สมรัชนะ มูลสาย คุณค่าของความเพียร
เส้นทางของเด็กชายคนหนึ่งจาก จ.เชียงราย ที่มีความฝัน วันนี้เขาบอกไม่ได้ว่าสิ่งที่วาดหวังนั้นสำเร็จแล้วหรือไม่
โดย...
เส้นทางของเด็กชายคนหนึ่งจาก จ.เชียงราย ที่มีความฝัน วันนี้เขาบอกไม่ได้ว่าสิ่งที่วาดหวังนั้นสำเร็จแล้วหรือไม่ แต่เขาเดินทางมาแล้วกว่า 90 ประเทศ เขาเก็บหอมรอมริบจากงานที่ทำ จนเป็นเจ้าของตัวเลขในบัญชีไม่ต่ำว่า 7 หลัก สร้างฐานะโดยไม่ได้อาศัยพื้นฐานทางการเงินของครอบครัว ไม่ฝากความหวังไว้กับการเสี่ยงโชคหรือลาภลอย แต่เขาออกเดินทางและเริ่มทำตามความฝันจากศูนย์
โอม-สมรัชนะ มูลสาย เป็นเจ้าของบทพิสูจน์ที่ชัดเจนนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีบนเรือสำราญของสมรัชนะ เขาทำหน้าที่ให้บริการบนเรือสำราญ แม้เขาจะแทนตัวเองว่าเขาเป็น “บ๋อย” แต่นี่ไม่ใช่บ๋อยธรรมดา เพราะเขานี่แหละเป็น “มือเสิร์ฟเงินล้าน” ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้เกิดความเพียรที่ก่อตัวขึ้นและไม่ยอมละทิ้งของเขา
แม้ว่าตอนนี้เขาจะเกษียณตัวเอง ตัดสินใจแขวนถาดมารับใช้แผ่นดินเกิด โดยตั้งปณิธานว่าขออุทิศกายเพื่อแผ่นดินไทย ประกอบสัมมาชีพด้วยการเขียนเล่าเรื่องท่องเที่ยว ดูแลไร่ที่สร้างมาจากน้ำพักน้ำแรงใน จ.เชียงราย ผลิตรายการโทรทัศน์เล็กๆ และส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับรุ่นน้องที่ขาดโอกาส โดยเป็นวิทยากรให้กับสถาบันการศึกษาทั่วไทยที่ร้องขอ
โอม เล่าย้อนว่า เส้นทางสู่อาชีพ “บ๋อย” บนเรือสำราญของเขาเริ่มต้นขึ้นหลังจากคว้าปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง “ฐานะทางบ้านทำให้เรามีแรงผลักดันให้ตัวเอง เรียนจบมหาวิทยาลัยรามคำแหงภายในเวลา 3 ปี” มือเสิร์ฟเงินล้าน เล่าต่อว่า ด้วยความฝันที่อยากเดินทางท่องเที่ยวและได้ทำงานแบบไม่ต้องนั่งประจำที่ออฟฟิศ แม้อยากจะเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่เขารู้ข้อจำกัดของตัวเอง ใช้ความขยันขยับพาตัวเองเข้าใกล้ความฝันที่อยากจะเป็นมากที่สุด นั่นคือการสอบคัดเลือกเพื่อทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟบนเรือสำราญ
“เราจบมาไม่เกี่ยวกับงานบริการ แต่ผมก็พยายามฝึกฝนภาษาอังกฤษตั้งแต่ตอนเรียนชั้น ม.ปลาย พอเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ก็ไปสมัครทำงานในโรงแรมในตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟ ตอนนั้นได้เงินเดือน 3,000 กว่าบาท ผมมีความฝันว่าอยากเดินทางท่องเที่ยว แต่ครั้นจะไปเป็นสจ๊วดก็กลัวจะไปไม่ถึงฝัน เราทำงานในโรงแรมด้วยความอดทน ไปเรียนตอนกลางวัน มาเสิร์ฟตอนกลางคืน ในโรงแรมมีข้าวฟรีให้กิน ได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษ
“พอทราบข่าวว่ามีการสอบคัดเลือกไปทำงานบนเรือสำราญและรับเฉพาะคนที่มีประสบการณ์ด้านโรงแรมเท่านั้น ก็รีบบอกแม่ว่าอยากจะไปทันที หนึ่งเพราะเงินเดือนสูง (สำหรับเรา) สองได้เดินทางท่องเที่ยว แต่เราต้องสอบภาษาอังกฤษ ทดสอบทักษะด้านวิชาชีพ ถ้าคนไม่เคยทำงานจะไม่รู้ ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะมีคำถามการสอบแตกต่างกัน พอสัมภาษณ์เสร็จก็ต้องทดสอบและตรวจร่างกาย ผมสอบผ่านทุกด่าน ประสบการณ์จากการทำงานในโรงแรม ทั้งภาษาอังกฤษและทักษะงานบริการ ทำให้ผ่านการคัดเลือกและเดินทางไปกับเรือสำราญ”
เด็กหนุ่มจากเชียงรายขณะนั้น ตื่นตาตื่นใจกับการลงเรือครั้งแรก เขาเล่าราวกับวันแรกของการทำงาน “เดินเข้าไปในเรือครั้งแรกแทบไม่เชื่อว่าเรือมันใหญ่มาก เรือลำนั้นออกจากเมืองแวนคูเวอร์ซึ่งเป็นปากทางที่จะไปสู่อลาสกามันใหญ่จนเรารู้สึกว่าเราเป็นมดหนึ่งตัว”
สัญญาของงานจะเป็นแบบปีต่อปี 1 ปี จะทำงานบนเรือ 9 เดือน อีก 3 เดือนสามารถกลับเมืองไทยได้ ปีแรกเขาคิดว่าจะไม่กลับไปอีกแล้ว “คิดถึงบ้านมากเมื่อก่อนการสื่อสารจะไม่เหมือนสมัยนี้คือยังไม่มีอินเทอร์เน็ตที่ทันสมัย พอขึ้นฝั่งทีก็ต้องต่อแถวเพื่อรอโทรศัพท์กลับบ้าน เรารู้สึกว่าคำว่าคนละโลกนี่มันมีอยู่จริงๆ ในตอนนั้น เคยคิดว่าจะไม่กลับไปอีกแล้ว กอดจดหมายแม่แล้วร้องไห้ก็บ่อย แต่สุดท้ายก็ไปแล้วไปอีก”
สมรัชนะ บอกว่า สิ่งที่สนุกของการเป็นลูกเรือในเรือสำราญ คือภูมิประเทศที่แปลกใหม่แทบทุกวัน “วันนี้อยู่ที่ประเทศนี้ วันพรุ่งนี้ก็อยู่อีกประเทศหนึ่ง เหมือนว่าวันนี้อยู่อิตาลี พรุ่งนี้อาจจะไปอยู่ฝรั่งเศส มะรืนก็อยู่สเปน เป็นเหมือนรีสอร์ทที่เคลื่อนที่ได้”
การล่องเรือไปปักหมุดในสถานที่อันซีนในโลกหลายแห่ง นอกจากจะทำให้เขามีเรื่องเล่าผ่านการเขียนบันทึกและจดหมายที่ส่งมายังเมืองไทยแล้ว ประสบการณ์ที่ท้าทายทั้งในระหว่างทาง หรือเมื่อถึงปลายทางแต่ละแห่งของเขาก็มีท่วงทำนองที่น่าฟัง
“ผมมีคอลัมน์ที่เขียนบอกเล่าเรื่องราวของลูกเรือและเขียนเรื่องท่องเที่ยวตลอดจนเรื่องเฉียดตายหลายครั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้คนอื่น และที่สำคัญเป็นเรื่องที่คอยเตือนใจผมให้ทำความดี การเฉียดตายหลายๆ ครั้งจากงานที่เราทำ สะท้อนให้เรามองเห็นความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ว่าจะต้องใช้ทุกลมหายใจให้มีคุณค่าต่อตัวเอง และคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุพการีและคนที่เรารัก สุดท้ายแล้วการได้ทำคุณความดีให้แผ่นดินด้วยการมอบการศึกษาผ่านการเล่าเรื่องราวของตัวเอง เป็นวิทยาทานที่ผมตั้งใจทำให้ดีที่สุด” สมรัชนะ กล่าวในตอนท้าย