เมืองอัจฉริยะ (1) สืบตำนาน Smart City
เมื่อพูดถึงเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาประเทศในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0
โดย...ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย [email protected]
เมื่อพูดถึงเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาประเทศในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 และการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อาจจะงุนงงสงสัยได้ ว่ามันจะอัจฉริยะกันขนาดไหน อย่างไร...คิดง่ายๆ ได้ว่าองค์ประกอบที่สร้างขึ้นเป็นสภาพแวดล้อมของเมืองที่อยู่อาศัย คงจะต้องทำให้เมืองฉลาดกว่าของเดิมและคนที่อยู่ในเมืองจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นแน่แท้...แม้อาจจะไม่เท่ากับอานุภาพของแก้วสารพัดนึกที่เสกของต้องประสงค์ได้ดังใจ!
อาจารย์ Mark Vallianatos นักวิชาการจาก Occidental College ในลอสแองเจลิส นำเสนอตำนานการเกิดเมืองอัจฉริยะจากข้อมูลการค้นคว้าของเขาว่า “ที่จริงเมืองอัจฉริยะน่ะ ไม่ใช่ของใหม่อะไร แต่เกิดขึ้นมาจะ 60 ปีแล้ว” ในปลายช่วงทศวรรษ 1960s ที่เมืองลอสแองเจลิสโน่นล่ะ โดยมีหน่วยงานที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก ชื่อว่า “สำนักงานวิเคราะห์ชุมชน” เป็นผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในการเก็บข้อมูลประชากรและคุณภาพของบ้านเรือน แล้วเอาข้อมูลมาวิเคราะห์จนสามารถทำแผนผังเมือง แยกแยะชุมชนที่มีฐานะดีกับชุมชนยากจนได้ ในที่สุดก็เลยสามารถช่วยเหลือชุมชนที่ยากจนจริงๆ ได้ถูกที่ถูกคน...
นับว่า อาจารย์ Mark นำเสนอได้อย่างมีเหตุผลโดยดูผลผลิตของกิจกรรมของสำนักงานวิเคราะห์ชุมชนแห่งนั้น ที่ทำให้เกิดผลดีต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในเมือง....ลอสแองเจลิสอาจเป็น “ตำนานกำเนิดเมืองอัจฉริยะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยี” ได้ แต่ยังคงห่างไกลจากคำจำกัดความของ “เมืองอัจฉริยะ” ในปัจจุบัน...
การศึกษาเรื่องเมืองอัจฉริยะเริ่มจริงจังกันในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมาในแง่ของการพัฒนาโครงสร้างของเมือง และการมาของอินเทอร์เน็ตทำให้เมืองอัจฉริยะกระโดดข้ามขั้นไปอย่างรวดเร็วมาก “อินเทอร์เน็ตและชีวิตวิถีดิจิทัล” กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมืองขึ้นเป็นเมืองอัจฉริยะ... แม้โลกนี้ได้เกิดเมืองอัจฉริยะตามหลักเกณฑ์ที่ยอมรับกันทั่วไปขึ้นมากมายแล้ว ทว่า ขีดจำกัดของคำว่าเมืองอัจฉริยะยังไม่ได้ถูกกำหนด มีแต่จะขยายความคิดกันไปแล้วแต่จินตนาการของใครจะต่อยอดให้ขอบเขตของเทคโนโลยีขยายออกไปไกลกว่าเดิมได้มากน้อยแค่ไหน
คำว่า “เมืองอัจฉริยะ” ในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นแค่การสร้างเมืองที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีการใช้ Big Data หรือข้อมูลขนาดอภิมหามหึมาที่มีความหลากหลายมาวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาต่างๆ หรือมีการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสูงด้านต่างๆ เท่านั้น... “แต่เมืองอัจฉริยะต้องทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่สูงสุดภายใต้การจัดการทรัพยากรอย่างชาญฉลาด” ผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองควรจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองอัจฉริยะในฐานะที่เป็นทั้งผู้ใช้เทคโนโลยีและผู้อยู่อาศัยในเมืองร่วมกันเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของเมืองด้วย
อธิบายให้ง่ายขึ้นด้วย โมเดลเมืองอัจฉริยะ “Smart Cities Wheel” ของ Boyd Cohen ค่ะ เขาเป็นนักยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน และได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องเมืองอัจฉริยะจากของจริงและผลงานของนักวิชาการอื่นๆ จนได้โมเดลนี้มา และนำไปทดลองใช้ในการประเมินเมืองอัจฉริยะจริงแล้ว “Smart Cities Wheel” มีองค์ประกอบ 6 ด้าน ได้แก่ Smart people Smart government Smart economy Smart environment Smart mobility และ Smart living แต่ละด้านต้องฉลาดล้ำ และยังแตกตัวชี้วัดไปอีก 18 ด้าน เช่น ตัวชี้วัดของ Smart government ได้แก่ ความโปร่งใสในการบริหารงาน การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ และการใช้อุปสงค์อุปทานอันเป็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในการวางนโยบายรัฐ จึงทำให้กรุงโซลได้เป็น Smart City อันดับ 1 ของโลกในโมเดลนี้ไปในปี 2013 ...
ทั้งนี้ เขาบอกว่า ตัวชี้วัดมีเป็นร้อย โมเดลมีหลากหลาย แต่ทุกวิธีการควรจะต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมือง ที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนและทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเจริญเติบโตได้... เมืองอัจฉริยะจึงเป็นเทรนด์ใหม่ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสนใจที่จะไปสร้างให้เกิดขึ้นในประเทศของตนบ้าง ทั้งนักคิดนักทำจากภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาจึงต้องระดมสมองใส่ความคิดกันลงมา... การขยายตัวของเมืองอัจฉริยะจึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจของประเทศที่มีเทคโนโลยีมากกว่าต้องเดินเกมกันอย่างเข้มข้น เช่น เดนมาร์กได้เข้าไปจัดตั้งศูนย์ Innovation Centre Denmark ในเมืองใหญ่ของ 6 ประเทศที่เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยี ได้แก่ ซิลิคอน วัลเลย์ (สหรัฐ) เซี่ยงไฮ้ (จีน) มิวนิก (เยอรมนี) Sao Paolo (บราซิล) New Delhi (อินเดีย) และกรุงโซล (เกาหลีใต้) เพื่อ “รู้เขารู้เรา” คือ ลงไปศึกษาแนวทางและนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด....อนึ่ง โคเปนเฮเกน เมืองหลวงเดนมาร์กถือ Smart City ตัวพ่อของโลก ได้คะแนนสูงสุดด้านการวางแผนชุมชนเมือง (Urban Planning) และอันดับ 3 ด้านการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของสังคม (Social Cohesion) (จัดอันดับตาม IESE Cities in Motion index-ICMI 2016)
ส่วนกรุงโซล ซึ่งใช้เทคโนโลยีควบคุมการจราจรจนสามารถรู้ได้ว่าอีกกี่นาทีรถเมล์จะมาถึง เป็นเมืองที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก จะเปิดระบบ 5G ภายในปี 2563 มีจุดบริการไว-ไฟฟรีกว่าหมื่นแห่ง และแจกสมาร์ทโฟนมือสองให้คนชรา คนพิการ และผู้มีรายได้น้อยไว้ใช้เชื่อมต่อถึงกันจึงได้เป็นอันดับหนึ่งของโลกด้านการขนส่งสาธารณะ และอันดับ 2 ด้านการใช้เทคโนโลยีเคลื่อนที่ ของ ICMI 2016