้วยนักเดินทางมาเสาะแสวงหาสินค้าที่ระลึก บ้างเดินด้วยเท้ามาจากโรงแรมหรูริมหาด หรือแม้เกสต์เฮาส์และรีสอร์ตจากบริเวณใกล้เคียง เพื่อมองหามู่ลี่ร้อยจากเปลือกหอยชิ้นเล็กๆ สักชิ้น บ้างก็กำลังเปรียบเทียบความใหญ่ของเปลือกหอยมือเสือ และชั่งใจว่าจะซื้อชิ้นไหนดี ส่วนพ่อครัวจากร้านอาหารก็กำลังเดินหาซื้อปลาสดๆ ที่เพิ่งขึ้นจากเรือไปปรุงเป็นอาหารเลิศรสรอรับแขกต่างชาติผู้มาเยือน
ภาพชีวิตที่ดำเนินอยู่บริเวณชายหาดอันดามันแห่งนี้ช่างสวยหรู เบ่งบาน ต้อนรับการท่องเที่ยวและเงินตรา ราวกับสาวน้อยวัยกำดัดที่พร่ำพลอดกับคนรักผู้มาจากแดนไกลอย่างสุขสม ความเจริญที่ถาโถมเข้ามาเปลี่ยนแปลงเมืองทั้งเมืองให้กลายเป็นแดนศิวิไลซ์ เสกโรงแรมหรู หาดทรายสวย เหล้า บาร์ สถานที่ท่องเที่ยวบรรยากาศโรแมนติก และทุกสิ่งที่เมืองท่องเที่ยวชั้นนำพึงจะมี รายได้สะพัดในพื้นที่ เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล เกิดการจ้างงานทำให้ชาวภูเก็ตมีรายได้ประชากรต่อหัวสูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
ลึกเข้าไปในถนนสายเล็กๆ จากหาดราไวย์ไปอีกแค่ไม่กี่ร้อยเมตร ภาพที่ปรากฏแก่สายตาช่างตัดกับความเจริญที่ฉาบไว้เบื้องนอกอย่างรุนแรง จากร้านรวงขายสินค้าที่ระลึก และตลาดขายอาหารสด กลายเป็นสลัมที่คนอยู่อย่างแออัด จากนักท่องเที่ยวทั้งไทย จีน ฝรั่งหัวทอง กลายเป็นคนทะเลตัวดำๆ ที่กำลังนั่งจับกลุ่มดื่มสุรา บ้างกำลังคัดปลาที่เพิ่งนำขึ้นจากเรือ หลายคนกำลังสาละวนอยู่กับการทำความสะอาดเครื่องมือจับปลา ขณะที่บางคนนั่งเหม่อมองไปยังท้องทะเลเบื้องหน้าด้วยสายตาที่ยากจะเข้าใจความรู้สึกได้...
คนเหล่านี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆ ที่เรียกกันว่า “อูรักลาโว้ย” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษามลายู แปลว่า “ชาวทะเล” หรือที่ภาษาราชการไทยเรียกว่า “ชาวไทยใหม่” มีคำเรียกรวมกับชาวทะเลกลุ่มอื่นๆ อย่างมอแกน และมอแกลนง่ายๆ ว่า “ชาวเล”
เดิมทีชาวอูรักลาโว้ยอาศัยอยู่ในท้องทะเล ยังชีพด้วยการหาปลาตามเกาะแก่งต่างๆ มีนิสัยหวาดกลัวคนแปลกหน้า และอพยพเปลี่ยนถิ่นที่อยู่ไปเรื่อยๆ จากเกาะในอินโดนีเซีย มาเลเซียในอดีต เรื่อยมาจนถึงเมืองไทย
ปัจจุบันมีชุมชนชาวอูรักลาโว้ยหลายแห่งใน 5 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง และหากรวมกับชาวมอแกน และมอแกลนแล้ว จะมีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ทะเลเหล่านี้กว่า 1 หมื่นคน
สำหรับชุมชนอูรักลาโว้ยในบริเวณหาดราไวย์แห่งนี้ ประกอบไปด้วยครัวเรือนกว่า 244 หลังคาเรือน มีประชากรประมาณ 2,000 คน มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับท้องทะเลไม่ต่างจากบรรพบุรุษในอดีต นั่นคือการหาปลาเป็นอาชีพหลัก
พวกเขาอาศัยอยู่ที่นี่มานานนับร้อยปี เปรียบไปก็เหมือนกับคนรักเก่าของสาวน้อยภูเก็ตในวัยเยาว์ แต่เมื่อเธอเติบโตขึ้นพร้อมกับความเจริญที่หลั่งไหลเข้ามา คนรักเก่าคนนี้ก็ถูกเบียดออกไปจากชีวิตของสาวเจ้าทีละน้อยๆ จนทุกวันนี้ชาวอูรักลาโว้ยแทบไม่เหลือที่ยืนในภูเก็ต ทั้งพื้นที่ในเชิงภูมิศาสตร์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรม!!
ปัญหาของชาวอูรักลาโว้ยในหาดราไวย์ กล่าวได้ว่าเป็นกรณีศึกษาที่คลาสสิกที่สุดในประเทศไทย ทั้งปัญหาเรื่องความมั่นคงในอยู่อาศัย ที่สำหรับทำมาหากิน ปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค และปัญหาเรื่องหนี้สิน
สำหรับเรื่องที่อยู่อาศัยนั้น โดยธรรมชาติของชาวอูรักลาโว้ยจะต้องอยู่ติดกับทะเล แต่นับจากมีกฎหมายสมัยใหม่ที่ว่าด้วยเรื่องของกรรมสิทธิ์บนที่ดินเอกชนเกิดขึ้น ประกอบกับระบบคิดของชาวอูรักลาโว้ย และชาวเลอื่นๆ ที่คิดว่าทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ชายฝั่ง หาดทราย และสัตว์น้ำในทะเล ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้โดยเท่าเทียม และการอยู่อาศัยใช้พื้นที่สืบเนื่องกันมานานก็น่าจะเป็นเครื่องรับรองสิทธิในตัวอยู่แล้ว
ด้วยระบบคิดแบบนี้ทำให้ผืนดินที่พวกเขาอยู่อาศัยกลับถูกผู้มีความรู้ทางกฎหมายเบียดบังนำไปออกโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว โดยที่ชาวบ้านไม่เคยรับรู้ด้วยเลย
“สนิท แซ่ซัว” อายุ 34 ปี หนึ่งในชาวอูรักลาโว้ยราไวย์ กล่าวว่า ชุมชนของตนอาศัยอยู่ที่นี่มานานนับร้อยปี และในปี 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มาเยี่ยมชาวบ้านที่นี่ด้วย โดยมีหลักฐานคือ รูปถ่ายขณะที่พระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับชาวบ้านในขณะนั้น ฉากหลังเป็นบ้านเพิงเล็กๆ และมีราษฎรชาวอูรักลาโว้ยประมาณ 20 คน เฝ้าฯ รับเสด็จ
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในปี 2508 อดีตผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นได้นำที่ดินของชาวบ้านไปออกโฉนดพื้นที่กว่า 19.2 ไร่ หลังจากนั้นเป็นต้นมาความขัดแย้งระหว่างเจ้าของโฉนดกับผู้อยู่อาศัยจึงเริ่มขึ้น ปัจจุบันที่ดิน 19.2 ไร่ ถูกซอยออกนับสิบแปลง มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ และฟ้องขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่แล้ว 7 ราย
“เราไม่ได้สนใจโฉนด เราแค่อยากอยู่ในประเทศไทยเหมือนที่ที่เราเคยอยู่มา เรื่องที่ดินศาลตัดสินตามเอกสารอย่างเดียว เราสู้ไปก็แพ้ เพราะเขามีเอกสารอยู่ในมือ ตอนนี้เราต้องการให้มีการพิสูจน์สิทธิว่าใครอยู่มาก่อน เราเคยเสนอให้รัฐมนตรีสาทิตย์ (วงศ์หนองเตย) และ|ดีเอสไอมาพิสูจน์แล้ว แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
ด้วยความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และพื้นที่โดยรอบต่างมีเอกสารสิทธิทับที่ไปหมด ทำให้ชาวอูรักลาโว้ยราไวย์ต้องอยู่อาศัยกันอย่างแออัด ที่พักพิงล้วนสร้างอย่างแกนๆ ไม่มีสิ่งปลูกสร้างถาวรมั่นคง
อีกปัญหาที่ตามมาคือ การขาดแคลนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟ เนื่องเพราะที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ทำให้การไฟฟ้าและการประปาไม่สามารถต่อน้ำต่อไฟเข้ามาให้ได้ หากเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ยินยอม ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องต่อพ่วงไฟฟ้าจากบ้านเรือนใกล้เคียง เสียค่าไฟแพงหน่วยละ 20 บาท ส่วนเรื่องน้ำชาวบ้านใช้วิธีขุดบ่อแทนการใช้น้ำประปา
สนิท เล่าว่า บ้านหลายหลังไม่มีห้องน้ำ เวลาปวดท้องหนักเบาก็ต้องใช้ห้องน้ำธรรมชาติ กลางวันถ่ายในป่า กลางคืนถ่ายลงทะเล เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่หากเกิดโรคระบาด เช่น อหิวาต์ ก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะรุนแรงขนาดไหน
สนิท สรุปว่า ทุกวันนี้ชาวอูรักลาโว้ยถูกบีบทุกเรื่องจนหลังพิงฝาแล้ว พวกเขาต้องสู้ ถ้าไม่สู้ก็ตายแน่นอน
ส่วนปัญหาเรื่องที่ทำกินนั้น เนื่องจากวิถีชีวิตของอูรักลาโว้ยต้องหากินอยู่กับท้องทะเล แต่ปัจจุบันที่ทำกินของพวกเขากลับถูกนักท่องเที่ยว และการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแย่งชิงที่ทำกินไปหมด
“อาหลิน หาดทรายทอง” วัย 50 ปี อีกหนึ่งอูรักลาโว้ย กล่าวว่า ทุกวันนี้แค่จะเอาเรือไปหาปลาในเกาะที่เป็นเขตอุทยานฯ ก็ยังทำไม่ได้ ขึ้นเกาะก็ไม่ได้ เพราะเข้าไปเมื่อไหร่โดนจับ บางเกาะไม่ได้เป็นเขตอุทยานฯ แต่ก็เป็นที่กรรมสิทธิ์เอกชน พื้นที่หน้าหาดต่างๆ ก็ถูกโรงแรมจับจองไปหมด ผู้หญิงชาวอูรักลาโว้ยจะไปหาหอย หาปูตามหาดก็ไปไม่ได้แล้ว เข้าไปก็ถูกไล่ออกมา
“ทุกที่ที่บอกว่าเป็นเขตอนุรักษ์ ถามว่าอนุรักษ์ให้ใคร ให้ชาวบ้านหรือให้นักท่องเที่ยว แค่เราจะหาปลายังเข้าไปไม่ได้ แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวกลับเข้าได้ ตกปลาได้ เขาหาว่าเราทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ แต่การท่องเที่ยวมันทำลายมากกว่าอีก แค่ทาครีมกันแดดลงเล่นน้ำก็ทำลายน้ำแล้ว หรือการเอาขนมปังให้ปลากินมันก็ทำลายวงจรอาหารแล้ว”
ด้วยข้อจำกัดที่ถูกบีบพื้นที่ทำกินเช่นนี้ ทำให้ชาวอูรักลาโว้ยต้องออกไปหาปลาไกลขึ้น บ้างก็แอบจับปลาในเขตอุทยานฯ เมื่อถูกจับก็โดนเจ้าหน้าที่เรียกเงินแลกกับการไม่ดำเนินคดี ตั้งแต่ 2 หมื่น-1 แสนบาท ถ้าไม่มีเงินให้ก็ถูกจับเข้าคุก
“เมื่อก่อนเรากลัวโจรปล้นเรือนะ แต่ทุกวันนี้เรากลัวโจรในเครื่องแบบ กลัวกฎหมาย ถ้าโดนจับก็ต้องจ่ายเงิน เขาเอากฎหมายมาอ้างเยอะแยะจนเรากลัว กฎหมายมันมีเยอะจนเราปรับตัวไม่ทัน ตอนออกกฎหมายก็ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ทุกวันนี้เขตทะเลก็ยังไม่ชัดเจนเลยว่าตรงไหนที่อยู่ในเขตสงวนบ้าง”
นอกจากพื้นที่หากินที่ถูกจำกัดแล้ว นักท่องเที่ยวและนักประดาน้ำหัวอนุรักษ์ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่รังควานวิถีชีวิตของอูรักลาโว้ย ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เนื่องจากการทำประมงของพวกเขาจะใช้ลอบดักปลา แต่ละครั้งจะวางลอบใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน พอนักท่องเที่ยวดำน้ำมาเจอปลาที่ติดอยู่ในลอบก็จะตัดลวดให้ปลาหนี กลายเป็นว่าเวลา 10-15 วันที่ผ่านมานั้นสูญเปล่าไปหมด แถมต้องเสียเงิน เสียเวลาซ่อมอีกครึ่งเดือน
น่าขำที่นักท่องเที่ยวรักปลา ไม่อยากให้ปลาถูกจับ แต่หารู้ไม่ว่าปลาที่เหลือรอดมาก็ถูกนำไปปรุงอาหารให้พวกเขารับประทานในโรงแรมชั้นสูงนั่นเอง
อาหลิน บอกว่า เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้เข้าบ่อยครั้ง ในระยะหลังเมื่อรู้ว่าจุดไหนที่นักท่องเที่ยวไปดำน้ำก็จะวางลอบดักปลาไม่ได้เลย แถมบางทีคนในพื้นที่ไปแอบตัดลอบเสียเอง เพราะไม่อยากให้ชาวอูรักลาโว้ยมาหาปลา เกรงว่าจะทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยว
เจอกับข้อจำกัดนานัปการในการดำรงชีวิตเช่นนี้แล้ว เมื่อถูกถามว่าอนาคตของอูรักลาโว้ยต่อไปจะเป็นอย่างไร อาหลิน ก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าชีวิตของพวกเขาและลูกหลานชาวทะเลจะเป็นอย่างไรต่อไป
“เรื่องอนาคตยังเห็นไม่ชัดเจนเท่าไหร่ คิดว่าวิถีชีวิตคงเปลี่ยน แต่คงไม่ทิ้งทะเลแน่นอน จะให้พวกผมย้ายไปอยู่บนบก บนภูเขา ไม่มีทางทำได้หรอก เพราะพวกเราเป็นชาวเล มีสัญชาติของทะเลอยู่ในสายเลือด จะอยู่ห่างจากทะเลไม่ได้เลย วันไหนที่ไม่ได้ยินเสียงคลื่นเนี่ย ผมนอนไม่หลับนะ ทุกวันนี้มีกฎหมายเกิดขึ้นมาทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปหมด เราก็พยายามต่อสู้ไม่ให้วิถีชีวิตของเราสูญหายไป และเชื่อว่าหากมอบสิ่งเหล่านี้ให้ลูกหลานแล้วอนาคตมันจะดีขึ้น”
...เรื่องราวของอูรักลาโว้ยบนหาดราไวย์เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่สะท้อนภาพชาวเลในภาคใต้อีกนับหมื่นที่ล้วนเจอปัญหาไม่แตกต่างกันนัก โดยเฉพาะปัญหาการบุกรุกที่ดินของนายทุน และการถูกจำกัดพื้นที่ทำกินในทะเล
อนาคตของพวกเขาเหล่านี้จะเป็นเช่นไรต่อไป คำตอบอาจอยู่ในสายลม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าพายุความเจริญรุนแรงยิ่งกว่าสึนามิหลายเท่านัก คลื่น|แห่งความหวังของชาวอูรักลาโว้ย และชนชาวเลอื่นๆ จึงอาจต้องตกขอบไปอย่างเดียวดาย...ตามทิศทางลมความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ยั่งยืน