รัฐจัดระเบียบจราจร บริษัทประกันได้ประโยชน์
ปี 2560 รัฐบาลเริ่มเข้มงวดกับ “ระบบจัดการและการบังคับใช้กฎหมายจราจร” กับรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะ
โดย...วารุณี อินวันนา
ปี 2560 รัฐบาลเริ่มเข้มงวดกับ “ระบบจัดการและการบังคับใช้กฎหมายจราจร” กับรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะ หัวใจหลักเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน ดูแลชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนคนไทย ผลพลอยได้ตกมาที่บริษัทประกันภัยทั้งทางตรงและทางอ้อม ในฐานะที่รัฐบาลดึงเข้าไปเป็นผู้เยียวยาหลังเกิดอุบัติเหตุ
ที่ผ่านมาไทยถูกประเมินโดยสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ในประเทศ “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2554-2563” ที่ประเทศสมาชิกเข้าร่วมลงนาม ที่จะร่วมกันลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่งให้ได้ภายในปี 2563 ที่ยังห่างไกลเป้าหมาย
ล่าสุด ไทยติดอันดับ 2 ของโลกที่มีผู้เสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุด โดยปี 2558 มีจำนวน 24,237 คน รองจากลิเบีย อัตราการตาย 36.2 คน/ประชากร 1 แสนคน จากปี 2554 ที่มีอัตราการตาย 38 คน สูงกว่าอัตราการตายเฉลี่ยทั่วโลกถึง 2 เท่า สาเหตุอันดับ 1 มาจากการขับเร็วเกินกำหนด รองลงมาคือการขับขี่ขณะมึนเมา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล
แม้ไทยจะมีกฎหมายให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย ห้ามเมาแล้วขับ ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ต้องจัดที่นั่งสำหรับเด็กในรถยนต์ แต่ยังมีการละเมิดและเจ้าหน้าที่ไม่มีการลงโทษอย่างจริงจัง
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ประกาศควบคุมกำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะ เพื่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทยน้อยที่สุด การควบคุมเริ่มตั้งแต่การให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งสาธารณะ ต้องทำสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ การตรวจสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถ ใบกำกับสินค้าที่ทำการขนส่ง รายงานการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง
นอกจากนี้ ยังให้อำนาจกรมการขนส่งทางบกเพิกถอนการจดทะเบียนรถ ระงับการใช้รถ หรือพักใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ไม่เกิน 6 เดือน หากรถที่ให้บริการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง จากการที่ผู้ขับขี่ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ขับรถเกินชั่วโมงการทำงานที่กฎหมายกำหนด ขับรถโดยประมาท ขับรถขณะร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ มีการนำรถไปใช้ในทางผิดกฎหมาย เช่น เกี่ยวกับยาเสพติด
ให้โทษ การหลีกเลี่ยงภาษี บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง ทอดทิ้งผู้โดยสาร เก็บค่าโดยสารเกิน
ในคำสั่งยังให้กรมการขนส่งทางบกมีอำนาจบังคับให้ผู้บริการระบบติดตามรถต้องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถตลอดเวลา การควบคุมการติดตั้งถังบรรจุก๊าซธรรมชาติ การดูแลระบบความปลอดภัยของรถ เช่น ต้องให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสาร กำหนดจำนวนที่นั่ง และหากใครที่ได้รับใบสั่งปรับจากการผิดกฎจราจร ถ้ายังไม่จ่ายค่าปรับจะไม่สามารถต่อทะเบียนรถยนต์ได้
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกมาตรการเยียวยาหลังเกิดอุบัติเหตุ ด้วยการให้รถโดยสารสาธารณะ รถยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ต้องทำประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารและบุคคลภายนอก หรือ ประกันภัยภาคสมัครใจ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่กฎหมายบังคับให้ทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือประกันภัยภาคบังคับ
ขณะเดียวกัน ก็มีกฎหมายควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบว่าเพิกเฉย งดเว้น แสวงหาประโยชน์จากการเรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์ จะมีโทษทั้งทางแพ่ง อาญา และทางปกครองจากมาตรการข้างต้น ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ผลประโยชน์ทางตรงที่บริษัทประกันได้รับ คือการบังคับให้รถสาธารณะ และรถยนต์ ต้องทำประกันภัยคุ้มครองบุคคลที่ 3 หรือประกันภัยภาคสมัครใจ เพื่อให้ผู้ได้รับอุบัติเหตุจากรถได้รับความคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินสูงขึ้น นอกเหนือจากประกันภัย พ.ร.บ.ที่ได้รับความคุ้มครองชีวิต3 แสนบาท และค่ารักษาสูงสุดไม่เกิน 8 หมื่นบาท
แม้ว่ากฎหมายไม่ระบุชัดวงเงินความคุ้มครองบุคคลที่ 3 ตามประกันภาคสมัครใจอยู่ที่เท่าไหร่ แต่จะทำให้บริษัทประกันภัยทำยอดขายได้สูงขึ้นอย่างมาก เพราะจากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ปี 2559 ที่ผ่านมามีรถทำประกันภัยทั้งสิ้น 38 ล้านคัน มีประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 8.6 ล้านคันเท่านั้น แต่มีปริมาณเบี้ยประกันมากถึง 1 แสนล้านบาท จากเบี้ยประกันภัยรถยนต์ทั้งหมด 1.2 แสนล้านบาท ประกาศของ คสช.จึงทำให้ประโยชน์ตกที่บริษัทประกันภัยโดยตรง
ด้านผลประโยชน์ในทางอ้อม จากการเข้มงวดจากการจัดระเบียบจราจร การติดกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือซีซีทีวี การที่ปีนี้ คปภ.ออกประกาศปรับเงื่อนไขกรมธรรม์ไม่คุ้มครองผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายจราจร จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้การต้องชดใช้ความเสียหายจากประกันภัย พ.ร.บ. และประกันภาคสมัครใจ ลดลงไปด้วย เงินที่เหลือในกระเป๋าของบริษัทประกันภัยจะสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้อุบัติเหตุจะลดลง แต่จะไม่ทำให้เบี้ยประกันภัยรถยนต์ถูกลงในทันที เพราะวันนี้บริษัทประกันวินาศภัยมีการแข่งขันลดเบี้ยประกันภัยภาคสมัครใจอยู่ในระดับรุนแรง เพื่อให้ได้ขนาดของธุรกิจที่คุ้มกับต้นทุนการทำงาน จากข้อมูลปี 2559 ที่ผ่านมา ทั้งระบบมีรถที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจ 8.6 ล้านคัน เบี้ยประกันภัยรวม1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.41% เท่านั้น มีค่าสินไหมทดแทน 6.8 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่านายหน้า ซึ่งทางผู้บริหารบริษัทประกันวินาศภัยระบุว่าเหลือกำไรจากการรับประกันภัยเพียง 1-2% และกำไรส่วนใหญ่มาจากการนำเงินสำรองไปลงทุนเป็นหลัก
นอกจากนี้ บริษัทประกันวินาศภัยต้องลดเบี้ยประกันภัย 5-10% เพิ่มเติมให้กับเจ้าของรถที่มีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามประกาศของ คปภ. จะทำให้รายได้จากเบี้ยประกันภัยลดลงอีก ซึ่งต้องดูว่า ด้วยรายได้ที่ลดลงจากการให้ส่วนลดเบี้ยประกัน กับ เบี้ยประกันภัยคุ้มครองบุคคลที่ 3 ที่จะขายได้เพิ่มในปีนี้จะสามารถชดเชยเบี้ยที่หายไปจากการให้ส่วนลดได้หรือไม่ หรือจะมากกว่า ซึ่งจะเห็นผลในช่วงปลายปี
ที่แน่ๆ ขณะนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทยร่วมกับสำนักงานอัตราเบี้ยประกันภัย ได้ร่วมกันจัดทำข้อมูลสถิติรถแต่ละรุ่น อายุ เพศ เพื่อดูความเสียหาย จะได้ทำการปรับราคาเบี้ยประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยง รวมทั้งยังวางระบบที่จะทำการตรวจสอบการทุจริต หรือการเคลมที่ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่มีอยู่ประมาณ 5-10% ของสินไหมทั้งระบบให้เหลือน้อยที่สุด ย่อมนำมาซึ่งระยะเวลาของการเรียกร้องสินไหมทดแทนที่อาจจะนานขึ้น และกรณีการหยวนๆ เหมือนที่ผ่านมาอาจจะไม่มี
นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน เพื่อให้ต้นทุนในการทำงานเหลือน้อยที่สุดในยุคที่ต้นทุนการทำธุรกิจสูง การแข่งขันลดเบี้ยที่รุนแรง
ฉะนั้น ในปีนี้เบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจคงจะไม่มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่จะมีผลในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หลังจากภาคธุรกิจมีการประเมินความเสียหายในสิ้นปี 2560 นี้ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อลดต้นทุนในการทำงาน แต่ที่จะได้ในทันทีคือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนไทย