นางชุย-ผู้รักษาสายเลือดตระกูลเปา
ในนิยายเปาบุ้นจิ้นเล่าไว้ว่า เปาบุ้นจิ้นเกิดมาหน้าตาอัปลักษณ์ บิดาเกลียดชัง จึงทิ้งให้พี่สะใภ้ของตนเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก
โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์
ในนิยายเปาบุ้นจิ้นเล่าไว้ว่า เปาบุ้นจิ้นเกิดมาหน้าตาอัปลักษณ์ บิดาเกลียดชัง จึงทิ้งให้พี่สะใภ้ของตนเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก เปาบุ้นจิ้นได้รับการเลี้ยงดูจากพี่สะใภ้ของพ่อตน (ขอเรียกง่ายๆ ว่าแม่สะใภ้) แม่สะใภ้เห็นใจและเอ็นดูหนูเปามาก ถึงขนาดเลี้ยงเปาบุ้นจิ้นด้วยน้ำนมในอก จนต้องให้ลูกตัวเองซดโจ๊กแทน และนั้นเป็นพื้นฐานให้นิยายเปาบุ้นจิ้นตอน “ประหารเปาเหมี่ยน” ดราม่าขึ้นหลายเท่าตัว
“ประหารเปาเหมี่ยน” ว่าด้วยคดีที่ท่านเปาต้องตัดสินลงโทษเปาเหมี่ยน-ข้าราชการขี้ฉ้อ ซึ่งเป็นลูกคนเดียวของแม่สะใภ้ที่มีบุญคุณหนักหนาต่อท่านเปา
อันที่จริงเปาบุ้นจิ้นไม่ได้หน้าตาอัปลักษณ์แต่อย่างใด และถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดแท้ๆ แม้ชีวิตจะไม่ได้อู้ฟู่ แถมออกแนวขัดสนเสียมากกว่า แต่ครอบครัวที่เลี้ยงดูและเอาใจใส่ให้การศึกษาท่านเปาจนมาเป็นขุนนางคุณภาพคับแก้วคู่ประวัติศาสตร์จีน
แต่ที่มาของเรื่องนี้นี้ก็มีเค้าโครงเรื่องจริงอยู่ เพียงแต่ตัวละครหลักเปลี่ยนไปเป็นรุ่นลูกเปาบุ้นจิ้นแทน
เปาบุ้นจิ้นมีภรรยาชื่อนางต่ง (จีนโบราณมักไม่บันทึกชื่อของสตรีในประวัติศาสตร์ แต่เรียกแซ่แทน ในที่นี้จึงหมายถึงนางแซ่ต่ง) มีลูกชายด้วยกันชื่อเปาอี้ เปาอี้เป็นลูกชายคนเดียวของท่านเปา เปาอี้มีภรรยาชื่อนางชุย ทั้งหมดดูเป็นครอบครัวอบอุ่นที่มีชีวิตปกติสุขดี
แต่ท่านเปาในฐานะหัวหน้าครอบครัวต้องพบกับความโศกเศร้าเสียใจอย่างยิ่ง เมื่อเปาอี้แต่งงานได้แค่สองปี เปาอี้ก็มาป่วยตายไปเสีย
ทั้งบ้านโศกเศร้าเสียใจ ไม่เว้นแม้แต่นางชุย-ม่ายสาวภรรยาของเปาอี้
ท่ามกลางความเสียใจนั้น ท่านเปาและนางต่งเห็นว่านางชุยอายุยังน้อย อยากให้นางได้กลับบ้านเดิมและแต่งงานใหม่ จะได้มีชีวิตที่ดีต่อไป ไม่ต้องมาติดอยู่กับชีวิตที่เดียวดายน่าเศร้าตั้งแต่สาว (ช่วงสมัยต้นราชวงศ์ซ่ง ไม่ค่อยเคร่งครัดเรื่องสตรีต้องแต่งงานครั้งเดียวนัก การแต่งงานใหม่ของม่ายสาวถือเป็นเรื่องปกติ ต่อมาภายหลังมาจึงค่อยมีแนวคิดผู้หญิงที่ดีต้องไม่แต่งงานใหม่เข้มข้นมากขึ้น)
ทางบ้านเดิมของนางชุยก็เห็นดีเห็นงาม เร่งรัดให้นางชุยกลับบ้าน ท่านเปาและนางต่งจึงพยายามจัดแจงให้นางชุยกลับบ้านไป แต่นางชุยไม่ยินยอม นางชุยยืนนิ่งอยู่หน้าประตูบ้านท่านเปา และเหมือนฟ้าฝนจะจงใจสร้างบรรยากาศ ฝนตกลงมาห่าใหญ่ นางชุยยืนร้องไห้กลางสายฝน บอกกับท่านเปาและภรรยาว่าตนสัญญากับเปาอี้ผู้เป็นสามีไว้ว่า จะคอยดูแลท่านเปาและนางต่งยามแก่เฒ่าประหนึ่งพ่อแม่ตนเอง ดังนั้นขออย่าขับไล่นางไป และโปรดถือนางเป็นเสมือนลูกสาวแท้ๆ คนหนึ่ง
ท่านเปาและนางต่งต่างซาบซึ้งสะเทือนใจ ยินยอมรับนางชุยกลับเข้าบ้าน และรับนางชุยเป็นเสมือนลูกสาวแท้ๆ
แต่แล้วก็เกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นอีก หนูเปาเหวินฝู่-ลูกชายเปาอี้ที่เกิดกับนางชุยมีอันป่วยตายไปเมื่ออายุได้แค่ 5 ขวบ เปาบุ้นจิ้นในวัยชรา จึงไร้ซึ่งทายาทนับแต่บัดนั้น
อันที่จริงเปาบุ้นจิ้นยังมีภรรยารองอีกคนชื่อนางซุน (หลายคนอาจตกใจว่าขุนนางผู้รักความยุติธรรมอย่างเปาบุ้นจิ้นไม่ควรจะมีกิ๊ก แต่ขอให้เข้าใจว่า นั่นเป็นเรื่องวัฒนธรรมยุคโบราณ เรื่องแบบนี้ในมาตรฐานคนยุคนั้นเป็นเรื่องปกติ)
เมื่อเปาบุ้นจิ้นอายุ 50 ปลายๆ ไม่รู้ว่าท่านเปามีเรื่องอะไรไม่ถูกใจนางซุนผู้เป็นภรรยารอง ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ร้ายแรงทีเดียว ท่านเปาถึงกับขับนางซุนออกจากบ้านเสีย
นางชุยลูกสะใภ้เกิดความรู้สึกเห็นใจนางซุน เมื่อนางซุนถูกขับออกจากบ้านไปแล้ว นางชุยก็ยังคงส่งข้าวส่งทรัพย์ไปให้นางซุนอยู่เนืองๆ โดยไม่ให้ท่านเปาและนางต่งรู้ ต่อมานางชุยจึงรู้ว่า ก่อนหน้านางซุนถูกขับออกจากบ้าน นางซุนได้ตั้งท้องอ่อนๆ กับท่านเปา (เสียงปี๊บดัง “ผ่าง!!!”)
ภายหลังนางซุนคลอดลูกออกมาเป็นเด็กผู้ชาย นางชุยปรึกษากับนางซุนขอเอาเด็กน้อยกลับไปบ้านตระกูลเปา นางซุนก็ยินดี ตัวนางชุยจึงคอยดูแลเลี้ยงดูเปาน้อย โดยที่ท่านเปาและนางต่งยังไม่รู้เรื่อง
รอจนวันแซยิด วันแห่งความปีติยินดีที่น่าเศร้าของท่านเปา ท่านเปาอายุยืนก็น่ายินดีอยู่ แต่ชีวิตนี้กลับไร้ทายาทสืบสานวงศ์ตระกูล แล้วจู่ๆ นางชุยก็อุ้มเด็กทารกอายุขวบกว่าเข้ามาแสดงความยินดีกับท่านเปา และเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง
ท่านเปายินดีอย่างยิ่ง ในที่สุดท่านเปาก็มีทายาทสืบวงศ์สกุลแล้ว ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ท่านเปาเสียชีวิตที่เมืองไคเฟิง นางชุยยังคอยดูแลหนูน้อยเปาโซ่ว-ลูกชายท่านเปา นางชุยพาเปาโซ่วกลับบ้านเดิมของท่านเปา ดูแลเรื่องการศึกษาของเปาโซ่วเป็นอย่างดี
ไม่กี่ปีถัดมา นางต่ง-ภรรยาท่านเปาก็เสียชีวิตไปอีก นางชุยจึงเป็นคนคอยจัดการดูแลทุกเรื่องในบ้านตระกูลเปา นางชุยดูแลเปาโซ่วอย่างดี เสาะหาอาจารย์มาสอนสั่ง จนเปาโซ่วเติบใหญ่เป็นฝั่งเป็นฝา เมื่อถึงเวลานั้น นางชุยจึงกลับไปเมืองไคเฟิงเพื่อค้นหาตัวนางซุน-แม่แท้ๆ ของเปาโซ่ว เมื่อหาเจอแล้วก็รับตัวนางซุนมาที่บ้านตระกูลเปา ให้แม่ลูกที่แท้จริงได้อยู่ร่วมกัน
เรื่องราวของนางชุยเป็นที่ประทับใจของผู้คน ฮ่องเต้ซ่งเจ๋อจง ทรงพระราชทานคำเชิดชูให้แก่นางชุย เนื้อหาชื่นชมว่าแม้จะเป็นแค่สะใภ้ตระกูลเปา แต่จิตใจประหนึ่งแม่แท้ๆ ของเปาโซ่ว
ภายหลังเปาโซ่วได้เป็นขุนนาง และก็สมกับเป็นทายาทท่านเปา เปาโซ่วดูแลประชาชนเป็นอย่างดี ชาวบ้านรักใคร่เปาโซ่วไม่ต่างกับเปาบุ้นจิ้น นี่จึงอาจจะเป็นที่มาของการนำประวัติของนางชุยและเปาโซ่ว เข้ามาขมวดรวมปนเปไว้กับตัวเปาบุ้นจิ้นในนิยาย
นางชุย คือสตรีผู้รักษาเลือดเนื้อทายาทตระกูลเปา หากปราศจากนางชุย เลือดเนื้อท่านเปาก็ไม่รู้จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร
ในอีกมุมหนึ่ง ความดีของนางอยู่ที่ความเมตตาอย่างเต็มเปี่ยมที่เชื่อมโยงและประสานความเป็นครอบครัวเอาไว้ บทบาทนี้อาจไม่ใช่บทบาทที่โด่งดังได้ง่ายในหน้าประวัติศาสตร์ ต่างจากสตรีโด่งดังทั้งหลายที่อาจหาญลุกขึ้นมาท้าทายขีดจำกัดของเพศสภาพตัวเองในสังคมชายเป็นใหญ่ แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า บทบาทแบบนางชุยนี้แหละ คือหนึ่งในบทบาทสำคัญที่ขับเคลื่อนครอบครัวและประวัติศาสตร์มนุษย์ ไม่ว่าในอารยธรรมใด
เรื่องราวนี้ยังทำให้เราเห็นวิถีชีวิตของสตรีอีกหลายคนที่รายล้อมนางชุย สตรีในยุคก่อนที่เราจะมีเพียงโอกาสได้รู้จักแต่เพียงแซ่ของพวกนางเท่านั้น
ตลอดมาในทุกอารยธรรม สตรีย่อมมีจำนวนไม่มากไม่น้อยไปกว่าบุรุษ และพวกเธอย่อมเป็นผู้ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงอารยธรรมโลกไม่ต่างจากฝ่ายชาย น่าเสียดายที่ว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามักละเลยพวกเธอไป ด้วยแนวคิดและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ไม่เช่นนั้นแล้ว เราคงได้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ที่เว้นว่างไปได้อีกไม่น้อย