posttoday

‘นกทุเรียน’ จากไซบีเรีย

09 เมษายน 2560

เห็นกระแสหน้ากากอีกา หน้ากากทุเรียน ผมได้ไอเดียที่จะเอาภาพและเรื่องของอีกามาให้ดูกัน ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทุเรียนล่ะ?

โดย...ปริญญา ผดุงถิ่น

เห็นกระแสหน้ากากอีกา หน้ากากทุเรียน ผมได้ไอเดียที่จะเอาภาพและเรื่องของอีกามาให้ดูกัน ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทุเรียนล่ะ? จู่ๆ คอลัมน์สิงสาราสัตว์ จะสาธยายเกี่ยวกับทุเรียนพันธุ์ต่างๆ มันไม่น่าจะใช่แต่แล้ว ผมก็นึกได้ว่า จริงๆ ในวงการดูนก เรามีนกที่เรียกชื่อกันเล่นๆ ว่า “ทุเรียน” ด้วย เพราะฉะนั้น มารู้จักนกทุเรียนตัวนี้กัน แล้วสัปดาห์หน้า ค่อยเป็นทีของอีกานกทุเรียนที่ว่า มีชื่อจริงว่า นกเขนท้องแดง (Daurian Redstart) ดูชื่ออังกฤษที่น่าจะออกเสียงว่า “ดอ-เรียน” นั่นแหละ บางทีนักดูนกก็เรียกกันเล่นๆ เพี้ยนเป็น “ทุเรียน” ซะงั้นทั้งนี้ ผมลองกูเกิลคำ Daurian นี้ เพื่อจะหาว่ามันออกเสียงอย่างไรกันแน่ สิ่งที่ผมได้รับจากกูเกิลก็คือความฉลาดเกินของมัน คอยแต่เด้งไปที่คำว่า Durian อันหมายถึง ทุเรียน แบบอัตโนมัติตลอด รำคาญฉิบ แหะๆอย่างไรก็ตาม ผมไปเจอข้อมูลของนกชนิดนี้ที่ผมเขียนลงหนังสือพิมพ์ไว้ตั้งแต่ปี 2553 ชื่อเรื่อง “นกเขนท้องแดง นกสวยจากไซบีเรีย” ขอตัดบางส่วนมาให้อ่านกันตรงนี้ซะเลย (ก็ผมค้นคว้าและเขียนไว้ดีอยู่แล้ว เปล่าขี้เกียจ 555)“นกที่จะแนะนำให้รู้จักกันวันนี้ เป็นตัวจริงเสียงจริงที่มาจากไซบีเรีย ชื่อว่า นกเขนท้องแดง (Daurian Redstart) พบครั้งแรกในโลกที่เมือง Dauria แถวไซบีเรีย ยิ่งตอกย้ำ เลือดไซบีเรีย ส่วนคำว่า Redstart อธิบายเพิ่มเติมนิดนึง เป็นศัพท์แสงวงการปักษี หมายถึง หางแดงก่อนจะมาเจอที่ดอยอินทนนท์ ผมไปจ๊ะเอ๋มันครั้งแรกในชีวิต แบบไม่ทันตั้งตัว โน่น...ที่ญี่ปุ่น ระหว่างกำลังตื่นตาตื่นใจกับเมืองฮอลแลนด์ ที่เขายกมาสร้างอย่างอลังการบนเกาะกิวชิว ชื่อว่า Huis Ten Bosch (อ่านว่า เฮาส์เตนบอช) จังหวะเดินผ่านพุ่มสนเตี้ย ยอดสูงกว่าหัวนิดเดียว ผมก็เห็นด้วยตาเปล่าในระยะกระชั้นชิด Daurian Redstart อยู่จ่อๆ แทบเอื้อมมือถึง ได้แต่ไชโยโห่ฮิ้วในใจ เพราะที่ไปนั้น ไม่ได้ไปดูนก กลัวถูกเพื่อนร่วมคณะเดินทางหาว่าเสียจริต

ประสบการณ์นั้น ตรงกับข้อมูลที่ปรากฏในวิกิพีเดีย ที่ระบุว่า มักพบนกนี้ตามสวนในเมือง และนิสัยก็มักจะยอมให้คนเข้าใกล้มากๆ ก่อนจะตัดสินใจฉากหนี

ตัวผู้ของนกเขนท้องแดง จัดเป็นนกสีสวยโดนใจนักดูนก สถานภาพในโลก ถือเป็นนกค่อนข้างหาง่ายในเอเชียตะวันออก พอถึงหน้าหนาว โปรแกรมธรรมชาติสั่งการให้พวกมันพากันอพยพโดยพร้อมเพรียง พูดง่ายๆ มันเป็นนกอพยพตัวฉกาจ ลงมาแถวเกาหลี ญี่ปุ่น ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ไต้หวัน โดยอีกพวกจะไปทางอินเดีย และมาถึงไทย เฉพาะดอยทางภาคเหนือแค่นั้นจากนกค่อนข้างหาง่ายที่ไซบีเรีย พอมาถึงเมืองไทย ก็เปลี่ยนสถานภาพเป็นค่อนข้างหายาก”