posttoday

วิทยาศาสตร์พฤติกรรม วิธีจับคนโกหก

17 เมษายน 2560

ในช่วงหนึ่งของชีวิตคนเราทุกคนนั้น มักจะเจอคนโกหกหลอกลวง หักหลังกันอย่างน้อยคนละ 2-3 ครั้งในชีวิต

โดย...อณุสรา  ทองอุไร ภาพ  เอพี / รอยเตอร์/ อีพีเอ

ในช่วงหนึ่งของชีวิตคนเราทุกคนนั้น มักจะเจอคนโกหกหลอกลวง หักหลังกันอย่างน้อยคนละ 2-3  ครั้งในชีวิต จึงเป็นที่รู้กันว่าเราต้องเผชิญกับการโกหกกันทุกวัน ซึ่ง Robert S. Feldman นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย University of Massachusetts Amherst ได้ทำการวิจัยในปี 2002 แล้วพบว่าผู้คนกว่า 60% มักโกหกประมาณ 2-3 ครั้งในการคุยทุกๆ 10 นาที  แถมการโกหกยังทำให้เสียหายได้ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ

ดังนั้นที่โครงการพิเศษของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUVIP) เป็นคอร์สพิเศษเสริมทักษะการพัฒนาตัวเองในระยะสั้น สอนวิชาจับโกหกต่อเนื่องจากวิชาจีบที่ผ่านมา ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกระดับตั้งแต่ปริญญาตรี โท เอก สามารถเข้ามาลงทะเบียนเรียนได้ ไม่มีหน่วยกิทแต่มีใบประกาศ โดยอาจารย์พิเศษ ธนิช สุนทรธนกูล เล่าว่ามีนักศึกษาสนใจเข้ามาเรียนเยอะพอสมควรไม่แพ้วิชาจีบ แม้ผลที่ได้รับจะเป็นเรื่องที่ยากจะสรุปได้ง่ายๆ เพราะต้องมีหลักฐาน  ดังนั้นสิ่งที่จะสอนควบคู่ไปกับวิชาจับโกหกด้วยก็คือวิชาการให้อภัยเพราะมีความสำคัญไม่แพ้กัน

เนื่องจากการโกหกนั้นสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กจนแก่ เพราะเป็นสัญชาตญาณของการเอาตัวรอดเพื่อให้ตัวเองปลอดภัย มีงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่าคนเราจะพบเรื่องโกหกกันทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 200 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาเกินจริงผิวสวยหน้าใส แต่พรีเซนเตอร์ก็ไม่ได้ใช้สินค้าตัวนั้นจริงๆ หรือการเอารูปขึ้นเฟซบุ๊กก็ใช้แอพสวยเกิน ตัวจริงกับรูปนั้นคนละคนกันเลย

วิทยาศาสตร์พฤติกรรม วิธีจับคนโกหก

การโกหกมีด้วยกันทั้งหมด 3 ระดับคือ

1.สีขาว คือ การโกหกเพื่อให้กำลังใจกันเป็นการโกหกที่เกิดจากความรัก เช่น ถ้ามีญาติผู้ใหญ่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เราจำเป็นที่จะต้องบอกความจริงไม่ได้ทั้งหมดและต้องยอมโกหกว่าไม่เป็นอะไรมากเขายังแข็งแรงดีรักษาสุขภาพให้ดีไปหาหมอตามนัดก็ทำให้อาการดีขึ้นได้ เพื่อให้เขาสบายใจมีความสุข เพราะหากบอกความจริงจะทำให้เขาหมดกำลังใจ และเป็นทุกข์จนอาการทรุดลง

2.สีเทา คือ การโกหกที่เกิดจากการกลัวความผิด กลัวเสียใจ  เช่น เด็กทำแก้วแตกแล้วกลัวถูกดุ เลยบอกว่าแมวทำแตก   ซึ่งผู้ใหญ่รู้ทันแต่ก็ให้อภัยและหยวนๆ ไปยอมรับได้  แต่ถ้าบ่อยครั้งก็ต้องคอยตักเตือน หรือคนที่ใช้แอพในโทรศัพท์เวลาถ่ายรูปเพื่อให้สวยงาม ก็รู้ว่าใช้แอพเสริมแต่งเราก็ไม่ได้ว่าอะไรทั้งๆ ที่รู้ว่านั่นก็เป็นการโกหกแบบหนึ่ง

3.สีดำ คือ เป็นการโกหกที่เกิดจากความโลภ  ความโกรธ ความเกลียด โกหกแบบนี้ต้องมีการจัดการตักเตือน ปรับปรุงเพื่อให้แก้ไข ต้องต่อสู้เพื่อหาความจริง เพราะเป็นการโกหกในระดับที่ทำร้ายคนอื่น สร้างความเสียหายมากมาย  ต้องใช้กฎหมายมาจัดการ  เช่น นักการเมืองโกงกินบิดเบือนจนเสียหายกับเศรษฐกิจ เอาผลประโยชน์เข้าพวกพ้อง เสียชื่อเสียงในระดับนักการเมืองจะมีการโกหกแบบนี้มากที่สุด

“การจับโกหกดูเบื้องต้นได้จากภาษากาย เช่น การหายใจเร็วผิดปกติ กะพริบตามากเกินไป เคลื่อนไหวช้าหรือเร็วจนเกินไป หลุกหลิก กระสับกระส่าย รวมถึงการให้ข้อมูลที่ตอบมากไปหรือน้อยไป บางคนที่โกหกจนเกือบเป็นนิสัยจะดูนิ่งและน่าเชื่อถือมาก”

วิทยาศาสตร์พฤติกรรม วิธีจับคนโกหก อาจารย์ธนิช

การโกหกมี 4 ประเภทคือ

1.ปิดบังพูดไม่หมด  บอกความจริงเพียงบางส่วนเม้มสิ่งที่สำคัญเอาไว้

2.บิดเบือน ทำขาวให้เป็นดำ  จากเรื่องจริงกลายเป็นเรื่องโกหก

3.แทนที่ คือเอาเรื่องของคนอื่นมาเล่าจนกลายเป็นเรื่องของตนเอง

4.สอดแทรก คือใส่สีตีไข่ ความจริงมีเพียงครึ่งเดียว ที่เหลือโกหกให้จบเรื่อง

คำลวงจะไร้ค่า เมื่อถือคำสัตย์เป็นสิ่งยิ่งใหญ่

ทางด้าน พญ.นริศรา ติยะพรรณจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวว่า การโกหกในระดับที่ติดเป็นนิสัยถือว่าเป็นจิตเภทแบบหนึ่ง เป็นเพราะผู้ป่วยไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ยอมรับนับถือในตัวเอง จึงพยายามพูดโกหกเพื่อให้คนยอมรับ พูดโกหก บิดเบือน เป็นนิสัยจนตัวเองก็คิดว่าเป็นเรื่องจริง แต่คำลวงจะไร้ค่าถ้าทุกคนยึดถือคำสัตย์เป็นสำคัญ การโกหกแบ่งเป็น 2 ระดับคือ

วิทยาศาสตร์พฤติกรรม วิธีจับคนโกหก

1.บุคลิกภาพผิดปกติ เกิดจากแรงจูงภายนอก คือพูดโกหกเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง เช่น พวกนักต้มตุ๋น นักโทษ แม้เวลาเข้าเครื่องจับเท็จก็โกหกหน้าตายกายนิ่งมากไม่ตอบสนองใดๆ เลย หลอกได้แม้แต่กับเครื่องจับเท็จ

2.โกหกหลอกตัวเอง เกิดจากแรงจูงใจภายใน เพราะอยากมีความสำคัญ ไม่ยอมรับตัวเองไม่ภูมิใจในตัวเอง เลยต้องแต่งแต้มตัวเองให้มากขึ้นให้เลิศหรูหรือไม่ก็น่าสงสาร เป็นผู้ถูกกระทำเป็นเหยื่อของความเลวร้าย แต่ประเภทนี้เมื่อเข้าเครื่องจับเท็จก็จะเกรงกลัวมีอาการพิรุธ หรือถูกจับก็จะยอมรับสารภาพในที่สุด

“โรคนี้ส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้เป็นมากก็จะเข้ามารักษาหรือพบแพทย์เลยไม่รู้ว่ามีมากเพียงใดและการกินยาก็ไม่ช่วยบรรเทาโรคเท่าไหร่นัก ต้องรักษาด้วยการทำกลุ่มบำบัด ถ้าเป็นแต่เด็กแล้วมารักษาจะง่ายกว่ารอให้เป็นเรื้อรังนานๆ จนเป็นผู้ใหญ่ก็ยากแบบว่าไม้แก่ดัดยาก ผู้ที่ควรพบแพทย์คือโกหกจนเป็นนิสัยตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ และมีปัญหากับคนรอบข้างมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน”

Dr.Lillian Glass ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิเคราะห์พฤติกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากาย ผู้เคยร่วมงานกับ FBI มาแล้ว ได้เปิดเผยว่า เทคนิคในการจะดูว่าใครโกหก เราต้องคุ้นเคยกับพฤติกรรมปกติเมื่อไม่โกหกของเขาเสียก่อน เพราะเวลาที่เขาเริ่มจะโกหก พฤติกรรมต่างๆ ทั้งสีหน้า ท่าทาง และวิธีการพูดของเขาจะเปลี่ยนไป ซึ่งเธอได้เขียนในหนังสือที่ชื่อว่า “The Body Language of Liars” โดยสรุปได้ดังนี้

วิทยาศาสตร์พฤติกรรม วิธีจับคนโกหก

1.คนโกหกมักจะขยับหัวไปมาเร็วๆ หากคุณถามคำถามตรงๆ แล้วถ้าเกิดคนนั้นขยับหัวไปมาเร็วๆ เช่น แสดง ขยับหัวไปข้างหลัง หดหัว กระตุกหัว ก้มหัวเอียงหัว ซึ่งนี่เป็นพฤติกรรมที่มัก
เกิดขึ้นของคนโกหกที่กำลังจะตอบคำถามของคุณ

2.การหายใจเปลี่ยนไป  ถ้าใครกำลังโกหกคุณ เขาก็จะหายใจ รุนแรงขึ้น ซึ่งเธอได้บอกว่านี่เป็นปฏิกิริยาตอบสนอง ซึ่งถ้าเขาหายใจรุนแรงขึ้น ไหล่ก็จะยกเสียงก็จะเปลี่ยนดูแบนขึ้น เพราะความกังวลทำให้การเต้นของหัวใจและการไหลเวียนของเลือดผิดไปจึงทำให้เขาต้องหายใจรุนแรงขึ้น

3.ยืนนิ่งเกิน ข้อนี้อาจตรงข้ามกับข้อที่แล้ว เขาแนะนำว่าคุณต้องระวังคนที่ยืนนิ่งเกินไปด้วยเช่นกัน เพราะมันคือปฏิกิริยาของคนที่เลือกที่จะสู้กับผู้สนทนามากกว่าจะหนี ซึ่งคนเราเวลาพูดแบบปกติก็จะมีการออกภาษากายขยับอะไรบ้างพอสมควร ดังนั้นการที่ยืนนิ่งเกินไปเป็นสัญญาณที่ผิดปกติ

4.พูดคำหรือประโยควนไปวนมา เพราะเนื่องจากผู้โกหกพยายามจะโน้มน้าวตัวเขาเองว่าไม่ได้โกหกให้ได้ เช่นว่า “ผมไม่ได้ทำๆ” นอกจากนี้ การพูดซ้ำไปมาก็เป็นการซื้อเวลาให้คิดโต้ตอบอีกด้วย

5 . เอามือจับปาก หรือปิดปาก กล่าวว่าคนที่จะโกหกเขาจะเอามือไปสัมผัสหรือไปทำอะไรกับปากโดยอัตโนมัติเมื่อเขาไม่อยากจะยอมรับกับคำตอบหรือคำถามหรือหัวข้อสนทนานั้นๆมันเป็นสัญญาณของการไม่อยากเปิดเผยอะไร เขาไม่อยากบอกความจริง หรือบางทีก็ไม่อยากจะพูดอะไรต่อเลยด้วยซ้ำ

วิทยาศาสตร์พฤติกรรม วิธีจับคนโกหก