posttoday

โลกเปลี่ยนเร็วจนปรับตัวไม่ทัน

15 มกราคม 2560

ใครที่เคยติดตามบรรดาสารคดีสิ่งมีชีวิต สัตว์โลกจากช่องทางต่างๆ คงได้เคยผ่านตาเรื่องราวของการปรับตัว

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ใครที่เคยติดตามบรรดาสารคดีสิ่งมีชีวิต สัตว์โลกจากช่องทางต่างๆ คงได้เคยผ่านตาเรื่องราวของการปรับตัวให้เข้ากับถิ่นกำเนิดหรือสภาพภูมิประเทศ สิ่งที่เราได้รู้ คือ ไม่ว่าภูมิประเทศ สภาพอากาศหรือเงื่อนไขอะไรก็ตามจะหฤโหดทารุณขนาดไหนก็ยังมีสิ่งมีชีวิตบางชนิดปรับตัวให้อยู่รอดได้เสมอ

พวกมันต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยน รูปร่าง ท่าทาง ลักษณะ หรือหน้าที่อวัยวะต่างๆ ให้เหมาะสมและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาวะแวดล้อมนั้นๆ ได้ การปรับตัวที่ว่าเกิดจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ต้องปรับเปลี่ยนร่างกาย พฤติกรรม กลไกตามธรรมชาตินี้ถูกควบคุมโดยพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขที่ว่านี้ อาจใช้เวลาหลายร้อยล้านปีหรือนานกว่า

โดยหลักการแล้ว การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตสามารถจำแนกได้ 2 แบบใหญ่ๆ แบบแรก คือ การปรับตัวแบบชั่วคราว เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะไประยะเวลาสั้น สามารถเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิมได้ การปรับตัวแบบนี้พบได้ทั้งในพืชและในสัตว์ ดังที่เห็นได้จากพืชที่ปลูกกลางแจ้งจะเป็นแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มเพื่อรับแสงแดด การเปลี่ยนสีตามสิ่งแวดล้อมของสัตว์เลื้อยคลาน

อีกแบบหนึ่ง ก็คือ การปรับตัวแบบถาวร ด้วยการถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมจากบรรพบุรุษไปยังลูกหลาน ทำให้สามารถปรับตัวอยู่รอดในภูมิประเทศนั้นๆ ได้ เช่น เปลี่ยนจากพืชที่มีใบเป็นหนามเพื่อลดการคายน้ำ ในพื้นที่ทะเลทรายอันร้อนระอุ เปลี่ยนเนื้อเยื่อของลำต้นให้มีมวลเบาลอยน้ำได้ พืชบางชนิดสร้างส่วนใดส่วนหนึ่งของกิ่งก้านสาขาเป็นหนามเพื่อป้องกันการถูกแทะเล็มจากสัตว์กินพืช

โลกเปลี่ยนเร็วจนปรับตัวไม่ทัน

 

สัตว์เลือดอุ่นนั้นพัฒนาระบบร่างกายไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อม มีต่อมเหงื่อเพื่อลงความร้อนของร่างกาย หรือวิธีอื่นๆ ที่ช่วยปรับร่างกายให้คงที่มากที่สุด ดังที่เราจะเห็นว่า สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในบริเวณที่อยู่รอบเส้นศูนย์สูตรหรือเขตร้อน ขนจะสั้น ขณะที่ในเขตหนาวก็จะตรงกันข้ามหรือมีชั้นไขมันหนา เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อน

สิ่งมีชีวิตทั้งหลายปรับตัวให้พึ่งพาหรือทำลายกัน ด้วยเหตุผลเรื่องการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ ทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่าต่างรับมือและปรับสมดุลของจำนวนการขยายพันธุ์ระหว่างเผ่าพันธุ์ได้ หากพวกมันไม่มีภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงเป็นตัวแปร ที่ยิ่งกว่านั้น คือ ไม่มีมนุษย์เป็นศัตรู ทั้งทางตรงและทางอ้อม

รายงาน Living Planet Index ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุว่า จากการรวบรวมตัวเลข พบว่า ตั้งแต่ปี 2513 มาจนถึงปัจจุบัน สัตว์ทุกสายพันธุ์ทั่วโลกลดลง 58% ช้างที่มีจำนวนลดลงถึง 5 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประชากรสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ลุ่มน้ำ ทะเลสาบ และแม่น้ำ ลดลงถึง 81% หรือคือเป็น 4% ต่อปี จำนวนของพวกมันลดลงเพราะมีมนุษย์เป็นศัตรูทั้งทางตรงและทางอ้อม

แน่นอนที่สุด ในทางตรงเมื่อมีมนุษย์เป็นศัตรู เป็นผู้ล่า กลไกตามธรรมชาติที่พวกมันสร้างขึ้นเพื่อรับมือสัตว์ผู้ล่าด้วยกัน ย่อมปรับตัวได้ไม่ทันกับความสามารถและเทคโนโลยีของมนุษย์ ในทางอ้อมยิ่งเลวร้ายกว่านั้น เพราะนอกจากมนุษย์จะทำลายเผ่าพันธุ์ของพวกมันแล้ว ยังทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันอีกด้วย

ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มาจากมนุษย์โดยตรง ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในวงกว้าง นักวิจัยพบว่า สัตว์และพืชมากกว่า 200 ชนิด อาจต้องสูญพันธุ์ เพราะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝน และอุณหภูมิโลกไม่ทัน

นักวิจัยระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบความรวดเร็วในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมกับระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของพืชและสัตว์เลื้อยคลาย โดยเฉพาะบนเกาะและภูเขาสูง พบว่าอัตราความเร็วในการปรับตัวของพวกมันช้ากว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกถึง 2 แสนเท่า โดยเฉลี่ย

ขณะที่บรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์จำพวกนก มีแนวโน้มที่จะสามารถเอาตัวรอดจากปัญหาสภาวะโลกร้อนได้ดีกว่า เนื่องจากพวกมันมีความสามารถในการปรับอุณหภูมิร่างกายตนเองให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม แต่ประเด็นหลังก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าไว้วางใจนัก โดยเฉพาะเมื่อมันถูกสำทับด้วยภาพสุนัขจิ้งจอกยืนแข็งตายในอากาศที่หนาวสุดขั้ว อากาศหนาวมาเร็วจนพวกมันหนีน้ำที่เป็นน้ำแข็งไม่ทัน เป็นภาพที่ถ่ายได้จากบริเวณแม่น้ำแห่งหนึ่งทางตอนใต้ ประเทศนอร์เวย์ เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมานี้เอง