ยุคของสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)

10 เมษายน 2560

ระบบการชำระเงินของโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

โดย...ศิริวิมล วิสุทธิ์ศักดิ์ชัย

ระบบการชำระเงินของโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน คือ การมุ่งไปใช้  e-Payment หรือบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสดกันมากขึ้น ทุกวันนี้เราสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของมันในชีวิตประจำวัน ไม่เฉพาะแค่ในกลุ่มของนักท่องเที่ยวเท่านั้น เพียงแค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารดังๆ ก็จะเห็นป้ายสีฟ้าๆ แปะอยู่ในหลายๆ สถานที่ นั่นคือป้ายของ Alipay นอกเหนือจาก Alipay แล้วก็ยังมีเจ้าอื่นๆ ที่ให้บริการในเรื่องนี้อีกเหมือนกัน อย่างเช่นกลุ่มที่ให้บริการ e-Money ในไทย ไม่ว่าจะเป็น m-Pay True Money และ Rabbit เป็นต้น

แต่ที่เน้น Alipay เนื่องจากว่าเราสามารถมองเห็นเทรนด์และการเปลี่ยนแปลงได้ชัดว่าปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน Alipay มันมีการขยายตัวขึ้นอย่างมาก ในปี 2016 มูลค่าของการทำธุรกรรมขยายตัว 710% เมื่อเทียบ และถ้าสังเกตก็จะเห็นว่า Alipay บุกเข้าไปในประเทศที่เป็น Top Destination ของนักท่องเที่ยวจีน ในบางประเทศนักท่องเที่ยวยังสามารถขอคืนภาษีได้ หากซื้อของกับบริษัทที่เข้าร่วม Tax Refund กับ Alipay ในจำนวนเงินตามที่เงื่อนไขกำหนด

นอกจากนี้แล้วยังมี Amazon Go Cashless Shopping Store ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปีก่อน และได้เสียงตอบรับจนเป็นที่ฮือฮามาก เนื่องจากว่าเป็นร้านสะดวกซื้อที่ไม่มีแคชเชียร์ เพียงแค่เข้าไปในร้าน หยิบของใส่ถุง แล้วเดินออกจากร้านได้เลย แล้วระบบจะหักเงินอัตโนมัติจากบัญชี Amazon ที่ลูกค้าได้เปิดบัญชีจ่ายเงินไว้

มันจึงนำไปสู่คำถามที่ว่า หากทุกคนเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้จ่ายผ่าน e-Payment และมีความเห็นว่าในอนาคตไม่จำเป็นที่จะต้องถือเงินสดไว้กับตัวอีกแล้ว มันหมายความว่าอย่างไร? ธุรกิจประเภทไหนจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบจากพฤติกรรมนี้?

ในที่นี้ขอตั้งสมมติฐานว่าระบบ e-Payment มีการเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างปลอดภัย โปร่งใส ยากต่อการโดนแฮ็ก และที่สำคัญคือ Smart Phone ไม่ได้มีการเสียหาย สูญหาย หรือแบตหมดระหว่างการใช้งาน เพื่อให้เกิดความง่ายต่อการคิดในลำดับถัดไป

ธุรกิจแรกที่นึกถึงก็คือ ธุรกิจค้าปลีก ปัจจุบันร้านสะดวกซื้อหลายเจ้าคงเจอปัญหาตอนที่ทำสรุปยอดเงินรายวันแล้วพบว่ามีเงินสดไม่ครบตามจำนวนยอดขายที่อยู่ในระบบ ซึ่งอาจจะเกิดจากการทอนเงินผิด หรือมีการแอบยักยอกจากพนักงานเกิดขึ้น ในอนาคตปัญหาส่วนนี้จะถูกแก้ไขให้หมดไปได้ นอกจากจะได้จำนวนเงินครบแล้ว ร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ยังสามารถทราบถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่เข้ามาซื้อของในร้านของตัวเอง และสามารถเห็นได้เลยว่าสินค้าตัวไหนขายดีในช่วงไหนอย่างไร โดยมีความไวในการรับรู้และวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น เรียกได้ว่ากลุ่มค้าปลีกได้รับผลในแง่ดีจากพฤติกรรมนี้

ธุรกิจที่สอง คือ กลุ่มธนาคาร สิ่งที่เห็นชัดอย่างหนึ่ง ก็คือว่ายอดเงินฝากที่ควรจะอยู่ในบัญชีของธนาคาร บางส่วนจะถูกแบ่งออกไปอยู่ในระบบของกลุ่ม e-Payment ยกตัวอย่างเช่น Tencent บริษัทไอทียักษ์จากจีนเจ้าของแอพ WeChat หลายคนอาจจะทราบแล้วว่า WeChat ไม่ได้เป็นแค่แอพสำหรับพูดคุยเท่านั้น แต่ยังมีฟังก์ชั่น WeChat Pay ซึ่งเป็น e-Payment ในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ ผ่านการสแกน QR Code หากมองดูกระแสเงินสดที่อยู่ในมือของ Tencent ก็จะรู้สึกตกใจมาก เพราะเขามีเงินสดในมือมากถึง 5.4 หมื่นล้านหยวน ดูแบบนี้แล้วก็เห็นสภาวะการแข่งขันของกลุ่มธนาคาร ที่นับวันมีแต่จะร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยเอง ในตอนนี้ก็เห็นบางธนาคารปรับตัวจับมือกับ Alipay ไปบ้างแล้ว

และสำคัญที่สุด กลุ่มที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ กลุ่มโทรคมนาคมแบบไร้สาย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการชำระเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ หากไม่มีอินเทอร์เน็ต สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้นนั้นก็คงจะสูญเปล่า แถมพ่วงด้วยการมาของยุค IoT (Internet of Things) ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้มองเห็นแนวโน้มความต้องการใช้บริการในธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น

อันที่จริงแล้ว ยังมีมุมมองอื่นๆ ให้คิดต่อได้อีกมากและในอีกหลายๆ กลุ่มธุรกิจ ซึ่งก็คงจะทิ้งท้ายไว้ให้ท่านผู้อ่านลองคิดและประเมินต่อดูว่า จะรับมือ จะปรับตัว หรือจะหาผลประโยชน์จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างไร 

Thailand Web Stat