posttoday

"ม.ล.ปุณฑริก สมิติ" ปลัดแรงงานสู่ยุค 4.0

12 กุมภาพันธ์ 2560

"นโยบายประเทศที่ต้องการให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะ ความรู้ เพื่อให้มีรายได้ที่สูงขึ้น"

โดย..วิรวินท์ ศรีโหมด

กระทรวงแรงงานมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศ ทว่าในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกด้าน จึงเป็นความท้าทายต่อแรงงานไทย ทั้งภาคบริการ เกษตรกรรม ที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับโลกยุคโลกาภิวัตน์

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจนี้ เธอเป็นปลัดกระทรวงแรงงานหญิงคนแรก เติบโตมาจากข้าราชการตัวเล็กๆ เมื่อปี 2522 ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารหน่วย ตั้งแต่ผู้อำนวยการกองฯ จนขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รองปลัดฯ และตำแหน่งสูงสุดในปัจจุบัน รวมกว่า 38 ปี จนมาถึงขณะนี้เป็นหัวเรือใหญ่ทำหน้าที่กำหนดทิศทางดูแลแรงงานของประเทศ

การทำงานตลอด 38 ปี มีเรื่องที่ภูมิใจหลายอย่าง เช่น มีส่วนผลักดันเปิดหลักสูตรงานด้านบริการให้กับกลุ่มสตรี เยาวชน ผู้พิการ ได้เข้ามาเรียนรู้ อาทิ งานแม่บ้าน เรื่องเกี่ยวกับผู้สูงอายุ รวมถึงร่วมจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานและคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ยังมีบทบาทให้ภาคอุตสาหกรรม เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานของกระทรวงเพื่อพัฒนาแรงงานให้ถูกทิศทาง

จากวันนั้นถึงวันนี้ โลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลที่ถาโถมเข้ามา ระบบต่างๆ ในปัจจุบันเป็นอัตโนมัติเกือบหมด ม.ล.ปุณฑริก มองว่า แรงงานและนายจ้างไทยนอกจากจะต้องมีทักษะความสามารถที่ดีแล้ว ยังต้องคิดแก้ปัญหา สร้างนวัตกรรมพัฒนาสินค้าของตัวเองให้ได้ถึงจะอยู่รอด

“ทำงานในเวลาเท่าเดิม แต่ต้องได้งานมากขึ้น ต้องขับเคลื่อนด้วยปัญญา เรียนรู้ปรับเปลี่ยนตนเองอยู่ตลอดเวลา”

เธอยกตัวอย่างว่า การที่ชาวนาทุกปีประสบปัญหาเรื่องการขายข้าว แต่ขณะนี้ชาวนาไทยพัฒนาจากเดิมที่ทำนาเพียงอย่างเดียว เริ่มมีการสีข้าว แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ และนำออกมาจำหน่ายด้วยตนเอง ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่หลากหลายได้เช่นนี้ จะช่วยให้อยู่ได้ในอนาคต

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เริ่มหันมาทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ในทัศนะของ ม.ล.ปุณฑริก มองว่า ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโต แต่ต้องสร้างระบบให้คนกลุ่มนี้มีศักยภาพ เสริมทักษะด้วยองค์ความรู้ใหม่ๆ เช่น สอนขายของผ่านระบบออนไลน์ การเขียนโปรแกรมพื้นฐาน จะได้มีองค์ความรู้เข้าไปใช้ประกอบธุรกิจ ซึ่งกระทรวงได้เข้าไปสนับสนุน รวมถึงให้แหล่งทุนกู้เพื่อใช้ประกอบอาชีพอิสระ

“ผู้ที่สนใจแสวงหาองค์ความรู้และตลาดใหม่ที่มีมากมายในโลกใบนี้ ขออย่าไปคิดเหมือนกับคนอื่น แต่ต้องพยายามสร้างความแตกต่าง อาจจะดัดแปลงหรือสร้างไอเดียใหม่ เพราะทุกวันนี้โลกมันแคบ เชื่อว่าถ้าที่สุดแล้ว ทุกคนไม่หยุด จะสามารถพัฒนาต่อไปได้”

\"ม.ล.ปุณฑริก สมิติ\" ปลัดแรงงานสู่ยุค 4.0

เธอบอกว่า นโยบายประเทศที่ต้องการให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะ ความรู้ เพื่อให้มีรายได้ที่สูงขึ้น จึงนำมาซึ่งการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านแรงงานขึ้นมา โดยกระทรวงจะไม่ทำแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป แต่จะร่วมกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาแรงงานตั้งแต่ระดับชั้นการศึกษา โดยเข้าไปทดสอบความถนัด แนะแนวอาชีพเยาวชนตั้งแต่ชั้นประถม เพื่อจุดประกายให้เด็กเข้าใจถึงเรื่องของโลกอาชีพงาน

ขณะเดียวกัน ภายใต้ยุคของปลัดแรงงานหญิงท่านนี้ ยังได้ร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย พัฒนาเว็บไซต์เพื่อเข้าไปศึกษา ค้นหาอาชีพงานในแง่มุมต่างๆ เช่น ให้ความรู้เรื่องอาชีพ หาตำแหน่งงานว่าง เพื่อปูพื้นฐานตั้งแต่เยาวชน จากนั้นในระดับอาชีวะ มีการออกแบบหลักสูตรการสอนร่วมกับภาคอุตสาหกรรมว่านายจ้างต้องการแรงงานให้เข้ากับเทคโนโลยีประเภทใด

สำหรับเทคโนโลยีที่จะก้าวสู่ 4.0 เธอมองว่า ที่ผ่านมาแรงงานไทยได้ขยับจาก 1.0, 2.0 และ 3.0 และ อีก 5 ปีจากนี้ จะมีการปรับเปลี่ยนสู่ 4.0 ฉะนั้นจึงได้กำหนดให้สถาบันเฉพาะทาง 12 แห่งทั่วประเทศเน้นสอนเพื่อปูพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีในอนาคต

ขณะที่แรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร กระทรวงได้ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีศูนย์ตามต่างจังหวัด ได้จัดอบรมเติมความรู้เกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำนาให้มีความรู้ด้านช่าง เพื่อที่มีอาชีพเสริมนอกเหนือจากทำการเกษตร หรือนำความรู้ไปใช้ดูแลเครื่องมือทางการเกษตร คาดว่าโครงการนี้จะทำให้เกษตรกรสามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน

ม.ล.ปุณฑริก ยังได้พูดถึงทิศทางของตลาดอาชีพในอนาคต โดยเชื่อว่างานบริการยังเติบโตได้อีกมากและจะรองรับคนไทยได้มากที่สุด รวมถึงงานด้านออกแบบ การแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมความงาม เทคโนโลยีอาหาร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์นักวิเคราะห์ ซึ่งประเภทเหล่านี้ต้องใช้องค์ความรู้เพื่อหานวัตกรรมใหม่ๆ

งานที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี คาดว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร ฉะนั้นเกษตรกรยุคใหม่ต้องใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น มิฉะนั้นจะทำให้เกษตรกรอาจขยับเข้ามาอยู่ในภาคของงานบริการ และเชื่อว่าทุกที่มีจุดขายเรื่องการท่องเที่ยวได้ ฉะนั้นควรสร้างจุดขายตรงนี้ไว้ เช่น บางจังหวัดปลูกต้นทานตะวัน ซากุระ เป็นต้น

สิ่งที่น่ากังวลในมุมมองของปลัดแรงงานยุคเปลี่ยนผ่านสู่ 4.0 คือการที่เทคโนโลยีเครื่องจักรจะเข้ามามาก อาจทำให้งานที่เกี่ยวกับอาชีพนั่งเคาน์เตอร์ เช่น พนักงานธนาคาร ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เห็นได้จากปัจจุบันสามารถทำธุรกรรมผ่านระบบตู้ตอบรับอัตโนมัติหรือโทรศัพท์มือถือได้แล้ว

“อยากแนะนำนักเรียนที่กำลังศึกษา ดูเทรนด์การทำงานของโลกว่าจะไปในทิศทางใด เนื่องจากตลาดแรงงานไทยกำลังอยู่ในยุคปรับเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ไปเป็นแรงงานทางเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นเยาวชนรุ่นใหม่ต้องศึกษาว่าจะเลือกเรียนอะไรให้ดีก่อน เพื่อให้มีงานรองรับในอนาคต ไม่ใช่เลือกเรียนในสาขาที่ชอบอย่างเดียว”ม.ล.ปุณฑริก ให้ข้อคิดทิ้งท้าย