บริษัทใหญ่รุกซื้อกิจการนอก
บางจากซื้อลิเทียมสหรัฐ1,200ล้าน กลุ่มซีพีประมูลซื้อร้านสะดวกซื้อโปแลนด์
บางจากซื้อลิเทียมสหรัฐ1,200ล้าน กลุ่มซีพีประมูลซื้อร้านสะดวกซื้อโปแลนด์
โพสต์ทูเดย์ - บริษัทใหญ่รุกขยายกิจการนอกประเทศ บางจากฯ ซื้อเหมืองลิเทียมสหรัฐ 1,200 ล้าน กลุ่มซีพีประมูลซื้อร้านสะดวกซื้อในโปแลนด์
บริษัท บางจากปิโตรเลียม (BCP) แจ้งบริษัทย่อย บีซีพี อินโนเวชั่น (BCPI) จะลงทุนเพิ่มในบริษัท ลิเทียม อเมริกา คอร์ป (LAC) มูลค่า 1,200 ล้านบาท โดยในปัจจุบัน BCPI ถือหุ้นอยู่แล้ว 6.7% โดยหลังจากการลงทุนเพิ่มครั้งนี้จะมีสัดส่วนถือหุ้นใน LAC เพิ่มขึ้นเป็น 16.4%
การลงทุนเพิ่มประกอบด้วยการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มจำนวน 50 ล้านหุ้น ที่ราคา 0.65 เหรียญสหรัฐ โดยเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาปิดต่ำสุดของวันที่ 19 ม.ค.อยู่ 20% แต่อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของราคาในเดือนที่ผ่านมา โดยหลังการเพิ่มทุนจดทะเบียนแล้ว BCP จะให้สินเชื่ออีก 2,800 ล้านบาท แก่บริษัท Minera Exar S.A. ที่ LAC ถือหุ้นอยู่ 50%
ด้านของธุรกิจ LAC มีโครงการทำเหมืองลิเทียมในประเทศอาร์เจนตินาและสหรัฐ โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 5 หมื่นตัน/ปี แต่ในปัจจุบัน LAC ยังแทบไม่มีรายได้เกิดขึ้น และมีผลการดำเนินงานขาดทุน 79.1 ล้านบาท ในปี 2559
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาต ยังมองไม่เห็นภาพชัดเจนถึงความสามารถในการทำกำไรของ LAC จึงมีความกังวลเล็กน้อยต่อการลงทุนครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ในประเภทและพื้นที่ของธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย
ด้านบริษัท สยามแม็คโคร (MAKRO) น.ส.เสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานบริหารการเงินและหน่วยงานสนับสนุน แจ้งว่า บริษัท แม็คโคร อาร์โอเอช บริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100% ได้มีการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ที่จดทะเบียนในประเทศอินเดีย ชื่อ ซีพี โฮลเซล อินเดีย ไพรเวท จัดตั้งที่อินเดียวันที่ 19 ม.ค. 2560 ดำเนินธุรกิจค้าส่งและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กับทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 แสนรูปีอินเดีย หรือ 51,813 บาท (1.00 บาท/1.93 รูปีอินเดีย) โดยบริษัท แม็คโคร อาร์โอเอช ถือหุ้น 99.99% นายธนินท์ เจียรวนนท์ ถือหุ้น 0.01% โดยใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
นักวิเคราะห์ บล.ธนชาต เปิดเผยว่า ได้สอบถามกับทาง บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) เกี่ยวกับการเข้าประมูล Zabka ร้านค้าสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในโปแลนด์มูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท ภายหลังมีข่าว CPALL เข้าประมูลปรากฏว่าไม่ใช่ CPALL โดยคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี ซึ่งหากชนะการประมูล กลุ่มซีพี อาจโยกย้ายสินทรัพย์ และให้ CPALL เป็นผู้ถือ Zabka โดยผลการประมูลจะรู้ในเดือน ก.พ.นี้ถ้าทางกลุ่มแพ้การประมูลนี้
ทั้งนี้ CPALL ยังมีโอกาสกู้เพิ่มอีก 4.7 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และอีก 5.1 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เพื่อไม่ให้ละเมิดพันธสัญญาหนี้ ดังนั้นการจัดหาเงินทุนเพิ่มจึงค่อนข้างตึงตัว แต่เนื่องจากการที่ฝั่งผู้ขาย Zabka เป็นบริษัท Private Equity การเข้าซื้อครั้งนี้อาจไม่ได้เป็นการเข้าซื้อทั้งหมด 100% แต่หากในกรณีที่บริษัทเข้าซื้อทั้ง 100% การออกพันธบัตรที่ไม่มีการไถ่ถอน อาจเป็นทางเลือกเพราะจะเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นได้ทันที
ราคาหุุ้น CPALL ปิดที่ 59.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือ 0.42%