posttoday

เบรกใช้ม.44 ขยายอายุสิทธิบัตรยายาว 31 ปี

10 เมษายน 2560

เอฟทีเอ ว็อทช์ เบรก คสช.ใช้มาตรา 44 เร่งออกสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางยา หวั่นผูกขาดตลาดและทำให้ยามีราคาแพงมาก

เอฟทีเอ ว็อทช์ เบรก คสช.ใช้มาตรา 44 เร่งออกสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางยา หวั่นผูกขาดตลาดและทำให้ยามีราคาแพงมาก

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ เปิดเผยว่า ภายหลังรัฐบาลสหรัฐสั่งตรวจสอบการขาดดุลของประเทศไทยใน 3 เรื่อง คือ การแทรกแซงค่าเงินบาท การจัดซื้ออาวุธที่ซื้อจีน-รัสเซียจำนวนมาก และเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรณีประเด็นค่าเงินบาทนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาชี้แจงอย่างแข็งขันแล้วว่าไทยไม่มีการแทรกแซง เรื่องการจัดซื้ออาวุธไม่มีคำอธิบายใดๆ จากรัฐบาลและฝ่ายกองทัพ

สำหรับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญหา เหตุใดกระทรวงพาณิชย์ไม่ยอมชี้แจงการดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการปราบปราม แต่กลับเบะท่าพร้อมปล่อยผีสิทธิบัตร ในจำนวนคำขอที่ค้างเกิน 5 ปี กว่า 3,000 ฉบับเป็นสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับยา ซึ่งบริษัทยาข้ามชาติใช้แทคติกการยืดเวลาถ่วงการยื่นขอตรวจสอบไว้เกือบ 5 ปี เพื่อถ่วงเวลาการตรวจสอบไม่ให่ถูกปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรโดยเร็ว และยังฉวยโอกาสความอึมครึมที่ได้รับความคุ้มครองดังกล่าวนับตั้งแต่วันยื่นขอฯ ไปข่มขู่บริษัทยาชื่อสามัญต่างๆ ไม่ให้ผลิต

ทั้งนี้ จากงานวิจัยพบว่า จากคำขอสิทธิบัตรทางยา ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคำขอจากต่างประเทศ มีมากถึงร้อยละ 84 มีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการประดิษฐ์เพียงเล็กน้อย แล้วนำมายื่นขอรับสิทธิบัตรเป็นฉบับใหม่ เพื่อขยายเวลาของการคุ้มครองออกไป อาทิ Metformin ซึ่งเป็นยาเก่าที่มีการใช้มานานกว่า 90 ปี มีคำขอรับสิทธิบัตรมากถึง 13 ฉบับ ทำให้ขยายอายุสิทธิบัตรยามากถึง 29 ปี  Sofosbuvir ยารักษาไวรัสตับอักเสบซีมีคำขอมากถึง 13 ฉบับ ซึ่งที่อินเดียและอียิปต์ปฏิเสธคำขอนี้ไปแล้ว หากกระทรวงพาณิชย์นำมาตรา44 มาช่วยปล่อยผี จะทำให้ขยายอายุสิทธิบัตรยามากถึง 31 ปี

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า การเร่งออกสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางยา ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์เตรียมจะใช้มาตรา 44 จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาดยาและทำให้ยามีราคาแพงมาก ซึ่งย่อมก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณด้านสาธารณสุข สวนทางกับนโยบายการควบคุมงบประมาณด้านสาธารณสุขของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอง ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่แสดงให้เห็นว่ายาที่มีสิทธิบัตรมีราคาสูงกว่ายาชื่อสามัญมากถึง 3-10 เท่า ในบางรายการยามีราคาสูงกว่าถึง 25 เท่า เช่น ยา Clopidogrel เป็นต้น ดังนั้นแม้อาจจะมีมาตรการออกมาแก้ไขในภายหลังก็ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หนำซ้ำยังจะเป็นการซ้ำเติมปัญหางบประมาณด้านสาธารณสุขที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันให้หนักขึ้นอีก

นอกจากนี้ การเร่งออกสิทธิบัตรอาจส่งผลให้กลไกการตรวจสอบและคัดค้านคำขอฯ ที่ไม่มีคุณภาพไม่สามารถทำงานได้ นั่นหมายถึงการคัดค้านคำขอฯ ก่อนได้รับสิทธิบัตร  ซึ่งในกระบวนการปัจจุบันก็มีปัญหาในการติดตามสืบค้นเพื่อยื่นคำคัดค้านให้ทันภายใน 90 วันนับจากวันประกาศโฆษณา จนมีผลทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ รัฐต้องสูญเสียงบประมาณและประชาชนไม่ได้รับการรักษาหรือเสียเงินจ่ายค่ายาเอง เพราะยามีสิทธิบัตรแบบที่ไม่สมควรจะได้และราคาแพงจนไม่สามารถรวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศได้ ตามข้อมูลมูลค่าความเสียหายที่ปรากฎอยู่ในงานวิจัยซึ่งเป็นผลมาจากการพิจารณาที่ไม่มีประสิทธิภาพพอ

อย่างไรก็ดี การจะออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตรและการที่จะออกคำสั่งฯ เพิ่มเติมเพื่อแก้ไขยาราคาแพงจากการเร่งออกสิทธิบัตร เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ขาดการมองในเชิงระบบ และเป็นการแก้ไขปัญหาหนึ่งแต่สร้างอีกปัญหาหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงกว่า ดังนั้นองค์กรภาคประชาสังคมจึงขอให้ คสช.ระงับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาการออกสิทธิบัตรล่าช้า และให้มีการแยกคำขอสิทธิบัตรทางยากว่า 3,000 ฉบับ ออกมาจากกระบวนการดังกล่าว ซึ่งในวันที่ 11 เม.ย.นี้ ทางเอฟทีเอ ว็อทช์และเครือข่ายฯ จะไปยื่นหนังสือคัดค้านที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์