อัดม.44สิทธิบัตรทำยาแพง
เครือข่ายประชาชนโต้รัฐออกมาตรา 44 แก้สิทธิบัตรจะทำให้ยาราคาแพง ส่งผลผู้ผลิตผูกขาดยาวนับสิบปี
เครือข่ายประชาชนโต้รัฐออกมาตรา 44 แก้สิทธิบัตรจะทำให้ยาราคาแพง ส่งผลผู้ผลิตผูกขาดยาวนับสิบปี
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายภาคประชาชน เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรา 44 เกี่ยวกับ การแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิบัตรล่าช้า โดยเป็นการเร่งออกสิทธิบัตรให้กับผู้ยื่นขอ ซึ่งมีผลเสียต่อกระบวนการระบบสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยา เนื่องจากหากบริษัทยาได้รับสิทธิบัตรจะผูกขาดยาเพียงรายเดียว และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ องค์การเภสัชกรรมจะไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ รวมถึงมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าภาครัฐทันที
"ที่ผ่านมาการต่อรองยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาหัวใจ และยารักษามะเร็ง ซึ่งบริษัทยาไม่ลดราคาให้แม้แต่สตางค์เดียว จนนำไปสู่การประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือการทำซีแอลยา ซึ่งหากอนาคตเกิดต่อรองราคาไม่ได้ รัฐบาลจะกล้าประกาศใช้ซีแอลอีกหรือไม่" นายนิมิตร์ กล่าว
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้แทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีความสามารถในการต่อรองราคายา แม้จะยืนยันว่ามาตรา 44 เกี่ยวกับสิทธิบัตรจะไม่ส่งผลทำให้ยาแพงขึ้นก็ตาม เพราะข้อมูลพบว่ายาไวรัสตับอักเสบซีในสหรัฐอเมริกาขายราคาเม็ดละ 2 หมื่นบาท และผู้ผลิตยาดังกล่าวมายื่นขอสิทธิบัตรฉบับแรก ซึ่งหมดอายุเดือน เม.ย. 2567 นั่นหมายความว่าประเทศไทยต้องใช้ยาราคาแพงไปอีก 7 ปี อีกทั้งยังมีผู้ผลิตยื่นคำขอสิทธิบัตรจากยาชนิดเดียวกันอีก 12 ฉบับ ทำให้ยาชนิดนี้จะถูกผูกขาดไปถึงปี 2577 หรือ 17 ปี
ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนมีข้อเสนอถึง คสช. คือ 1.คัดกรองว่ามีคำขอสิทธิบัตรใดที่เกิน 5 ปี 2.ให้ตัดทิ้งสิทธิบัตรคำขอที่ไม่มีวันหมดอายุ 3.ตัดคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับการใช้จุลชีพ และ 4.ตั้งคณะกรรมการสิทธิบัตรที่มาจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมพิจารณา
นายสัตยะพล สัจจเดชะ นายกสมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สนับสนุนรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิบัตร เนื่องจากเป็นการพัฒนากฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา และรัฐบาลเห็นความสำคัญ รวมถึงพยายามแก้ไขอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้เกิดความทัดเทียมในระดับนานาชาติ