อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ สร้างธุรกิจ SMEs
โดย...ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK
โดย...ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK
ท่ามกลางภาวะการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงจากผู้ผลิตจำนวนมาก ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) อาจไม่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนจากการผลิตสินค้าเหมือนกับผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่จุดแข็งของ SMEs ส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ เริ่มจากความสามารถ ความรู้ และความเชี่ยวชาญของเจ้าของกิจการ ทำให้สินค้าและบริการได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ (Creative Industries) ซึ่งสินค้าและบริการต้องอาศัยความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ส่วนบุคคล ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ไม่ได้เปรียบ SMEs เสมอไป
อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยในปี 2544 John Howkins เป็นผู้จุดประกายถึงระบบเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มมาจากความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก แตกต่างจากมูลค่าเพิ่มแบบดั้งเดิมที่อาศัยทรัพยากรที่เราคุ้นเคยอย่างแรงงานและทุน ซึ่งต่อมาแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็ได้รับความนิยมในการประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ รวมถึง United Nation Conference on Trade and Development (UNCTAD) ก็ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้กับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ โดยแบ่งประเภทอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ดังนี้
มรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ (Heritage) : อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ประเภทนี้ใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศหรือพื้นที่ต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ ตัวอย่างเช่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน งานเทศกาลท้องถิ่น และงานศิลปกรรม ประติมากรรม
ศิลปะ (Arts) : เป็นธุรกิจที่เกิดจากความสามารถด้านศิลปะของบุคคลเป็นหลัก ได้แก่ ผลงานด้านศิลปะ (อาทิ ภาพวาด ประติมากรรม และภาพถ่าย) งานแสดงด้านศิลปะ (อาทิ การแสดงดนตรี ละครเวที และการแสดงเต้นรำ)
สื่อ (Media) : เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อสารมวลชนประเภทต่างๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์
งานสร้างสรรค์ตามหน้าที่ (Functional Creations) : ประกอบด้วยธุรกิจออกแบบ (อาทิ การออกแบบและตกแต่งภายใน กราฟฟิกดีไซน์ การออกแบบเครื่องประดับ) ธุรกิจสื่อสมัยใหม่ (อาทิ วิดีโอเกม และซอฟต์แวร์) และธุรกิจบริการสร้างสรรค์ (อาทิ การออกแบบบ้าน และโฆษณาประชาสัมพันธ์)
สำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยนับได้ว่าหลายธุรกิจมีศักยภาพและสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างอุทยานประวัติศาสตร์ในหลายจังหวัด วัดวาอารามสำคัญ และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงการจัดงานเทศกาลประจำปี อาทิ เทศกาลสงกรานต์ ประเพณีการละเล่นผีตาโขน และงานลอยกระทง จ.สุโขทัย ขณะที่สินค้าหัตถกรรมและประติมากรรมของไทยก็เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ต้องอาศัยความสามารถด้านศิลปะของบุคคล อาทิ การแสดงสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตแฟนตาซีและทิฟฟานี่โชว์
ในด้านความสามารถเชิงความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยถือได้ว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก สามารถผลิตสินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อาทิ บริษัทโฆษณาในไทยมีผลงานด้านโฆษณาที่ได้รับรางวัลระดับโลกอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงแบรนด์เสื้อผ้าของไทย อาทิ Asava Disaya Kloset Soda Greyhound ที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ
นอกจากนี้ หลายธุรกิจของไทยยังมีศักยภาพในการขยายการลงทุนหรือให้บริการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ธุรกิจรับจัดงานอีเวนต์ ธุรกิจประชาสัมพันธ์ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจรับจัดทำการตลาด และธุรกิจสื่อโทรทัศน์ เนื่องจากผู้ประกอบการในธุรกิจดังกล่าวของประเทศเพื่อนบ้านยังมีประสบการณ์ไม่มากนัก ขณะที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มาระยะหนึ่งแล้ว จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในการขยายการให้บริการไปยังประเทศดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ขัดขวางการเติบโตของธุรกิจสร้างสรรค์ อาทิ ธุรกิจเพลงของไทยในปัจจุบันถือได้ว่ามีมูลค่าการจำหน่ายต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ธุรกิจออกแบบเสื้อผ้า ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการไทยออกแบบและผลิตเสื้อผ้าลวดลายใหม่ๆ ออกมาจำหน่ายและได้รับความนิยม ก็จะพบสินค้าเลียนแบบออกวางจำหน่ายตามมาในไม่ช้า นอกจากนี้ เทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วก็อาจเป็นปัจจัยบั่นทอนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์บางประเภททั่วโลก รวมถึงไทย อาทิ ยูทูบ และเฟซบุ๊ก ก็กำลังกลายเป็นปัจจัยบั่นทอนธุรกิจสื่อโทรทัศน์ในอนาคต
การผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ภาครัฐในหลายประเทศเข้ามาเป็นหัวหอกนำอุตสาหกรรม อาทิ ญี่ปุ่นมีนโยบาย “Cool Japan” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าของตน ส่วนเกาหลีใต้ก็มีบทบาทชัดเจนในการผลักดันกระแส K-Pop ไปยังตลาดต่างประเทศ สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันภาครัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้จากนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมบริการ เป็นหนึ่งคลัสเตอร์สำคัญ โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้คลัสเตอร์ดังกล่าวประกอบด้วยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center : TCDC) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับบทบาทเป็นผู้ดูแลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยแบบเต็มตัว คาดว่าภาครัฐจะมีนโยบายหรือมาตรการออกมาสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยในไม่ช้า