posttoday

อย่าไปบ้ากันมากกับผลสอบ PISA

12 ธันวาคม 2559

โครงการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ PISA (Programme for International Student Assessment) ที่ดำเนินการโดย OECD

โดย...ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com

โครงการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ PISA (Programme for International Student Assessment) ที่ดำเนินการโดย OECD (Organisation for Economic Cooperation and Development) ประกาศผล PISA 2015 อย่างเป็นทางการ มีประเทศเข้าร่วมการทดสอบ 70 ประเทศและกลุ่มเศรษฐกิจ โดยการทดสอบนี้เป็นการทดสอบศักยภาพของเด็กอายุ 15 ปี ในสามด้าน ได้แก่ 1) วิทยาศาสตร์ 2) การอ่าน และ 3) คณิตศาสตร์ ที่สุ่มตัวอย่างมา 5.4 แสนคนจากแต่ละประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพ ความเท่าเทียม และประสิทธิภาพของระบบโรงเรียนในแต่ละประเทศ ซึ่งจะสะท้อนว่าคุณภาพของประชาชนที่จะเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในอนาคตนั้นเป็นอย่างไร

ผลการสอบคราวนี้ ซึ่งเน้นวิชาวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่า สิงคโปร์ขึ้นเป็นที่ 1 ของโลก ตามมาด้วยญี่ปุ่น เอสโตเนีย ฟินแลนด์ และแคนาดา สำหรับประเทศจีน (เซี่ยงไฮ้) ที่เคยได้อันดับ 1 แบบทิ้งห่างในการสอบเมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมา(เมื่อปี 2009 และ 2012) ปีนี้เมื่อเอาคะแนนอีก 3 มณฑล (Beijing, Jiangsu, Guangdong) มาเฉลี่ยปรากฏว่าตกไปอยู่อันดับ 10

ที่น่าสนใจคือ เวียดนามยังคงรักษาอันดับ 8 ของโลกได้อย่างเดิมเหมือนคราวที่แล้ว (ปี 2012) ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 55 (วิทยาศาสตร์ อันดับที่ 54 การอ่าน ที่ 57 คณิตศาสตร์ ที่ 54) โดยมีผลการทดสอบลดลงจากการสอบครั้งที่แล้ว (ปี 2012) ในทุกวิชา ได้แก่

- วิทยาศาสตร์ ได้ 422 คะแนน (ลดลง 23 คะแนน จากเดิม 444 *คะแนนเฉลี่ย OECD 493)

- การอ่าน ได้ 409 คะแนน (ลดลง 32 คะแนน จากเดิม 441 *คะแนนเฉลี่ย OECD 493)

- คณิตศาสตร์ ได้ 415 คะแนน (ลดลง 12 คะแนน จากเดิม 427 *คะแนนเฉลี่ย OECD 490)

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ จะใช้ผลการสอบ PISA ไปเป็นประโยชน์ในการวางแผนการศึกษาของชาติ แต่ประเทศไทยยังไม่เคยเอาผลสอบ PISA มาคิดเป็นเรื่องเป็นราว นักการศึกษาส่วนมากจะเอา PISA มาเป็น “หนึ่งในผลลัพธ์ที่ใช้ในการประเมินคุณภาพการศึกษาที่อ่อนด้อยของประเทศ” ในขณะที่เราเองไม่เคยเข้าใจบริบทของข้อสอบนี้แบบลึกซึ้งสักครั้ง

เพราะเหตุใดผมถึงเห็นว่าไม่ต้องไป Serious กับผลของ PISA มาก มีสี่ประการครับ

ประการแรก ข้อสอบ PISA มีวัตถุประสงค์หลักในการวัดขีดความสามารถ (Competitiveness) ของเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ โดยหนึ่งในขีดความสามารถในการแข่งขันก็คือ “ความสามารถของคน” ดังนั้นขีดความสามารถนี้วัดที่เด็ก ม.3 จึงเน้นหนักไปที่การวัดในด้าน “การคิดวิเคราะห์ (Analytical Skill)” เป็นหลัก

ประเด็นคือว่า ก่อนที่เราจะมาว่าเด็กว่ามีคุณภาพต่ำหรือมีคะแนนลดลง เราได้ดูไปที่หลักสูตรการเรียนการสอนของเราหรือยังว่า เราได้สอนเด็กให้ออกมาแบบนั้นหรือไม่? การเรียนการสอนของเราเน้นเรื่องการท่องจำ การท่องไปสอบ และสอบ (ทั้งระดับอนุบาลถึงปริญญาเอก) เราสอนแบบ Lecture-Base เป็นหลัก ครูมีโจทย์และมีคำตอบถูกผิดที่ชัดเจน เน้นวัดผลด้วยข้อสอบ ถ้าตอบไม่ตรงครูแสดงว่าเด็กไม่เก่ง แต่ถ้าท่องมาตรงก็แสดงว่าเก่ง ดังนั้นถ้าเราไม่ได้สอนการคิดวิเคราะห์ในระบบการศึกษาของเรา แล้วเราจะคาดหวังให้เด็กไปทำข้อสอบ PISA ได้อย่างไร

ตัวผมเองเคยนั่งทดลองทำข้อสอบ PISA มาแล้ว อย่าว่าแต่เด็กเลยครับ ให้ครูที่สอน (โดยเฉพาะพวกที่สอนแบบในกรอบ) ไปทำข้อสอบนี้ อาจจะได้คะแนนต่ำกว่าเด็กก็ได้ ถ้าไม่เชื่อผม แนะนำกระทรวงศึกษาธิการให้ลองทำการทดลองเอาครูที่สอนมาสอบดู แล้วท่านจะเห็นว่าคะแนนก็จะไม่แตกต่างกันมาก เพราะทั้งครูทั้งผู้เรียนต่างอยู่แต่ในกรอบในห้องเรียนทั้งสิ้น แล้วโอกาสในการสร้างวิธีการคิดวิเคราะห์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ประการที่สอง จากที่ข้อสอบ PISA เป็นการวัดความฉลาดในการคิดวิเคราะห์เป็นหลัก แต่ไม่ได้วัดความสามารถทางด้านอื่นๆ ในการใช้ชีวิต (Life Skills) เช่น ด้านการทำงานเป็นทีม ด้านการมีจิตสาธารณะ การช่วยเหลือกัน และการเห็นแก่ส่วนรวม ผมได้แนะนำนักศึกษาปริญญาเอกคนหนึ่งพัฒนาหัวข้อดุษฎีนิพนธ์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่าง “เด็กเก่งกับเด็กดี” ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร (ไปในทางเดียวกันหรือสวนทางกัน) เนื่องจากผมมีความเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า ด้วยระบบการศึกษาปัจจุบันที่ครอบครัวส่วนใหญ่มีลูกคนเดียว พ่อแม่พยายามใส่ความเก่งให้กับลูกในลักษณะต่างๆ (เช่น ติว กวดวิชา เน้นแต่ให้ลูกสอบได้เกรด 4) แต่ในอีกทางหนึ่งมันคือการให้เด็ก “คิดถึงแต่ผลได้ของตัวเอง” และอาจลืมเลือนต่อการมีจิตสาธารณะหรือความเป็นคนดีของเด็กลง ระหว่างที่กำลังรอผลการศึกษานี้ (ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร)

เราต้องลองมาคิดดูว่า ประเทศชาติเราต้องการเด็กเก่งที่ทำข้อสอบได้คะแนนสูง หรือต้องการคนดีที่มีจิตสาธารณะ คิดถึงส่วนรวมมากกว่ากัน สำหรับผม ผมชอบคนดีมากกว่าคนเก่ง เราจะได้คะแนน PISA ต่ำหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ นอกจากกระทรวงจะพิสูจน์มาให้ผมได้เห็นว่าเด็กที่ทำข้อสอบได้คะแนนสูงเหล่านั้นก็เป็นคนดีด้วยเช่นกันก็อีกเรื่อง

ประการที่สาม จากคะแนนสอบ PISA ที่ลดลงจากรอบปี 2012 นั้น ไม่ได้เพราะเด็กมีคุณภาพแย่ลง แต่มันเป็นเพราะกระทรวงศึกษาธิการ (นำโดย รมต.ศึกษาในสมัยนั้น) ทำการบิดเบือนข้อมูลในปี 2012 ต่างหาก การบิดเบือนประการแรกเกิดจากการที่ รมต.ศึกษาในสมัยนั้น กลัวว่าการประเมินคุณภาพของเด็กไทยในข้อสอบ PISA ปี 2012 จะได้คะแนนต่ำ ท่านจึงได้ดำริโครงการ “จัดติวข้อสอบ PISA ขึ้น” พอผ่านการติวมา เด็กก็ทำข้อสอบได้และได้คะแนนสูงขึ้น

การบิดเบือนอีกประการหนึ่งก็คือ การที่เราไปเลือกกลุ่มตัวอย่างที่บิดเบือน (Biased Sample) ที่เราไปสุ่มเด็กที่เก่งให้ไปสอบ จึงทำให้กลุ่มตัวอย่างของผู้สอบในปี 2012 นั้นไม่ได้สะท้อนต่อกลุ่มตัวอย่างประชากรของประเทศจริง (National Representative) ดังนั้นด้วยสาเหตุของการบิดเบือนนี้จึงทำให้คะแนน PISA รอบปี 2012 ของเรามีคะแนนสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การบิดเบือนนี้ยังมีข้อดีที่ทำให้เราได้เห็นว่า ขนาดเด็กถูกจัดติวข้อสอบ PISA ไม่นานยังทำข้อสอบได้ ถ้าหลักสูตรการสอนของเราสอนในแบบ PISA คะแนนสอบของเด็กจะออกมาอย่างไร ดังนั้นการที่เวียดนามได้คะแนนสูงกว่าประเทศไทยไม่ใช่เรื่องของคุณภาพของเด็ก แต่มันเป็นเรื่องของวิธีการสอนของโรงเรียนและของครูต่างหาก

ประการที่สี่ ถ้าดูกรณีศึกษาของประเทศจีนที่อันดับตกลงจากอันดับ 1 มาเป็นอันดับ 10 เพราะได้นำคะแนนอีก 3 มณฑล (Beijing, Jiangsu, Guangdong) มาเฉลี่ยรวมด้วย เราจึงเห็นผลลัพธ์ที่ว่า คุณภาพการศึกษาไม่ได้เกิดจากคุณภาพการเรียนการสอนอย่างเดียว แต่มันมีสาเหตุหลักมาจาก “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา(Education Inequality) มากกว่า เชื่อหรือไม่ว่าถ้าเอาคะแนนสอบ PISA ของเด็ก กทม.มาวิเคราะห์อย่างเดียวจะพบว่า เรามีคะแนนที่สูงพอๆ กับคะแนนเฉลี่ยของประเทศสหรัฐเลยทีเดียว (และอาจสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD) ดังนั้นการที่เด็กไทยได้คะแนน PISA ต่ำจึงไม่ได้มาจากเด็กมีคุณภาพแย่ลง แต่มันมาจากการที่เรามีเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสจำนวนมากที่ไม่สามารถทำข้อสอบได้คะแนนดีต่างหาก

ดังนั้น ถ้าต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษา เราต้องแก้ที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ใช่ไปแก้อะไรที่ปลายเหตุอย่างการปิดโรงเรียนกวดวิชา หรือการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เรื่องพวกนั้นมันกระทบคนส่วนน้อยมากของประเทศ ดังนั้นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ (เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมถึงเวียดนาม) ย่อมต้องมีผลของคะแนนสอบที่สูงกว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นเรื่องปกติ

ดังนั้น ถ้าจะเอาผลการสอบ PISA มาใช้ในการวางแผนการศึกษาของประเทศสามารถทำได้ครับ แต่เอามาใช้อย่างเข้าใจ อย่าไปบ้าเรื่องอันดับ (Ranking) มาก ข้อเสียหนึ่งของคนไทยเราก็คือไป Serious เรื่องการจัดอันดับมากเกินไป จนไม่ดูบริบทของความจำเป็นที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ