แฝกหญ้าพระราชทาน แก้ปัญหาเรื่องดิน เรื่องน้ำ
หญ้าแฝก หญ้าที่ช่วยคุ้มแดดคุ้มฝนคนบ้านนอกในอดีต ได้กลายมาเป็นหญ้าพระราชทานเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ
โดย...ส.สต
หญ้าแฝก หญ้าที่ช่วยคุ้มแดดคุ้มฝนคนบ้านนอกในอดีต ได้กลายมาเป็นหญ้าพระราชทานเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงค้นพบ และทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จ.เพชรบุรี นำไปแก้ปัญหาดินดานได้ผลจนเป็นที่เลื่องลือมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535
กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จัดโครงการวัฒนธรรมสัญจรเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องน้ำพระราชหฤทัยจากฟ้าสู่ดิน วันที่ 9-10 ก.พ. 2560 ณ จ.เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทัศนศึกษาโครงการตามพระราชดำริที่เด่นและเป็นต้นแบบที่มีอยู่ใน 2 จังหวัดดังกล่าว
โครงการที่ได้ชมแห่งแรก เป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หัวหิน จ.เพชรบุรี ที่ครอบคลุมพื้นที่ 22,627 ไร่ แต่เดิมนั้นเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า ถึงกับมีเนื้อทรายจำนวนมากเป็นสัตว์ประจำถิ่นที่มากินน้ำในลำห้วย จึงเป็นที่มาของชื่อห้วยทราย
พ.ต.ท.วิสูตร ใบเงิน ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) แม้จะเกษียณอายุแล้วแต่ก็ยังมาช่วยราชการ เล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงพัก ระยะเวลาครองราชย์ 70 ปี จะทรงงานตลอดแม้ทรงพระประชวร ภารกิจของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ จึงมีโครงการช่วยเหลือประชาชนมากกว่า 4,000 โครงการ ในจำนวนนั้นเป็นโครงการเกี่ยวกับน้ำและชลประทานมากกว่า 3,000 โครงการ
ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนา เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย เป็นต้น มีทั่วประเทศ 6 ศูนย์ ทำหน้าที่ศึกษาพัฒนาภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ จึงเหมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จับต้องได้ จัดแสดงให้ดูทั้งโครงการที่ล้มเหลวและประสบความสำเร็จ โดยเน้น 6 ภารกิจ คือ อนุรักษ์ป่า อนุรักษ์น้ำ อนุรักษ์ดิน สร้างอาชีพ ผลิตอาหาร และสุดท้ายจัดหาพลังงานทดแทน จัดเป็นวันสต็อป เซอร์วิส หรือระบบบูรณาการ เพราะมีหน่วยงานราชการหลายแห่งมารวมอยู่ในที่เดียว เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย มีหน่วยราชการถึง 34 หน่วย มาให้ความช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีตำรวจตระเวนชายแดนเป็นผู้ประสานงาน
อรสรา สายบัว ผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (ขวาสุด) และอรวรรณ ทรัพย์พลอยหัวหน้ากลุ่มประวัติศาสตร์ พร้อมคณะทัศนศึกษาโครงการตามพระราชดำริ ที่ จ.เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ที่ดินที่ห้วยทรายเป็นที่ราชพัสดุ อยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แปรพระราชฐานมาเป็นประจำในฤดูร้อน เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พ.ศ. 2468 เขตพระราชฐานโดยรอบขาดการดูแล จึงมีราษฎรจากจังหวัดต่างๆ เช่น จ.สุพรรณบุรี นครปฐม และอื่นๆ อพยพเข้ามาจับจองทำไร่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น สับปะรด เป็นต้น เวลาผ่านไป 40 ปี ที่ดินที่เคยสมบูรณ์กลายเป็นที่แห้งแล้ง ป่าหมด สัตว์ป่าไม่เหลือ แมลงชุกชุมเป็นศัตรูพืชผักผลไม้ที่เกษตรกรต้องใช้ยาฆ่าแมลงกำจัด ในขณะที่พื้นที่ลาดเอียงจากทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออก ที่ดินบางแห่งกลายเป็นดินดานแห้งแล้ง
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2526 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ มาทอดพระเนตร มีกระแสรับสั่งว่า หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด
นับแต่วันนั้นในหลวงทรงใช้พื้นที่ 1.1 หมื่นไร่ ปลูกป่า จัดระเบียบประชาชนให้อยู่ร่วมกับป่า มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำ ศึกษาวิธีทำระบบป้องกันไฟป่า ระบบป่าเปียก ให้การศึกษาแก่ราษฎรเพื่อสร้างรายได้จากผลิตผลป่าไม้ และเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ โดยใช้ประโยชน์จากป่าไม้ในลักษณะที่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จึงเป็นที่มาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
ประโยคสำคัญในการพัฒนาพื้นที่แห้งแล้ง ที่ชาวหุบกะพงนำมาใช้ คือ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ปลูกป่า 3 ชนิด ในพื้นที่ ได้แก่ ไม้มีค่าหรือไม้ดั้งเดิม ไม้ใช้สอยโตเร็ว ไม้ผล การปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางธรรมชาติ ส่วนประโยชน์อย่างที่ 4 คือ การอนุรักษ์ดินและน้ำ เพราะต้นไม้เมื่อเจริญเติบโตจะให้ร่มให้เงา ช่วยลดการระเหยของน้ำ พื้นดินก็ชุ่มชื้น
การอนุรักษ์และปรับปรุงบำรุงดิน
ดินเป็นปัจจัยสำคัญมากในการดำเนินชีวิตของเกษตรกร แต่ดินที่ห้วยทรายกลายเป็นดินดาน พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ จึงต้องมีการพัฒนา อนุรักษ์ดิน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การพัฒนาดินดานโดยใช้หญ้าแฝก การใช้ไม้ยูคาลิปตัสแก้แผ่นดินเสื่อมโทรม การใช้หญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ การใช้ปุ๋ยเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพดิน การสร้างความชุ่มชื้นพื้นดินด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น/ฝายแม้ว การทำคันดินกั้นน้ำ การทำคันดินเบนน้ำ
พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้จัดหาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนการปลูกป่าและการเพาะปลูก โดยทรงให้หาแหล่งน้ำภายนอกมาเติม จึงเกิดระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ(อ่างพวง) ในพื้นที่จำนวน 4 อ่าง เมื่อวางท่อเชื่อมกันแล้ว แต่ละอ่างสามารถส่งน้ำช่วยอ่างในเครือข่ายที่น้ำลดน้อยได้
ปลูกพืชในดินดานได้ เพราะหญ้าแฝกช่วย
แฝกหญ้ามหัศจรรย์
ส่วนการนำหญ้าแฝกมาช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ เริ่มปี 2535 หลังจากในหลวงทรงทดลองในสวนจิตรลดาจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว
หญ้าแฝกเป็นพืชเหมาะแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อเราปลูกเป็นแนวกำแพง รากของหญ้าแฝกจะหยั่งลงเป็นกำแพงใต้ดินอนุรักษ์ทั้งดินและน้ำ เนื่องจากรากเติบโตและยาว ระยะ 7 เดือนยาวถึง 1 เมตรเศษ เมื่อเวลาผ่านไปเป็นปีจะยาวไม่ต่ำกว่า 3 เมตร
จากการทดลองในดินดานที่พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นทะเลทรายในที่สุดนั้น หญ้าแฝกช่วยพลิกฟื้นดินให้ปลูกไม้ยืนต้นและพืชผักได้ตามประสงค์ เพราะรากหญ้าแฝกคือกำแพงธรรมชาติ ชะลอการไหลของน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินได้ดีมาก
พ.ต.ท.วิสูตร ใบเงิน อดีตเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศูนย์ กล่าวว่า ผ่านมา36 ปี ประชาชนในพื้นที่อยู่ร่วมกับป่า มี 4 ตำบล 29 หมู่บ้าน รวม 5,000 กว่าครัวเรือน ทำมาหากินได้ มีชีวิตที่ดีขึ้น