มิติใหม่วงจรอุบาทว์ (1)
การเมืองไทยพังเพราะ “วงจรอุบาทว์” คำว่า “วงจรอุบาทว์” เป็นศัพท์ทางวิชาการรัฐศาสตร์ หมายถึงการเดินทางเป็น
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
การเมืองไทยพังเพราะ “วงจรอุบาทว์”
คำว่า “วงจรอุบาทว์” เป็นศัพท์ทางวิชาการรัฐศาสตร์ หมายถึงการเดินทางเป็นรอบวงของความชั่วร้ายทางการเมือง หมุนเวียนต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับกรณีของประเทศไทยมีการนำคำนี้มาใช้ในภายหลังเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค. 2519 เพื่ออธิบายการเกิดขึ้นของรัฐประหารอันแสนง่ายดายซ้ำแล้วซ้ำเล่า สลับกับประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่ฟอนเฟะ ที่ทำให้เกิดวิกฤตอันน่าเบื่อหน่ายแก่ประเทศไทยตลอดมา
สมัยที่ผู้เขียนเรียนชั้นมัธยมต้นเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว คุณครูที่ท่านสอนวิทยาศาสตร์ในเรื่องวงจรไฟฟ้าได้อธิบายว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดประกอบด้วยวงจรไฟฟ้าและกลไกมากมาย ชิ้นส่วนที่นำมาประกอบกันเป็นวงจรไฟฟ้าและกลไกต่างๆ นั้น จะต้องมีการกำหนดหน้าที่ในการทำการทำงานของแต่ละชิ้นส่วนให้สัมพันธ์กัน ทั้งนี้จะต้องมีการออกแบบและคิดคำนวณให้ถี่ถ้วน อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาก็ให้แก้ไปทีละจุด โดยตั้งข้อสมมติฐานว่าน่าจะเสียที่วงจรตรงไหน โดยดูจากอาการที่เกิดขึ้น แล้วมุ่งแก้ไขไปที่ตรงนั้นก่อน ทั้งนี้โดยเหตุที่เรามีการออกแบบและคำนวณเป็นหลักฐานไว้แล้ว การแก้ไขก็ทำได้ง่ายด้วยการปฏิบัติตาม “แผ่นพรินต์” หรือวงจรที่เขียนหรือพิมพ์ไว้เป็นหลักฐานนั้น
คุณครูได้สอนให้เราทำ “วิทยุแร่” หรือวิทยุสำหรับใช้รับฟังอย่างง่ายๆ ใช้ชิ้นส่วนเพียง 4-5 ชิ้น ใช้เงินไม่กี่สิบบาท ประกอบด้วยตัวแร่สำหรับรับสัญญาณคลื่นวิทยุที่เรียกว่าไดโอด รีซิสเตอร์ หรือตัวสร้างแรงต้านทานไฟฟ้า วาริเอเบิลคอนเดนเซอร์ หรือตัวหมุนหาคลื่นสถานีวิทยุ ถ่านไฟฉาย 1 ก้อน และสายทองแดงสำหรับบัดกรีเชื่อมชิ้นส่วนดังกล่าวนี้ จากนั้นคุณครูก็แจก “แผ่นพรินต์” คือกระดาษพิมพ์ภาพวงจรอย่างง่ายๆ ให้พวกเราแต่ละกลุ่มที่มีกลุ่มละ 3-4 คนนั้นไปลองทำ ซึ่งก็สามารถเสร็จได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง แล้วก็มีการทดลองเปิดฟัง ก็สามารถรับฟังกันได้ แม้เสียงจะค่อยและรับฟังได้ไม่กี่สถานี แต่ก็นำความตื่นเต้นให้กับวัยรุ่นอย่างผู้เขียนในวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็นนั้นเป็นอย่างมาก
ที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือทำให้เราเข้าใจปรัชญาของสิ่งที่เรียกว่า “วงจร” ได้เป็นอย่างดี ยิ่งเรานำมาเปรียบเทียบกับปรัชญาของศาสนาพุทธที่เรานับถืออยู่ด้วยแล้ว ในเรื่องของ “วัฏสงสาร” คือการเวียนว่ายตายเกิด ก็ยิ่งทำให้มองเห็นได้ชัดเจนว่า “วงจร” นี้เป็นกลไกหรือธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของทุกสรรพสิ่ง จากอะตอมที่เป็นวงจรที่เล็กที่สุดไปจนถึงเอกภพที่เป็นวงจรที่ใหญ่ที่สุด ก็มีการเกิดดับได้ด้วยความเป็น “วงจร” นี่เอง
พอผู้เขียนมาเรียนวิชารัฐศาสตร์ในปี 2519 ที่คำว่า “วงจรอุบาทว์” กำลังฮิตอยู่ จำได้ว่าผู้ที่สอนให้รู้จักคำคำนี้ก็คือท่านอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช แล้วท่านก็อธิบายคำคำนี้ด้วยทฤษฎีระบบการเมืองจากตำราของสหรัฐอเมริกา ว่าก็คือ “วงจร” ในการบริหารจัดการอำนาจ เริ่มจากต้องมี “ส่วนที่นำเข้า” (Inputs) คือความต้องการและข้อเรียกร้องของประชาชนที่ใส่เข้าไปใน “ตัวจัดการระบบ” (Processing Units) ที่มีกลไกสำคัญคือ รัฐสภา รัฐบาล และศาล ทำหน้าที่ให้ประสานสัมพันธ์กัน ที่สุดก็จะมีผลได้หรือ “ส่วนที่นำออก” (Outputs) ออกมาเป็นกฎระเบียบ นโยบาย และการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ทั้งนี้ก็จะมีความรู้สึกที่พอใจหรือไม่พอใจกับส่วนที่นำออกมาเหล่านี้ เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิกิริยาย้อนกลับ” (Feedbacks) เข้าไปยังส่วนที่นำเข้าอีกทีหนึ่ง
หากประชาชนมีความพอใจกับการบริหารจัดการอำนาจของ “ตัวจัดการระบบ” ก็จะแสดงออกด้วยการให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมระบบ ในทางตรงกันข้ามหากประชาชนมีความไม่พอใจต่อส่วนที่นำออก ก็จะแสดงออกด้วยการต่อต้าน หรืออาจจะถึงขั้นก่อกวนและทำลายระบบ อันเป็นหน้าที่ของ “ตัวจัดการระบบ” ที่จะต้องดำเนินการปรับแก้และพัฒนากระบวนการในการจัดการระบบให้ดียิ่งขึ้นต่อไป เช่น ปรับเปลี่ยนนโยบาย แก้ไขกฎหมาย หรือปฏิรูปโครงสร้างและปรับเปลี่ยนกลไกทางการเมืองการปกครอง เป็นต้น
ทฤษฎีระบบนี้ยังบอกอีกว่า “รู้ง่าย รู้ไว เสียที่ไหน แก้ที่นั่น” นั่นก็คือหากมีปัญหาเกิดขึ้นในการทำงานของระบบ เราสามารถ “ตรวจวงจร” หรือค้นหาจุดที่เกิดปัญหานั้นได้ง่ายๆ โดย “ไล่ดู” ไปทีละจุด เริ่มจาก Inputs มีความบกพร่องหรือไม่ มีการรับฟังเสียง ฟังความคิดเห็น และข้อเรียกร้องของประชาชนหรือไม่ เป็นเสียงสนับสนุนหรือคัดค้านมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยเราจะใช้กลไกนี้ผ่านพรรคการเมืองและภาคประชาสังคม ถ้าพบข้อบกพร่องก็ต้องแก้ไขเสีย แต่ถ้ายังเปิดโล่งปล่อยกว้าง มีเสรีภาพดีอยู่ ก็ไปไล่ดูใน Processing Units ว่ารัฐบาล รัฐสภา และกระบวนการยุติธรรม ยังทำงานดีอยู่เป็นปกติหรือไม่