posttoday

ดาวพฤหัสบดีและ ดาวเสาร์ในปี 2560

11 ธันวาคม 2559

ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ต่อไปนี้เป็นการปรากฏของดาวเคราะห์สว่างที่เหลืออีกสองดวง คือดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์

โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด

ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ต่อไปนี้เป็นการปรากฏของดาวเคราะห์สว่างที่เหลืออีกสองดวง คือดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ เมื่อสังเกตบนท้องฟ้าประเทศไทยตลอดปี 2560

ดาวพฤหัสบดี

ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างเป็นอันดับ 2 รองจากดาวศุกร์ มีขนาดใหญ่และมวลสูงที่สุด การหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว ทำให้ดาวพฤหัสบดีมีรูปร่างเป็นทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวศูนย์สูตรยาวกว่าในแนวขั้วสามารถใช้กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์สังเกตดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีได้อย่างน้อย 4 ดวง

ดาวพฤหัสบดีโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 11.86 ปี ดาวพฤหัสบดีจึงขยับเข้าสู่กลุ่มดาวจักรราศีกลุ่มที่อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกปีละกลุ่มโดยประมาณ การหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วของดาวพฤหัสบดี ทำให้เมฆในบรรยากาศมีลักษณะเป็นริ้วสว่างและคล้ำสลับกัน ริ้วสว่างเป็นส่วนที่อยู่สูง ริ้วที่คล้ำกว่าเป็นส่วนที่อยู่ลึกลงไป เมฆสีขาวอยู่สูงที่สุด ประกอบด้วยผลึกแอมโมเนีย ต่ำลงไปเห็นเป็นสีน้ำตาลอ่อนกับน้ำตาลเข้ม ส่วนที่เห็นเป็นสีน้ำเงินและม่วงน่าจะเป็นบริเวณที่อยู่ลึกที่สุด

จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) ที่เป็นเอกลักษณ์ของดาวพฤหัสบดีคือ พายุขนาดยักษ์ พัดวนทวนเข็มนาฬิกา มีทรงรี ขนาดใหญ่กว่าโลก ตำแหน่งของจุดแดงใหญ่อยู่บริเวณละติจูด 22 องศาใต้ นอกจากจุดแดงใหญ่ยังมีโอกาสเห็นพายุขนาดเล็กที่เรียกว่าจุดขาวและจุดมืด

ปี 2560 ดาวพฤหัสบดีใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว โดยอยู่ใกล้ดาวรวงข้าว หรือดาวสไปกา ดาวฤกษ์สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนี้ ดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้ดาวรวงข้าวมากที่สุดใน 2 ช่วง ช่วงแรกคือปลายเดือน ม.ค.ถึงต้นเดือน ก.พ. อีกช่วงเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.

กลางเดือน ม.ค. ดาวพฤหัสบดีทำมุม 90 องศา ห่างไปทางทิศตะวันตกของดวงอาทิตย์ จึงเห็นดาวพฤหัสบดีขึ้นเหนือขอบฟ้าราวเที่ยงคืนและอยู่เหนือศีรษะขณะดวงอาทิตย์ขึ้นวันที่ 8 เม.ย. 2560 ดาวพฤหัสบดีผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดในรอบปี สว่างที่โชติมาตร -2.5 สังเกตได้ตลอดทั้งคืน

ต้นเดือน ก.ค. ดาวพฤหัสบดีทำมุม 90 องศา ห่างไปทางทิศตะวันออกของดวงอาทิตย์ จึงเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่เหนือศีรษะขณะดวงอาทิตย์ตกและตกลับขอบฟ้าราวเที่ยงคืนปลายเดือน ก.ย.ถึงต้นเดือน ต.ค. เป็นช่วงที่ดาวพฤหัสบดีเคลื่อนต่ำใกล้ขอบฟ้า หลังจากนั้นดาวพฤหัสบดีหายเข้าไปในแสงจ้าของดวงอาทิตย์มีตำแหน่งอยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ในปลายเดือน ต.ค.

กลางเดือน พ.ย. หากท้องฟ้าเปิดคาดว่าจะเริ่มเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดตรงกับช่วงที่ดาวพฤหัสบดีผ่านใกล้ดาวศุกร์ เข้าใกล้กันที่สุดในเช้ามืดวันที่ 13 พ.ย. ที่ระยะห่าง 0.5 องศา หรือประมาณขนาดของดวงจันทร์

หลังจากผ่านใกล้ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดีจะเข้าสู่กลุ่มดาวคันชั่งและทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้น สังเกตได้บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืดต่อเนื่องไปตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปี โดยในเดือน ธ.ค. จะสังเกตได้ว่าดาวพฤหัสบดีและดาวอังคารเคลื่อนเข้าใกล้กันมากขึ้นทุกวัน ใกล้ที่สุดในวันที่ 7 ม.ค. 2561 ที่ระยะห่างเพียง 0.2 องศา

ดาวเสาร์

ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในระบบสุริยะมีรูปร่างเป็นทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวขั้วสั้นกว่าในแนวศูนย์สูตรราวร้อยละ 10 บรรยากาศของดาวเสาร์ถูกแบ่งเป็นแถบและเขตต่างๆ แบบเดียวกับดาวพฤหัสบดี บางช่วงเกิดแถบเมฆขนาดใหญ่สีขาวขึ้นในบรรยากาศ

ดาวเสาร์มีวงแหวนสว่างล้อมรอบอยู่ในแนวระนาบศูนย์สูตร เมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก สามารถแบ่งวงแหวนดาวเสาร์ออกได้เป็น 3 วง ได้แก่ วงแหวนเอ (A) บี (B) และซี (C) เรียงลำดับจากวงนอกถึงวงในสุด เมื่อสังเกตจากโลกขอบวงแหวนจะหันเข้าหาโลกทุกๆ 15-16 ปี ครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2552 ปัจจุบันดาวเสาร์กำลังหันขั้วเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ วงแหวนดาวเสาร์จึงมีแนวโน้มขยายกว้างขึ้นในแนวเหนือ-ใต้ โดยจะกว้างที่สุดในปีนี้

ครึ่งแรกของปี 2560 ดาวเสาร์ปรากฏบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ต้นปีอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มดาวคนแบกงู ซึ่งส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวนี้คั่นอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับคนยิงธนู ตามการแบ่งพื้นที่กลุ่มดาวสากลปลายเดือน ก.พ. ดาวเสาร์เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวคนยิงธนู แล้วถอยกลับไปอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงูอีกครั้งในปลายเดือน พ.ค. (ดาวเคราะห์เคลื่อนที่ถอยหลังในมุมมองจากโลก แต่ยังคงเคลื่อนที่ไปข้างหน้าตามปกติในวงโคจรรอบดวงอาทิตย์)

วันที่ 15 มิ.ย. ดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดในรอบปี สว่างที่โชติมาตร 0.0 หลังจากนั้นจะเริ่มเห็นดาวเสาร์ได้ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตก ดาวเสาร์อยู่บนท้องฟ้าให้สังเกตได้ในเวลาหัวค่ำต่อเนื่องไปจนถึงต้นเดือน ธ.ค. โดยเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวคนยิงธนูอีกครั้งในกลางเดือน พ.ย.

ปลายเดือน พ.ย. ก่อนที่ดาวเสาร์จะหายไปเบื้องหลังดวงอาทิตย์ ดาวเสาร์จะปรากฏใกล้ดาวพุธ หลังจากนั้นทั้งคู่จะเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ไปพร้อมกัน นับเป็นช่วงสุดท้ายที่มีโอกาสสังเกตดาวเสาร์ในปีนี้ โดยดาวเสาร์จะอยู่แนวเดียวกับดวงอาทิตย์ในปลายเดือน ธ.ค.

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (11-18 ธ.ค.)

หลังดวงอาทิตย์ตกมีดาวศุกร์สว่างเด่นอยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตก ดาวศุกร์ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล สังเกตได้จนกระทั่งใกล้ตกลับขอบฟ้าในเวลา 3 ทุ่ม ดาวอังคารซึ่งสว่างน้อยกว่าปรากฏอยู่ในทิศเดียวกัน แต่อยู่สูงกว่าดาวศุกร์ ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง ปลายสัปดาห์ดาวอังคารจะเคลื่อนออกจากกลุ่มดาวแพะทะเล แล้วเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ

ดาวพุธอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู โดยอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าในเวลาพลบค่ำ สามารถใช้ดาวศุกร์ช่วยหาดาวพุธได้ โดยลากเส้นในแนวดิ่งจากดาวศุกร์ไปที่ขอบฟ้า ดาวพุธจะอยู่เยื้องไปทางขวามือเล็กน้อย วันที่ 11 ธ.ค. ดาวพุธทำมุมห่างดวงอาทิตย์ที่สุด ต้นสัปดาห์นี้จึงเป็นช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดี ก่อนดาวพุธจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะถัดไป

เวลาเช้ามืดมีดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาวทางทิศตะวันออก ห่างดาวรวงข้าวซึ่งเป็นดาวฤกษ์สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนี้เป็นระยะทางเชิงมุมประมาณ 6 องศา ดาวพฤหัสบดีขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าที่มุมเงย 10 องศา ตั้งแต่เวลาประมาณตี 2 ครึ่ง จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่สูงเหนือขอบฟ้าให้สังเกตได้ง่ายเมื่อใกล้รุ่ง

ต้นสัปดาห์เป็นครึ่งหลังของข้างขึ้น ดวงจันทร์สว่างมากกว่าครึ่งดวงอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ เช้ามืดและหัวค่ำวันที่ 13 ธ.ค. ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวอัลเดบารันในกลุ่มดาววัว ดวงจันทร์สว่างเต็มดวงในวันที่ 14 ธ.ค. ซึ่งเราอาจพบเจอกับคำว่า “ซูเปอร์มูน” อีกครั้ง เนื่องจากจันทร์เพ็ญเดือนนี้เกิดขึ้นหลังวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเพียงวันเดียว