กรธ.เปิดเวที ลดแรงกดดันการเมือง
ร้อนจนกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องจัดเวทีชี้แจงเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ต่อบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
ร้อนจนกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องจัดเวทีชี้แจงเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ต่อบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ณ สโมสรสันนิบาต ในวันที่ 14 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ พร้อมใช้โอกาสนี้รับฟังข้อมูลความคิดเห็นจากพรรคการเมืองที่ถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
หลังจากที่แรงกระเพื่อมค่อยๆ ก่อตัวเมื่อพรรคการเมืองทยอยตบเท้าออกมาถล่ม ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่มีเนื้อหาปรับเปลี่ยนแตกต่างไปจากเดิมไม่น้อย ที่สำคัญเนื้อหาหลายส่วนถูกมองว่ามีความพยายามบีบพรรคการเมืองให้ขาดอิสระในการทำงานจนง่อยเปลี้ย
ที่สำคัญการออกมา “ตีปลาหน้าไซ” ของคนการเมืองช่วงที่ผ่านมา ดูจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากฝั่ง กรธ. ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายที่ออกมาวางกฎเกณฑ์ สร้างกติกาควบคุมดูแลพรรคการเมืองโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา “พรรคการเมือง” ตกเป็นจำเลยของสังคมที่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตความขัดแย้งที่หมักหมมมายาวนานในสังคมไทย
บทเรียนในอดีตจึงถูกนำมาเป็นธงในการปรับปรุงจัดวางโครงสร้างพรรคการเมืองใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในปัจจุบัน ที่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ตกเป็น
เครื่องมือของนายทุนหรือมือที่มองไม่เห็น
คอยบงการอยู่เบื้องหลัง
จะเห็นว่าจากโครงสร้างพรรคการเมืองตามร่างกฎหมายใหม่มีความแตกต่างจากเดิมค่อนข้างมาก ไล่มาตั้งแต่การจัดตั้งพรรคที่จะต้องรวมคนให้ได้ 500 คน และจะต้องจ่ายเงินทุนประเดิมรายละไม่น้อยกว่า 2,000 บาทรวมเป็น 1 ล้านบาท
ต่อจากนั้นภายในหนึ่งปีจะต้องหาสมาชิกให้ได้ปีละ 5,000 คน และจัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการกำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และต้องเพิ่มสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนใน 4 ปี
ในแง่พรรคขนาดกลาง หรือพรรคขนาดใหญ่นั้นอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ทั้งในแง่จำนวนสมาชิก สาขาพรรค ตลอดจนเงินทุนประเดิม แต่สำหรับพรรคขนาดเล็กนั้นย่อมได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะจาก 70 พรรค ในปัจจุบันมี 30-40 พรรคที่จะต้องปรับตัวหาสมาชิกพรรคเพิ่มอีกมาก
แม้จะมีเวลา 150 วัน หรือมากกว่านั้นที่ทาง กรธ.จะเปิดให้พรรคการเมืองได้ปรับตัวกติกาใหม่ แต่ก็ไม่ใชเรื่องง่ายสำหรับบางพรรค จนอาจทำให้เหลือพรรคที่สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งรอบหน้าได้ไม่กี่พรรค
ขณะที่รายละเอียดปลีกย่อยที่จะมาควบคุมดูแลการบริหารงานของพรรคการเมือง ทั้งเรื่องเงินอุดหนุนที่มีกลไกควบคุมผู้บริจาค ไม่ให้เกิดการผูกขาด ครอบงำ ที่จะเน้นเรื่องความโปร่งใสในการทำงานตรวจสอบได้ที่ออกมานั้น บางพรรคก็เห็นว่าเข้มงวดและสุ่มเสี่ยงเพราะการกำหนดโทษนั้นรุนแรงถึงขั้นยุบพรรค
ยังไม่รวมกับการกำหนดในมาตรา 23 ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ล็อกให้พรรคการเมืองต้องทำทั้งเสริมสร้างให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ เสนอแนวทางการพัฒนาประเทศและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหากไม่ดำเนินการก็มีความผิด
การตีกรอบของ กรธ.ที่ออกมา ทำให้พรรคการเมืองเริ่มแสดงความเป็นห่วงว่าจะทำให้หมดอิสระ เคลื่อนไหวไม่คล่องตัวแถมสุ่มเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคได้ง่าย ยังไม่รวมกับการกลั่นแกล้งฝั่งตรงข้ามเหมือนที่เคยเกิดขึ้น
ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกมานั้น กลับไม่มีการรับฟังเสียงสะท้อนจากบรรดาพรรคการเมืองที่ออกมาถล่มร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
แม้แต่ทาง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง แต่ก็แสดงความประสงค์จะเข้าให้ข้อมูลกับทาง กรธ.เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
ไม่ต่างจากพรรคอื่นๆ ที่แสดงความประสงค์อยากให้ข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองต่อ กรธ.เพื่อสะท้อนข้อเท็จจริงในฐานะผู้มีประสบการณ์
แต่เมื่อทาง กรธ.ดูไม่สนใจท่าทีของบรรดาพรรคการเมือง ย่อมทำให้แรงกดดันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจลุกลามบานปลายสร้างการไม่ยอมรับกฎหมายนี้ในอนาคต ที่จะซ้ำเติมปัญหาความวุ่นวายมากขึ้น
การที่ กรธ.เปิดเวทีในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ จึงถือเป็นการลดแรงกดดันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง