รู้จัก!อุทยานจุฬาฯ 100 ปี สวนที่เติบโตไปพร้อมเมือง

13 เมษายน 2560

นับเป็นข่าวดีของคนกรุงเทพฯ ที่กำลังจะมีพื้นที่สาธารณะเพิ่ม หลังการเปิดตัว “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี”

โดย...กองทรัพย์ ภาพ กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร/Land Process

นับเป็นข่าวดีของคนกรุงเทพฯ ที่กำลังจะมีพื้นที่สาธารณะเพิ่ม หลังการเปิดตัว “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี” เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สวนสาธารณะกลางเมืองที่เกิดขึ้นเพื่อฉลองวาระที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ 100 ปี ใช้พื้นที่ 30 ไร่ บริเวณสวนหลวง-สามย่าน ซึ่งในแผนผังกำหนดไว้เป็นสวนสาธารณะ จัดประกวดออกแบบตั้งแต่ปี 2555 และผู้ที่ชนะการออกแบบคือ บริษัท Land Process ร่วมกับ N7A Architects ด้วยไอเดียที่อยากสร้างสวนสีเขียวที่ช่วยเมือง ทั้งในแง่การเป็นพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ เป็นสวนที่มีระบบการจัดการน้ำ เป็นสวนที่เติบโตไปพร้อมกับเมือง ตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาของเมืองในอนาคต

ในเช้าหลังวันฝนตกของหน้าร้อน แมลงปอบินหยอกเย้ากับดอกหญ้าในสวน ระบบนิเวศภายในสวนเริ่มทำงานไปพร้อมกับการเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในสวน เรานัดพบกับ กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกสาวแห่ง Land Process คนที่ร่วมหัวจมท้ายกับสวนแห่งนี้ตั้งแต่ยังเป็นสวนในกระดาษ

กชกร เล่าว่า จากโจทย์ที่ได้รับคือออกแบบสวนสาธารณะเพื่อเฉลิมฉลองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ 100 ปี สวนที่มีส่วนร่วมกับการสร้างเมืองอีก 100 ปีข้างหน้า เพราะต่อไปเมืองต้องเจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นความร้อน น้ำท่วม สิ่งที่ตามมาคือเมืองร้อน สิ่งเหล่านี้มาโดยที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งคนกรุงเทพฯ จะอยู่กับเมืองน้ำหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลงได้อย่างไร

รู้จัก!อุทยานจุฬาฯ 100 ปี สวนที่เติบโตไปพร้อมเมือง

“สวนนี้มีคอนเซ็ปต์ที่เชื่อมโยงกับน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นสวนเพื่อคนเดิน ลดอิทธิพลของรถ สร้างต้นไม้ ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นตอนการก่อสร้าง มีการพูดคุยถึงรายละเอียดและการออกแบบร่วม 4 ปี ทำให้งานนี้ละเมียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีคณะกรรมการระดับหัวหน้าภาควิชาหรือคณบดีที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบพื้นที่สวน ทั้งคณะวิทยาศาสตร์ พฤกษศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ นำระดับหัวกะทิมารวมกันเพื่อพัฒนาสวนนี้ให้ดีที่สุด เป็นผลงานของชาวจุฬาฯ เป็นการร่วมมือทุกภาคส่วนของชาวจุฬาฯ อย่างแท้จริง” กชกร เล่าถึงที่มาของสวนอย่างคร่าวๆ

สวนช่วยดูแลเมือง

“ทำไมอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ถึงเอียง?” เชื่อว่าหลายคนมีคำถามนี้ในใจ กชกร ในฐานะนักออกแบบย้ำแนวคิดเรื่องการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจของการออกแบบหลัก “สวนนี้เป็นเหมือนโอ่งที่เก็บน้ำได้ ต่อไปในอนาคตเราต้องกลับไปพึ่งน้ำฝน เรามีพื้นที่เราให้ความสำคัญกับน้ำฝน สวนนี้พยายามทำให้มีแก้มลิงในรูปแบบต่างๆ ให้เยอะที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแก้มลิงในเชิง Green Roof หรือหลังคาดินที่เขียวชอุ่มด้วยวัชพืช เมื่อน้ำไหลลงมา แทนที่น้ำจะพรวดลงมาตามคอนกรีต แต่มีรากของต้นไม้ดูดซับไว้ เราออกแบบเอียงสวน สวนเพื่อกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาทุกหยดไว้ใช้ น้ำฝนไหลมารวมกันที่สระรับน้ำ (Retention Pond) ที่ในวันปกติจะเป็นบ่อ แต่ถ้าวันที่ฝนตกก็จะสามารถเก็บน้ำได้มากขึ้น” ภูมิสถาปนิก อธิบาย

นอกจากนี้ ด้านข้างที่มีส่วนพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ขณะที่บริเวณอื่นซึ่งเป็นผืนดินก็มีทั้งสนามหญ้าและต้นไม้ช่วยดูดซับน้ำ บริเวณ Wetland จะใช้พืชน้ำ พืชชายน้ำ ใช้พืชช่วยบำบัดน้ำ หลายๆ ต้นก็นำมาจากแนวคิดตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นตัวอย่างเรื่องจัดการน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่การออกแบบสวนสำหรับเมืองน้ำอย่าง กทม. ไม่ได้คำนึงถึงการจัดการน้ำเท่าที่ควร ไม่ได้มี
ฟังก์ชั่นที่เอื้อต่อระบบนิเวศหรือเอื้อกับเมือง

รู้จัก!อุทยานจุฬาฯ 100 ปี สวนที่เติบโตไปพร้อมเมือง

อุทยานแห่งนี้ยังตั้งใจจะเป็นห้องเรียนนอกสถานที่ของเหล่านิสิตจุฬาฯ และชุมชนที่น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ใช้หลัก การใช้พื้นที่คือให้พื้นที่ตรงกลางเป็นสนามหญ้าเปิดโล่ง เป็นพื้นที่เปิดที่คนสามารถมองเห็นกันได้ สร้างความปลอดภัยและทำกิจกรรมเป็นกลุ่มใหญ่ได้ ตรงกลางจะเป็นสนามหญ้า ต้นไม้ใหญ่จะอยู่บริเวณรอบนอกของสนามหญ้าโอบล้อมพื้นที่เอาไว้ โดยกระจายส่วนห้องเรียนไว้รอบๆ แบ่งเป็นห้องเรียนกลางแจ้ง 8 ห้อง แต่ละห้องคอนเซ็ปต์ต่างกันไป เช่น ห้อง Herb Room ที่มีสวนสมุนไพร ห้อง Earth Room ที่ใช้ดินหลากสีจากพื้นที่ต่างๆ ของไทยมาก่อเป็นที่นั่ง จะปลูกต้นไม้ใหญ่ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละห้อง เพื่อที่จะเน้นให้คอนเซ็ปต์แต่ละห้อง เช่น ปีบ ตะแบก เสม็ดแดง เสม็ดขาว เต็ง รัง ต้นแดง เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สวนแห่งนี้มีต้นไม้พระราชทาน ที่เนินดินข้างอาคารสองฝั่ง พระราชทานพันธุ์ไม้ 100 ต้น มีต้นไม้ทรงปลูก ประกอบด้วยจามจุรี 9 ต้น เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และด้านหน้าสวนอีก 6 ต้น ที่ทรงปลูกเพื่อเป็นการวางศิลาฤกษ์เมื่อต้นปี 2559

กชกร บอกอีกว่า คอนเซ็ปต์ของต้นไม้ในสวน คือไม้พื้นถิ่นของประเทศไทย “ต้นไม้ที่อยู่ได้กับสภาพอากาศแบบบ้านเรา แต่ละโซนจะจำลองสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกันไป คือมีน้ำ มีเนิน ในสวนได้จำลองสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ด้านหน้าจะมีคอนเซ็ปต์ป่านิเวศ เราประยุกต์ป่านิเวศของ ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ มาใช้ แต่ว่าประยุกต์กับสภาพพื้นที่กลางเมือง เพราะว่าป่านิเวศแบบสุดๆ จะรกมาก แต่สวนสาธารณะที่คนใช้ต้องปลอดภัย เราเลือกพืชพันธุ์ที่เน้นไม้พุ่มน้อยมาก เพื่อให้เกิดการมองเห็น ไม้ที่เลือกจะเป็นไม้คลุมดิน ไม้พุ่มระดับต่ำและไม้ยืนต้นไปเลย แนวคิดป่านิเวศคือการปลูกถี่ ปลูกแน่น และการใช้เนินดินมาผสม ทำให้ต้นไม้โตเร็วกว่าการปลูกแบบปกติ

รู้จัก!อุทยานจุฬาฯ 100 ปี สวนที่เติบโตไปพร้อมเมือง

ต้นไม้ที่เรานำมาปลูกในสวนแห่งนี้จะเป็นต้นไม้วัยหนุ่มสาว เหมือนการรับเด็กเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการหนุ่มสาวที่มีการปรับเปลี่ยนตัวเองสูง ฉะนั้นต้นไม้ทั้งหมดจะมีทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว อายุ 2-3 ปี ต้นไม่ใหญ่มาก มั่นใจว่ามีการปรับเปลี่ยนได้ มาจากสถานเพาะเลี้ยงไม่ได้มาจากป่า ถ้าเกิดคุณเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการไปลดพื้นที่สีเขียวที่อื่นก็ไม่ใช่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว”

ในสวนแห่งนี้ไม่ได้มีแค่พื้นที่กลางแจ้ง แต่ยังมีอาคารอเนกประสงค์หลังใหญ่ 1 หลังที่สวยแปลกตาและเย็นสบายน่ามาใช้งาน แต่ซ่อนตัวอยู่ใต้ส่วนเนินดินด้านบนสุด ซึ่งเรียกว่า Green Roof ที่ปกคลุมด้วยเหล่าวัชพืชที่สวยงามตามฤดูกาล ง่ายต่อการดูแลรักษา และเนินนี้ช่วยดูดซับและกระจายความร้อนให้ตัวอาคาร

แบบจำลองประชาธิปไตย

กชกร มองว่า สวนสาธารณะนอกจากจะเป็นศิลปะที่ต้องใช้เวลาแล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นเหมือนห้องเรียนประชาธิปไตยที่ดีที่สุดในการที่จะเรียนรู้ความเท่าเทียม ไม่ว่าคุณจะรวยจะจนแต่คุณสามารถมาใช้พื้นที่ร่วมกันได้ เป็นการฝึกความเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการสอนด้วยประสบการณ์ ไม่ได้มานั่งเรียนที่โต๊ะเท่านั้น สิ่งเหล่านี้มันเป็นการสอนที่มันเกิดจากการซึมซับ ค่อยๆ เรียนรู้ พอเราไม่มีสวนเราก็อยู่แต่คอนโด เราก็คิดว่าสวนคอนโดคือธรรมชาติ เมื่อเรามีสวนสาธารณะ ซึ่งก็คือห้องเรียนธรรมชาติของสังคม เรียนรู้กติกาของสังคม

รู้จัก!อุทยานจุฬาฯ 100 ปี สวนที่เติบโตไปพร้อมเมือง

“คนที่อยู่ในเมืองชอบคิดว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตสิ่งเดียวที่อยู่ในเมืองแล้วมีอำนาจที่สุด แต่จริงๆ แล้วมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่แล้วเราไม่รู้ การมีสวนนี้ทำให้เราควรมีพื้นที่แบบนี้ให้นักเรียน ให้เด็กๆ ให้เข้าใจธรรมชาติ ถึงแม้ธรรมชาติจะถูกทำลายไปแล้ว แต่เราเหมือนได้สร้างธรรมชาติให้เขาอยู่ใกล้กับสิ่งนั้น เราน่าจะได้คุณภาพที่ดีของประชากร แล้วก็สวนสาธารณะเป็นอะไรที่ประเทศไทยไม่มีวัฒนธรรมตรงนี้ ไม่ใช่เราทำไม่ได้ แต่เราไม่ได้ปลูกฝังเรื่องนี้ให้กับเด็กๆ ปัญหาก็เลยตามมาว่า เราไม่สามารถใช้พื้นที่สาธารณะกับคนอื่นไม่เป็น

หลายท่านมาจะบอกว่าทำไมร้อนจัง ทำไมเราใส่ต้นไม้น้อยจัง จริงๆ แล้วเราใส่เยอะมาก แต่คือต้นไม้ที่เป็นหนุ่มเป็นสาว เราปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้สูง เรามั่นใจว่าต้นไม้จะไม่ตาย สวนนี่วันแรกที่เปิดจะน่าเกลียดที่สุด ไม่ได้สวยงามเหมือนสำนักงานหรือบ้านคอนโด

สวนจะค่อยๆ โต และต้องโตไปกับเมือง ต้องโตไปกับผู้คน โตกับคนที่มาใช้ ฉะนั้นต้องใจเย็นๆ (หัวเราะ) อย่าคาดหวังสวนสำเร็จรูป เรากำลังทำสวนที่โตไปกับเมือง นิสิตนักศึกษา และชุมชมรอบข้าง เมื่อสวนโตเต็มที่หรือผลิบานก็จะกลายเป็นความยั่งยืน” กชกร บอกถึงความคาดหวังการใช้พื้นที่แห่งนี้

รู้จัก!อุทยานจุฬาฯ 100 ปี สวนที่เติบโตไปพร้อมเมือง กชกร วรอาคม


Thailand Web Stat