posttoday

การดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง

07 มีนาคม 2560

โดย...นพ.วิชัย โชควิวัฒนประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” มาแล้ว ตั้งแต่ปี  2548 โดยเกณฑ์ที่สหประชาชาติกำหนด คือมีสัดส่วนของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 10 หรือมีผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 7 ถึงปี 2560 สัดส่วนผู้สูงอายุในประเทศไทยเกินกว่าร้อยละ 17 แล้ว กล่าวคือมีผู้สูงอายุมากกว่า 10 ล้านคน จากประชากรของประเทศราว 65 ล้านคนผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคนนี้มีส่วนหนึ่งที่ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง (Dependent) จากความเสื่อมสภาพของร่างกายและจากโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้เกิดความพิการ เช่น จากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์หรืออัมพาต หรือจากอุบัติเหตุต่างๆ จากการสำรวจเป็นระยะๆ พบผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงราวร้อยละ 10 หรือราว 1 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ต้องพึ่งพิงบางส่วน หรือเป็นประเภท “ติดบ้าน” ออกไปไหนไม่ได้ราวร้อยละ 85 หรือราว 8.5 แสนคน และต้องพึ่งพิงทั้งหมด หรือเป็นประเภท “ติดเตียง” ราวร้อยละ 15 หรือราว 1.5 แสนคนจำนวนผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจากสัดส่วนผู้สูงอายุ “วัยปลาย&#

โดย...นพ.วิชัย โชควิวัฒน

ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” มาแล้ว ตั้งแต่ปี  2548 โดยเกณฑ์ที่สหประชาชาติกำหนด คือมีสัดส่วนของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 10 หรือมีผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 7 ถึงปี 2560 สัดส่วนผู้สูงอายุในประเทศไทยเกินกว่าร้อยละ 17 แล้ว กล่าวคือมีผู้สูงอายุมากกว่า 10 ล้านคน จากประชากรของประเทศราว 65 ล้านคน

ผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคนนี้มีส่วนหนึ่งที่ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง (Dependent) จากความเสื่อมสภาพของร่างกายและจากโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้เกิดความพิการ เช่น จากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์หรืออัมพาต หรือจากอุบัติเหตุต่างๆ จากการสำรวจเป็นระยะๆ พบผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงราวร้อยละ 10 หรือราว 1 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ต้องพึ่งพิงบางส่วน หรือเป็นประเภท
“ติดบ้าน” ออกไปไหนไม่ได้ราวร้อยละ 85 หรือราว 8.5 แสนคน และต้องพึ่งพิงทั้งหมด หรือเป็นประเภท “ติดเตียง” ราวร้อยละ 15 หรือราว 1.5 แสนคน

จำนวนผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจากสัดส่วนผู้สูงอายุ “วัยปลาย” ที่มากขึ้น เพราะอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้นเป็นลำดับ

ประเทศไทยกำหนดนิยามผู้สูงอายุไว้ในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ว่าหมายถึงผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป (ขณะที่ประเทศเจริญแล้วส่วนมากกำหนดที่อายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไปหรือมากกว่านั้น) ทั้งนี้มีการแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ วัยต้นอายุ 60-69 ปี วัยกลางอายุ 70-79 ปี และวัยปลายอายุ 80 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุวัยปลายย่อมมีโอกาส “ติดบ้านติดเตียง” สูงกว่าวัยต้นและวัยกลาง

ปัญหาผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

ประเทศไทยให้ความสนใจการแก้ปัญหาผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบมานานแล้ว โดยมีแผนผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นแผนระยะยาว 20 ปี ฉบับแรกมาตั้งแต่ปี 2525 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปัจจุบันเป็นแผนฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) และมีกฎหมายเฉพาะ คือ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 แต่ระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง คือประเภทติดบ้านติดเตียงยังต้องการการพัฒนาอีกมาก

การดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงแบ่งกว้างๆ เป็น 4 ระดับ คือ (1) การดูแลรักษาในโรงพยาบาล (Hospital Care)  (2) การดูแลในสถานดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง (Institutional care)  (3) การดูแลในชุมชน (Com munity-based care) และ (4) การดูแลที่บ้าน (Home-based care)

การดูแลในชุมชนและที่บ้านจะต้องมีการจัดระบบบริการเพื่อสนับสนุน ได้แก่ (1) การเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลด้านการพยาบาล (Home-visit nursing) (2) การเยี่ยมบ้านเพื่อการดูแลทั่วไป (Home-visit care)  (3) สถานดูแลกลางวัน (Day Care) (4) การบริการฟื้นฟูสภาพแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient Rehabilitation) และ (5) การดูแลระยะสั้น (Short term care)

ปัจจุบันในประเทศไทยมีระบบการดูแลที่พัฒนาขึ้นหลากหลาย เช่น (1) โรงพยาบาลบางแห่งเปิดแผนกบริการดูแลผู้สูงอายุติดเตียงขึ้นเป็นการเฉพาะ (2) มีสถานรับเลี้ยงดูผู้สูงอายุรวมกับผู้ป่วยติดเตียงอื่น (Nursing Home) (3) มีบริการส่งพนักงานไปดูแลประจำตามบ้าน เป็นต้น บริการเหล่านี้ยังต้องมีการพัฒนามาตรฐาน ระบบการกำกับดูแลและระบบการสนับสนุนอีกมาก  โดยบริการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงทั้งสิ้น รวมทั้งที่แต่ละบ้านใช้ญาติดูแลกันเอง โดยบางคนต้องลาออกจากงานมาดูแลและจำนวนมากที่จ้างแรงงานต่างชาติมาช่วยดูแล

ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่และยากสำหรับแต่ละครอบครัวจะแบกรับและแก้ปัญหาด้วยตนเอง เพราะปัจจุบันครอบครัวไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น แต่ละครอบครัวมีลูกน้อยลง แม่บ้านต้องไปทำงานประจำนอกบ้านมากขึ้น พ่อแม่พึ่งพาลูกได้น้อยลง คนรับใช้ในบ้านหายากมากขึ้นๆ ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ตามลำพังมีราว 6-7 แสนคน

น่าสังเกตว่าสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีหน้าที่ดูแลทั้งข้าราชการบำนาญและบิดามารดาข้าราชการจำนวนมากนับล้านคน แต่ยังไม่มีการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงเลย ต่างจาก สปสช. ซึ่งแม้จะใช้เงินน้อยมากอยู่แล้วโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดย สปสช.เริ่มเรื่องนี้ในปี 2555 ผู้เขียนในฐานะที่เป็นกรรมการตัวแทนผู้สูงอายุในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง

จากการที่ได้ทำงานเรื่องนี้มาพอสมควร โดยเฉพาะในหลายโครงการของ สสส. ได้มีโอกาสศึกษาและพัฒนาระบบงานหลายโครงการในประเทศ ได้ศึกษางานวิจัยของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย และสนับสนุนโครงการวิจัยปฏิบัติการหลายโครงการ ได้ศึกษาและไปดูงานในพื้นที่และในญี่ปุ่นมาบ้าง ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว สปสช.ได้จัดประชุมคู่ขนาน เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่สูงที่สุดในโลก และมีนโยบายที่ออกเป็นกฎหมายเรื่อง “การประกันการดูแลระยะยาว” มาตั้งแต่ปี 2543 มาเล่าประสบการณ์ ในที่สุดเราตัดสินใจแก้ปัญหานี้โดย
(1) มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน (2) เพื่อให้เสียค่าใช้จ่ายโดยประหยัดและไม่สร้างภาระที่เกินกำลังในระยะยาว

แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบทั้งจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จัดสรร
งบประมาณก้อนแรกในการดำเนินการนำร่องในพื้นที่ราวร้อยละ 10 ของประเทศ จำนวน 600 ล้านบาท ในปี 2559 และปี 2560 ได้รับจัดสรรเพิ่มเป็น 900 ล้านบาท งานนี้ถ้าทำเต็มพื้นที่จะใช้งบประมาณเพียงปีละ 6,000 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทเรียนจากกรณียากำพร้า โครงการนี้จึงให้บริการเฉพาะคนไข้บัตรทอง ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงผู้มีสิทธิข้าราชการด้วย ซึ่งสร้างความอึดอัดให้ทั้งแก่คนทำงานในพื้นที่และผู้มีสิทธิข้าราชการที่ต้องถูก “ข้าม” ไป ไม่ดูแล

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคงไม่ทราบปัญหานี้ ทั้งๆ ที่มีผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และปัญหาลักษณะนี้ย่อมเกิดขึ้นเรื่อยๆ  หากกระทรวงการคลังยังคง “กอด” เรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไว้ต่อไป