ปักหมุด9จุดสนามหลวงสร้างพระเมรุมาศ
พล.อ.ธนะศักดิ์นำปักหมุด9จุดสนามหลวงก่อสร้างพระเมรุมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงร.9
พล.อ.ธนะศักดิ์นำปักหมุด9จุดสนามหลวงก่อสร้างพระเมรุมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงร.9
เมื่อวันที่26ธ.ค.59 พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีปักหมุดการก่อสร้างพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
กำหนดการได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 15.59 น. พล.อ.ธนะศักดิ์ได้จุดธูปเทียนบูชาเครื่องสังเวย ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวง จากนั้น พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ วิบูลย์เวทย์บรมหงส์ พรหมพงศ์ พฤฒาจาริย์ อ่านโองการบวงสรวง ประธานโปรยข้าวตอกดอกไม้ที่เครื่องสังเวย จากนั้นประธานในพิธี รวมถึงผู้ปักหมุด ได้เดินไปประจำหลักหมุด ในเวลา 16.19 น. พราหมณ์เป่าสังข์แตรให้สัญญาณเริ่มปักหมุดพระเมรุมาศ โดยใช้ไม้มงคลปักหมุด จำนวน 9 จุดประกอบด้วยหมุดหลัก (ไม้ทองหลาง) ทำการฝังโดย พล.อ.ธนะศักดิ์ และหมุดรองจำนวน 8 จุด (ไม้พะยูง) ได้แก่
หมุดหลักที่ 2 ปักโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
หมุดหลักที่ 3 ปักโดย ราชเลขาธิการ
หมุดหลักที่ 4 ปักโดย เลขาธิการพระราชวัง
หมุดหลักที่ 5 ปักโดย รองราชเลขาธิการ (ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ)
หมุดหลักที่ 6 ปักโดย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
หมุดหลักที่ 7 ปักโดย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
หมุดหลักที่ 8 ปักโดย ปลัดกรุงเทพมหานคร
และหมุดหลักที่ 9 ปักโดย นายเดโช สวนานนท์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
สำหรับการปักหมุดเป็นการกำหนดตำแหน่งอ้างอิงในการวางผังเพื่อทำการก่อสร้างให้เป็นไปตามแนวคิดหลัก ของการออกแบบวางผัง โดยในทางการออกแบบสามารถกำหนดได้หลายวิธีตามความเหมาะสม
สำหรับผังการก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ กำหนดตำแหน่งอ้างอิงโดยการพิจารณาจุดกึ่งกลางของยอดพระเมรุมาศเป็นจุดหลัก โดยจุดกึ่งกลางดังกล่าวกำหนดจากจุดตัดของแนวแกนสำคัญ 2 แกน ได้แก่ แกนทิศเหนือ-ใต้ หรือแกนในแนวขนานกับความยาวของท้องสนามหลวง ซึ่งสัมพันธ์กับแนวกึ่งกลางของพระศรีรัตนเจดีย์ ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และแกนทิศตะวันออก ตะวันตก หรือแกนในแนวตั้งฉาก กับแนวแกนเหนือ-ใต้ สัมพันธ์กับแนวกึ่งกลางพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ส่วนประกอบอีกจำนวน 8 หมุด คือ ตำแหน่งกึ่งกลางยอดบริวารของพระเมรุมาศ ซึ่งได้แก่ ยอดซ่าง 4 ยอด และยอดมณฑปน้อย 4 ยอด รวมตำแหน่งหมดทั้งหมด 9 หมุด
สำหรับหมุดเป็นสัญลักษณ์ในการกำหนดเขตก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 แนว แนวแรกกั้นเชือกเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 44 เมตร เพื่อก่อสร้างพระจิตกาธานตรงกึ่งกลาง ส่วนทั้งสี่มุมจะก่อสร้างหอเปลื้อง และนำไม้มาปักเป็นสัญลักษณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนแนวที่ 2 เจ้าหน้าที่นำเชือกกั้นรอบนอกแนวก่อสร้างหอเปลื้อง เพื่อสร้างทางเดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 68.6 เมตร พร้อมกับโรยปูนขาวเป็นแนวขอบเขตของการก่อสร้างพระเมรุมาศ และภายหลังจากการปักหมุดแล้วเสร็จ จะมีการส่งมอบพื้นที่ให้กรมศิลปากรเข้ามาทำการก่อสร้างพระเมรุมาศ ในช่วงต้นเดือนมกราคมปี 2560