ย้อนวันวาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
เมื่อครั้งปี 2338 หรือหลังจากสร้างกรุงเทพฯ ได้ 13 ปี พระมหาพิชัยราชรถ และพระเวชยันตราชรถ
โดย...อณุสรา ทองอุไร ภาพ ภัทรชัย ปรีชาพานิช
เมื่อครั้งปี 2338 หรือหลังจากสร้างกรุงเทพฯ ได้ 13 ปี พระมหาพิชัยราชรถ และพระเวชยันตราชรถ ได้ใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ผู้ทรงศักดิ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า มาตลอด 5 รัชกาล จนครั้งสุดท้ายพระมหาพิชัยราชรถได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยกรมรถไฟหลวงในเวลานั้น โดยเพิ่มล้อกลางขึ้นมาอีกหนึ่งล้อเพื่อรับน้ำหนักราชรถได้ดีขึ้น หลังจากใช้งานมากว่าร้อยปี แต่ก็ไม่ได้ใช้งานแต่ประการใด และก็มิได้เชิญออกมาอีกเลย ซึ่งต่อมาการประดิษฐานพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่ได้ใช้ราชรถองค์นี้
หน้าที่หลักตกแก่พระเวชยันตราชรถ ที่ทำหน้าที่มาอีก 3 รัชกาลต่อมา โดยถูกเรียกชื่อตามราชประเพณีว่า พระมหาพิชัยราชรถ แทนชื่อเดิมในงานออกพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 โดยครั้งสุดท้ายใช้ในการอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2528
จนกระทั่งปี 2539 พระมหาพิชัยราชรถได้ถูกซ่อมแซมอีกครั้งโดยกรมสรรพาวุธทหารบก จนสามารถใช้งานได้อีกครั้งในงานออกพระเมรุ “สมเด็จย่า” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระเวชยันตราชรถก็ได้กลับมาใช้ชื่อเดิม เพราะพระมหาพิชัยราชรถองค์เดิมสามารถใช้งานได้แล้ว ซึ่งในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 พระมหาพิชัยราชรถได้ออกมาใช้ทรงพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และครั้งสุดท้ายใช้ทรงพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งออกพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง ในเดือน เม.ย. 2555
มัณฑนา ยุบล เจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ชำนาญงาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอด 234 ปี ที่ราชรถทั้งสององค์ถูกสร้างขึ้นมา พระมหาพิชัยราชรถได้ถูกใช้งาน 17 ครั้ง พระเวชยันตราชรถ 11 ครั้ง โดยปกติแล้วในโรงเก็บราชรถจะมีการก่ออิฐโบกปูนทุกครั้งหลังจากการนำราชรถทั้งสององค์ไปเก็บ เนื่องจากเป็นธรรมเนียมที่ถือกันว่าโบกปูนปิดเสียเลย จะไม่เป็นการนำราชรถออกมาใช้ให้เร็วจนเกินไปนัก
มัณฑนา ยุบล
นอกจากราชรถทั้ง 2 องค์แล้ว ยังมีราชรถน้อยอีก 5 องค์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เช่นเดียวกัน มีสัณฐานและรูปทรงคลับคล้ายกันแต่มีขนาดย่อมกว่า ใช้เป็นรถพระ รถโปรย และรถโยง นำหน้ารถทรงพระบรมโกศ ต่อมาในรัชกาลที่ 6 โปรดให้ยกเลิกประเพณีโยงและโปรยในการพระราชพิธีพระบรมศพ ปัจจุบันจึงคงใช้ราชรถน้อยเป็นรถพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรมนำขบวน
สำหรับวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และถือว่าเป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณี นอกจากนี้ วัดแห่งนี้ยังเป็นสุสานหลวงแห่งจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์
พระครูปลัดสัมพิพัฒนเมธาจารย์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กล่าวว่า รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นหลังจากเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเพียง 1 ปี เมื่อปี 2412 และใช้เวลาในการก่อสร้างและรังสรรค์ความประณีตงดงามประกอบเป็นเวลาหลายสิบปี จึงเรียบร้อยบริบูรณ์ และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 ด้วยเช่นกัน เพราะพระองค์ไม่สร้างวัดใหม่เนื่องด้วยเห็นว่ามีวัดเยอะแล้ว แต่ทรงให้ทุนในการทะนุบำรุงปฏิสังขรณ์วัดซึ่งสมเด็จพระราชบิดาทรงสร้าง แทนการสร้างวัดใหม่
พระครูปลัดสัมพิพัฒนเมธาจารย์
พระอารามหลวงแห่งนี้ มีความงดงามอยู่ที่การวางผังบริเวณงานสถาปัตยกรรมไว้อย่างสมบูรณ์ลงตัว มีพระมหาเจดีย์เป็นแกนกลางของวัด ประกอบไปด้วยพระวิหารทิศทั้ง 4 และชักพระระเบียงโอบล้อมเป็นวงกลม ที่น่าสังเกตยิ่งก็คือเหตุที่มีพื้นที่จำกัด และมีพระวิหารทิศตลอดจนพระระเบียงล้อมพระเจดีย์ ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้พระเจดีย์จมหายไป
นอกจากนั้น ผิวภายนอกของอาคารทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่กำแพงแก้วล้อมไพที ซึ่งยกระดับการก่อสร้างให้สูงกว่าพื้นดิน ล้วนแต่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์อันสูงค่าและงดงามวิจิตรยิ่ง ไม่มีพระอารามใดในราชอาณาจักรไทยนี้จะเสมอเหมือน
นอกเขตมหาสีมาของพระอารามด้านทิศตะวันตกยังมีสุสานหลวง ประกอบไปด้วยสถูปเจดีย์และสถาปัตยกรรมรูปแบบต่างๆ แปลกตางดงาม เป็นที่ประดิษฐานและบรรจุพระบรมราชสรีรังคาร อังคารพระบรมวงศานุวงศ์ บาทบริจาริกา ตลอดจนสมาชิกในราชสกุลที่สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
“มีเจดีย์อยู่หลายองค์ แต่มีพระเจดีย์ทอง 4 องค์ที่เป็นของพระมเหสี คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาเทวี (พระนางเรือล่ม) สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จแม่รัชกาลที่ 6) สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จย่า รัชกาลที่ 9) และพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี (เสด็จแม่ของกรมพระนครสวรรค์) และยังมีพระบรมราชสรีรังคารของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงอีกหลายพระองค์ ถือว่าเป็นสุสานหลวงแห่งรักแห่งเดียวในประเทศไทย”
ความสำคัญของวัดแห่งนี้ก็คือ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ประมุขแพ่งพระบวรพุทธศาสนาถึง 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระศรีอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก
นอกจากนั้น ยังเคยเป็นที่ประทับแรมของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก เมื่อครั้งทรงบรรพชาเป็นสามเณร
พระประวัติและประวัติแห่งท่านเหล่านี้ ที่ส่วนใหญ่มีส่วนในการทะนุบำรุงให้ชาติไทยเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน ทำให้สุสานหลวงแห่งนี้เป็นสถานที่น่าศึกษา