posttoday

คน-คน-คน หัวใจแห่งเมืองน่าอยู่

12 มีนาคม 2560

เมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย...อาทิตย์ โกวิทวรางกูร เครือข่ายมักกะสัน [email protected]

เมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับ ลายเส้น พับบลิชชิ่ง (ในเครือบริษัท สถาปนิก 49) จัดงานหนึ่งขึ้นมา

งานนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้คนในวงการวางแผนและพัฒนาเมือง

คนที่ได้รับเชิญมาพูด จัดเป็น “ตัวพ่อ” ของโลกในวงการนี้

เขามาบรรยายครั้งแรกในเมืองไทย และเป็นครั้งแรกที่เคยมาประเทศไทยด้วย (แม้ว่าผลงานชิ้นสำคัญสองเล่ม คือ เมืองมีชีวิต (Life Between Buildings) และเมืองของผู้คน (Cities for People) จะถูกแปลเป็นภาษาไทย และวางจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2556 และ 2559)

ชื่อของเขา ญาน เกห์ล (Jan Gehl) = คน + เมือง

เขาสร้างชื่อจากแนวคิดการออกแบบและพัฒนาเมือง ที่เอา “คน” เป็นศูนย์กลาง...เริ่มจากผู้คน และจบที่ผู้คน

ญาน เป็นคนเดนมาร์ก เกิด-เรียน-ทำงาน-สร้างผลงานสร้างชื่อที่เมืองโคเปนเฮเกน เขามีส่วนสำคัญในการสร้างโคเปนเฮเกนอย่างทุกวันนี้ ในทางกลับกันโคเปนเฮเกนก็กลายมาเป็น “โชว์รูม” ของเขาไปโดยปริยาย

หัวข้อที่เขามาพูดวันนี้คือ Livable Cities-for 21st century

เมืองที่น่าอยู่ สำหรับศตวรรษที่ 21 โดยมีพาดหัวรองว่า People Oriented City Planning as Strategy

การวางแผนพัฒนาเมืองโดยเน้นที่ “ผู้คน” ในฐานะยุทธศาสตร์

เขาเริ่มเรื่องจาก “อุปสรรค” ที่กั้นขวางไม่ให้เมืองเน้นที่ผู้คน

อุปสรรคแรก คือ แนวคิดว่าด้วย “สมัยใหม่” (Modernist)

ความคิดนี้เกิดมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ...ไม่ได้เพิ่งมาเกิด โดยมีที่มาจากการปฏิวัติในเทคโนโลยี วิศวกรรม และวัสดุก่อสร้าง

อันที่จริง การก้าวหน้า-พัฒนา-หรือทันสมัย คงไม่เป็นปัญหา หากมันไม่ได้มาพร้อมกับการทำลายอดีต และลบภาพประวัติศาสตร์

ในแวดวงสถาปัตย์ นี่เป็นการออกแบบโดยแยก “คน” ออกจากตัวอาคาร เน้นไปที่สิ่งปลูกสร้างรูปทรงทันสมัย และในการวางแผนเมือง มันมาพร้อมสิ่งที่เรียกว่า “มุมมองระดับเครื่องบิน” (Airplane View)

มองลงมา แล้วออกแบบจากตรงนั้น

ไม่มีใครสนใจว่าเวลาคนลงไปเดิน ไปอยู่ในนั้นจริงๆ แล้วมันจะเป็นอย่างไรกันแน่

“ผมเรียกการออกแบบเมืองด้วยวิถีแบบนี้ว่า Brasilia syndrome”

Brasilia เป็นชื่อของเมืองหลวงใหม่ของบราซิล สร้างขึ้นในทศวรรษ 1950 โดยเปิดให้มีการแข่งขันประกวดแบบถือเป็นอนุสรณ์แห่งการออกแบบยุคสมัยใหม่ ที่ Jan Gehl บอกว่า มองจากเครื่องบินแล้วสวย แต่พอเดินข้างล่างแล้วห่วยแตก

อุปสรรคที่ 2 : รถยนต์บุกรุก (Car-Vation)

เมื่อรถยนต์ก้าวมาเป็นยานพาหนะสำคัญ และแพร่หลายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองก็เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

ตั้งแต่นั้นมา แผนกวิศวกรรมที่ดูแลเรื่องการจราจร ถนน และรถยนต์ มีบทบาทมากเหลือเกิน

คิดดูว่าเรามีกระทรวงคมนาคม แต่ไม่มีกระทรวงคนเดินถนน และชีวิตสาธารณะ

นั่นทำให้การพัฒนาเมือง “ไม่สมดุล” รถกลายมาเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ “คน”-และ “คุณภาพชีวิต”

ถามว่า ณ วันนั้น เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ในเมือง?

คำตอบคือ แทบไม่รู้อะไรเลย

อดีตนายกเทศมนตรีคนดังแห่งเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เอนริเก พีนาโลซา ผู้ซึ่งพลิกฟื้นเมืองได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งเป็นทั้งลูกค้าและมิตรสหายของญาน ตั้งข้อสังเกตอันคมคายไว้ว่า...“มันย้อนแย้ง (Paradox) ที่มนุษย์ศึกษาจนรู้ลึกรู้ดีเกี่ยวกับสัตว์หลายชนิด ไม่ว่าจะกอริลลาภูเขา หรือเสือไซบีเรีย ว่ามันจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (Good Animal Habitat) ได้อย่างไร...แต่เรา ‘รู้น้อยเหลือเกิน’ เกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ (Good Human Habitat)”

เรื่องราวของญานเริ่มต้นจากตรงนั้น ทศวรรษ 1960 “จุดต่ำสุด” ของการวางแผนพัฒนาเมือง ในมุมมองของเขา

ผ่านจุดนั้นมา 50 กว่าปีเราต้องการ “เมืองแบบไหนกัน” ในศตวรรษที่ 21??

(1) น่าอยู่ มีชีวิตชีวา (Lively, Livable City)

จากการเฝ้าสังเกตผู้คนของญาน สิ่งที่คนสนใจที่สุดในเมือง ก็คือ “ผู้คน” ด้วยกันเอง เมืองที่มีชีวิต คือเมืองที่คนออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะกันเยอะๆ

(2) ยั่งยืน (Sustainable City)

เมืองจะยั่งยืนได้ ต้องมีการลดใช้พลังงาน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง จากการใช้รถยนต์ส่วนตัว มาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

ซึ่งลักษณะพื้นที่สาธารณะนอกบ้านที่ดี (Good Public Realm) เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ต้องมองเชื่อมโยง สร้างการเชื่อมต่อที่ดีจากหน้าประตูบ้านจนถึงที่หมาย

(3) สุขภาพแข็งแรง (Healthy City)

“การนั่งมากไป เป็นปัญหาต่อสุขภาพไม่แพ้บุหรี่”

ญานกำลังพูดถึง Sitting Syndrome...ฆาตกรเงียบแห่งยุคสมัย

เพื่อให้หลุดพ้นสิ่งนี้ เมืองต้องออกแบบเพื่อเชิญชวนให้คนอยาก “เดิน” อยากขยับตัว หรืออยากขี่จักรยานในทุกๆ วัน

ทั้ง 3 เป้า ของเมืองน่าอยู่นี้ หากมองเผินๆ เหมือนต้องมีการดำเนินการแยกไปในแต่ละด้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

 แต่มองให้ดี การเอา “คนเป็นศูนย์กลาง” ในการออกแบบและวางแผนพัฒนาเมือง จะนำไปสู่สามเป้าหมายใหญ่นี้ พร้อมเพรียงกัน

ช่วงถามตอบมีคนถามเขาว่า “อะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพลิก (Turnaround) เมือง?”

“ผมไม่ได้เน้นไปที่การเปลี่ยนเมือง...ผมเน้นเปลี่ยน Mind Set ของคน...แล้วคนจะไปเปลี่ยนเมืองด้วยตัวพวกเขาเอง”

และนั่นเป็น “รากฐาน” ของการเปลี่ยนแปลง